คำถามที่พบบ่อย

          ความรับผิดของผู้ให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 (เดิม อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและราบปรามการทุจริต พ.ศ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558  มาตรา 123/5)

          มาตรา 176 กำหนดว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ
ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไป เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
          นิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
          บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงผู้แทนของนิติบุคคล ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีหน้าที่และอำนาจในการนั้นหรือไม่ก็ตาม”

(ดาวน์โหลดพ.ร.ป. ฉบับเต็ม ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF)

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกประกาศฯ เพื่อเป็นแนวทางให้นิติบุคคลกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดหลักการ 8 ประการที่นิติบุคคลควรทำไปใช้กำหนดมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน รวมทั้งให้สำนักงาน ป.ป.ช จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่นิติบุคคล และให้จัดทำคู่มือแนวทางกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการเพื่อติดตามประเมินผลการจัดให้มีมาตรการควบคุมภายในดังกล่าวได้ โดยจะเป็นการติดตามเชิงบวก เชิงส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุง หรือเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางแก่นิติบุคคลหรือหน่วยงานอื่น

(ดาวน์โหลดประกาศฯที่ https://www.nacc.go.th/abas/?d=frontend&c=laws&id=1)

การให้สินบนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการให้ “เงิน” เท่านั้น แต่สินบนมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งครอบคลุมทั้งทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใด
  • ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น เงิน บ้าน รถ
  • ประโยชน์อื่นใด เช่น การพาไปท่องเที่ยว การปลดหนี้ให้ การให้ส่วนลดมากกว่าปกติ การให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการหรือคิดราคาต่ำกว่าปกติ หรือการให้บุคคลใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าทำงาน 
การให้สินบนผ่านตัวกลาง เช่น คู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนสมรสและไม่จดทะเบียนสมรส ญาติ หรือเพื่อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ หรือนิติบุคคลที่จ้างเพื่อเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยมีเจตนาเพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ แม้ว่าผู้ให้สินบนจะไม่ได้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรงก็ตาม

บทบัญญัติตามมาตรานี้ใช้บังคับกับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อีกทั้งยังครอบคลุมนิติบุคคลทุกประเภท ได้แก่ ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวมถึงนิติบุคคลทุกขนาด ทั้งบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

บทบัญญัติตามมาตรา 176 ได้ยกตัวอย่างบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคล ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือหรือบุคคลที่กระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคล ไม่ว่าจะมีอำนาจในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม 

ตัวอย่าง พนักงานขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของนิติบุคคลไปให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้นิติบุคคลได้รับประโยชน์ในการได้รับสัมปทาน แม้พนักงานขับรถจะไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาของนิติบุคคลก็ตาม แต่ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์แก่นิติบุคคล นิติบุคคลก็อาจมีความผิดตามกฎหมายนี้
บทบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้แทนของนิติบุคคลต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลด้วยทุกกรณี ดังนั้น การวินิจฉัยจึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยหากบุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบน บุคคลนั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ 

ตัวอย่าง กรรมการผู้จัดการของบริษัทลงชื่ออนุมัติให้พนักงานจ่ายเงินเลี้ยงรับรองเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเจตนาเพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท กรรมการผู้จัดการย่อมมีความผิดด้วย แต่หากกรรมการผู้จัดการมิได้รับรู้หรือเกี่ยวข้อง โดยพนักงานได้จ่ายเงินในการรับรองเจ้าหน้าที่ของรัฐไปโดยพละการเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์ ดังนี้ กรรมการผู้จัดการย่อมไม่ต้องรับผิด
การมีมาตรการควบคุมภายใน “ที่เหมาะสม” นั้น จะต้องพิจารณาจากความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจและความเสี่ยงของนิติบุคคลในการให้สินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากนิติบุคคลมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาด โครงสร้าง ประเภทของธุรกิจ หรือโอกาสในการติดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยต่างกัน กฎหมายจึงให้นิติบุคคลสามารถออกแบบมาตรการป้องกันการให้สินบนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับการกำกับดูแลองค์กรของตนเอง

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นิติบุคคลต้องนำมาตรการของตนเองไปปรับใช้อย่างจริงจังทั้งกับบุคลากรภายใน และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ เพื่อให้มาตรการป้องกันการให้สินบนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำคู่มือฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนิติบุคคลในการกำกับดูแลองค์กรให้มีความโปร่งใส ปราศจากการให้สินบน มีธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยได้ศึกษาหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ เช่น ISO 37001, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) และ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) รวมทั้งของประเทศไทย เช่น โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ทั้งนี้ เนื้อหาของคู่มือประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
  • ส่วนที่ 1 การอธิบายกฎหมาย และตัวอย่างกรณีศึกษา
  • ส่วนที่ 2 มาตรการในการป้องกันการให้สินบนที่นิติบุคคลควรนำไปปฏิบัติ และตัวอย่างการปรับใช้มาตรการ

ปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาคู่มือดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 และคู่มือมีทั้งหมด 4 ภาษา (ไทย, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, จีน)
สามารถดาวน์โหลดได้ที่หน้าหลักของเว็บไซต์www.nacc.go.th/abas หรือ หน้าหลัก>ศูนย์รวมข้อมูล> เอกสารและเครื่องมือของ ป.ป.ช. https://www.nacc.go.th/abas/?d=frontend&c=resource&id=1

คู่มือของ ป.ป.ช. ออกแบบให้สามารถปรับใช้ได้กับนิติบุคคลทุกประเภทและทุกขนาด ทั้งบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 
นิติบุคคลที่มีคู่มือ Code of conduct หรือแนวปฏิบัติในเรื่องการต่อต้านการให้สินบนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำคู่มือแยกเป็นอีกฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของ ป.ป.ช. แต่ควรศึกษาคู่มือของสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบ เพื่อเพิ่มเติมมาตรการที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแนวทางของ ป.ป.ช. และมาตรฐานสากล เช่น หากองค์กรของท่านเป็นสมาชิกหรือปฏิบัติตามมาตรการการต่อต้านการคอรัปชั่นของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) อยู่แล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องมีคู่มือจริยธรรมหรือคู่มือแนวปฏิบัติสำหรับมาตรการของ ป.ป.ช. แยกต่างหาก แต่ท่านควรศึกษาคู่มือของสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบ เพื่อเพิ่มเติมมาตรการให้เหมาะสมและเพียงพอในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
บทบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดว่าการไม่มีมาตรการควบคุมภายใน จะเป็นความผิด แต่นิติบุคคลจะมีความผิดต่อเมื่อมีผู้ที่เกี่ยวข้องไปให้สินบนเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น แล้วถ้าปรากฏว่านิติบุคคลไม่มีมาตรการป้องกัน จึงจะต้องรับผิดด้วย

อย่างไรก็ดี การมีมาตรการป้องกันการให้สินบน ไม่ได้เพียงแต่จะส่งผลดีต่อตัวนิติบุคคลหากเกิดคดีความเท่านั้น แต่การดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสจะส่งผลให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ลดต้นทุนในการทำธุรกิจที่ไม่จำเป็น ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้ร่วมประกอบธุรกิจ ตลอดจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
หากเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับสินบนจากบุคลากรของนิติบุคคล นิติบุคคลต้องไม่ยินยอมที่จะให้สินบน และรีบแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสต่อสำนักงาน ป.ป.ช. หรือสายด่วนสำนักงาน ป.ป.ช. 1205 
นอกจากนี้ ในปัจจุบันโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ได้จัดทำโครงการ Citizen feedback เพื่อเป็นช่องทางในการประเมินการให้บริการที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้/เรียกรับสินบน ผ่านการแสกน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ที่หน่วยงานที่ไปใช้บริการ 
หลักการที่ 1 การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด
หลักการที่ 2 นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ
หลักการที่ 3 มาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน
หลักการที่ 4 นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล
หลักการที่ 5 นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี
หลักการที่ 6 นิติบุคคลต้องมีแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน
หลักการที่ 7 นิติบุคคลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิดหรือกรณีมีเหตุน่าสงสัย
หลักการที่ 8 นิติบุคคลต้องตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ
- ผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุด หมายถึงใคร
ในคู่มือฉบับนี้ ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ้าของกิจการ หรือกลุ่มบุคคล/บุคคลที่เทียบเท่า

- “Tone from the top/Tone at the top” หมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร
นโยบายของผู้ที่อยู่ในระดับสูงสุดจะเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับผู้บริหารระดับรองลงมา จนถึงพนักงานระดับภายในองค์กร ดังนั้น หากผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุดมีเจตนารมณ์ในการต่อต้านการให้สินบนก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้บุคลากรภายในองค์กรมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ต่อต้านการให้สินบน
- ทำไมนิติบุคคลต้องประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เนื่องจากนิติบุคคลมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นขนาด ประเภทของธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะโอกาสที่จะมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการได้อย่างเหมาะสม 

ตัวอย่าง บริษัทซึ่งเข้าร่วมประมูลโครงการของรัฐมูลค่าสูง ต้องให้ความใส่ใจและจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอเพื่อป้องกันการให้สินบน เช่น มีการตรวจสอบการขออนุมัติค่าใช้จ่ายและการลงบัญชีอย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำกับผู้ที่ได้รับมอบหมายในโครงการดังกล่าวว่าบริษัทห้ามไม่ให้มีการให้สินบนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท เป็นต้น 

- ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วยอะไรบ้าง
    (1) การเตรียมแผนงาน: การวางแผนและขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยง เช่น กำหนดแหล่งข้อมูล ออกแบบตารางเก็บข้อมูล กำหนดวิธีการประเมินความเสี่ยง (สูง/กลาง/ต่ำ)
    (2) การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: แหล่งข้อมูลซึ่งนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยง เช่น รายงานจากฝ่ายตรวจสอบภายใน บัญชีค่าใช้จ่าย รายงานการแจ้งเบาะแสภายในบริษัท การสัมภาษณ์บุคลากร หรือการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ
    (3) การระบุความเสี่ยง: ระบุความเสี่ยงการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจเกิดขึ้นกับการประกอบกิจการของนิติบุคคล ทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง (Risk factors) และความเสี่ยง (Risks) 
    (4) การประเมินระดับความเสี่ยง: เป็นการประเมินทั้งโอกาสที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง และความร้ายแรงของผลกระทบ แล้วจึงประเมินโดยอาจใช้เกณฑ์ความเสี่ยงสูง กลาง หรือต่ำ
    (5) การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่มีอยู่ และการประเมินความเสี่ยงที่คงเหลือ: นิติบุคคลอาจนำมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากกิจกรรมนั้นๆมาประเมิน เพื่อจะได้ทราบว่ายังมีความเสี่ยงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด เช่น บริษัทมีความเสี่ยงสูงที่พนักงานขายสินค้าจะเลี้ยงรับรองเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ จึงมีการจัดอบรมเพื่อต่อต้านการให้สินบนให้กับพนักงานขายสินค้าอยู่เสมอ และมีการจัดทำแนวปฏิบัติหรือ code of conduct ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูง  ความเสี่ยงที่เหลืออยู่จึงอยู่ในระดับต่ำ
    (6) การนำข้อมูลจากการประเมินความเสี่ยงไปจัดทำมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม และการรายงานผล: เมื่อนิติบุคคลทราบความเสี่ยงที่เหลืออยู่ ก็จะสามารถทราบได้ว่าควรจะพัฒนามาตรการเรื่องใดเพิ่มเติมหรือไม่ หรือควรให้ความสำคัญกับเรื่องใด และควรจัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหารเพื่อให้นำไปวางนโยบายขององค์กรต่อไป
- ตัวอย่างกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนได้แก่อะไรบ้าง 
ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงรับรอง การให้ของขวัญ การบริจาค เป็นต้น เนื่องจากกรณีเหล่านี้ยากต่อการพิจารณาว่าเป็นเพียงการให้ตามประเพณี  วัฒนธรรม และมารยาททางสังคม หรือเป็นสินบน

- นิติบุคคลสามารถให้ของขวัญเจ้าหน้าที่ของรัฐตามเทศกาลได้หรือไม่ 
แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้ห้ามในเรื่องการให้ของขวัญเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ดี หากนิติบุคคลมีนโยบายอนุญาตให้มีการให้ของขวัญเจ้าหน้าที่รัฐ นิติบุคคลก็จะมีความเสี่ยงที่บุคลากรจะใช้ช่องทางดังกล่าวในการให้สินบนได้ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำมาตรการการขออนุมัติและการตรวจสอบที่มีรายละเอียดชัดเจน 
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หลายบริษัทในโยบายห้ามเลี้ยงรับรองหรือให้ของขวัญเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็มีนโยบายที่ไม่รับของขวัญ โดยเฉพาะการรับกระเช้าของขวัญตามเทศกาลสำคัญ 
- ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคลหมายถึงใคร
เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่ร่วมทำธุรกิจ หรือกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคล เช่น บริษัทในเครือ กิจการร่วมค้า (Joint venture) ตัวแทน ที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งนิติบุคคลอาจจะมีอำนาจควบคุมการดำเนินการของบุคคลเหล่านี้มากน้อยแตกต่างกัน

- นิติบุคคลจะต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
นิติบุคคลอาจต้องร่วมรับผิด หากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ “เพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล” เช่น หากลูกค้าเพียงนำสินค้าหรือบริการของนิติบุคคลไปเป็นสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเป็นการให้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเอง ไม่ใช่เพื่อนิติบุคคล นิติบุคคลก็ไม่ต้องร่วมรับผิด
ดังนั้น นิติบุคคลควรปรับใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนให้ครอบคลุมถึงการดำเนินงานของบุคคลเหล่านี้ แม้ว่าในบางกรณี นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจควบคุมเพียงพอ ก็ควรแสดงความพยายามอย่างดีที่สุด (Best efforts) ให้อีกฝ่ายปรับใช้มาตรการป้องกันการให้สินบน 

- การตรวจสอบสถานะ (Due diligence) หมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไร
การตรวจสอบสถานะคือการตรวจสอบผู้ที่นิติบุคคลต้องการจะร่วมประกอบธุรกิจด้วย เช่น ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ผู้บริหารยึดมั่นต่อนโยบายการต่อต้านการให้สินบนหรือไม่ ประวัติการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่มีเจตนารมณ์ต่อต้านการให้สินบนและประกอบธุรกิจด้วยความโปร่งใส เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการให้สินบนที่อาจเกิดจากการดำเนินงานผ่านบุคคลเหล่านี้
- ระบบบัญชีอย่างง่ายของกรมสรรพากรเพื่อส่งเสริมให้นิติบุคคล โดยเฉพาะ SMEs จัดทำบัญชีชุดเดียว 
การจัดทำบัญชีชุดเดียวจะแสดงสภาพที่แท้จริงของกิจการและเป็นการป้องกันการบันทึกรายการนอกบัญชีที่ไม่สามารถตรวจสอบได้และมีโอกาสในการปกปิดการให้สินบน
Link สำหรับดาวน์โหลดโปรแกรมบัญชีชุดเดียวของกรมสรรพากร: http://www.rd.go.th/publish/41464.0.html
- การฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับมาตรการการต่อต้านการให้สินบน ควรคำนึงถึงปัจจัยใดเป็นสำคัญ
(1) เนื้อหาควรครอบคลุมถึงนโยบาย ขั้นตอนปฏิบัติในกรณีต่างๆ ตลอดจนตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เช่น คดีความของบริษัทในประเภทธุรกิจเดียวกัน หรือบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงของบริษัท
(2) เนื้อหาเหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบหรือระดับชั้นของกลุ่มผู้ฟัง เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด
(3) การเน้นย้ำถึงนโยบายการต่อต้านการให้สินบนกับบุคลากรที่มีโอกาสติดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบ่อยครั้ง 
(4) นิติบุคคลอาจจัดให้มีการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย และขั้นตอนการต่อต้านการให้สินบน
- ระบบการรายงานการกระทำความผิด/การแจ้งเบาะแส ควรคำนึงถึงปัจจัยใดเป็นสำคัญ
(1) จัดให้มีช่องทางในการรายงานการกระทำความผิดที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรทราบเกี่ยวกับการรายงานการกระทำความผิด
(2) นิติบุคคลต้องกำหนดขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบและบทลงโทษอย่างชัดเจน และอาจมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนต้องสามารถติดตามผลการดำเนินการได้
(3) สามารถรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับหรือปกปิดสถานะของผู้ร้องเรียน
(4) จัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่าการร้องเรียนเป็นไปด้วยความสุจริตหรรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น
(5) จัดให้มีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนที่กระทำโดยสุจริต ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง ไล่ออก หรือได้รับผลกระทบเนื่องจากให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด
- ทำไมถึงต้องมีการทบทวนตรวจสอบ และประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ
เนื่องจากนิติบุคคลอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ทำให้ความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน ผู้ร่วมประกอบธุรกิจ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดังนั้น นิติบุคคลจึงต้องมีการตรวจสอบและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ เพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถป้องกันการกระทำความผิดได้
โทษสำหรับ “ผู้ให้สินบน” ได้แก่ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับ “นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน” ได้แก่ โทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
  • ป้องกันความเสียหายจากการถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งส่งผลเสียต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และการประกอบกิจการของนิติบุคคล
  • ช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นซึ่งเกิดจากการให้สินบนของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคล
  • ดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติให้ร่วมประกอบธุรกิจเนื่องจากมีมาตรการป้องกันการให้สินบนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
  • ก่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่เท่าเทียม (level playing field)
  • หากภาคธุรกิจให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับค่าดัชนี CPI ของประเทศ