Contrast
c6cca4ef2010cc26d2991d28c153bf1e.jpg

ป.ป.ช. ระดมสมอง กทม. ร่วมป้องปรามลดคดีทุจริต พิชิตสินบน

จากไชต์: สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต
จำนวนผู้เข้าชม: 135

20/01/2568

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้จัดโครงการป้องปรามและลดคดีทุจริตในพื้นที่ กิจกรรมที่ 1 การระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดประเด็นจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่ ณ ห้องประชุมแมคโนเลีย โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค รวมถึงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวกับการให้หรือรับสินบนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ประสบผลสำเร็จ โดยได้รับเกียรติจากนายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการดังกล่าว

 

สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นฯ ในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" โดยได้รับเกียรติจากนายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. /นายอรุณ สังข์ทอง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน /นายวิรัตน์ สายแวว หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการ ส่วนตรวจและบังคับการ 1 สำนักงานตรวจและบังคับการ สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร /นายศักดิ์ชัย ต่ายแสง นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) กรุงเทพมหานคร โดยมี นายมนตรี อุดมพงษ์ รักษาการบรรณาธิการ รายการข่าวสามมิติ ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

จากนั้นในภาคบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มอภิปรายเพื่อกำหนดประเด็นจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต สำนักงาน ก.ก. กรุงเทพมหานคร สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานครและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีประเด็นปัญหาในการระดมความคิดเห็น ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การเรียกรับผลประโยชน์จากการอนุมัติ/อนุญาตในการกำหนดพื้นที่จำหน่ายสินค้าบนทางเท้าหรือสถานที่สาธารณะ (หาบเร่แผงลอย) กลุ่มที่ 2 การนำทรัพย์สินราชการไปใช้ในประโยชน์ส่วนตน กลุ่มที่ 3 การจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการอบรม/สัมมนา ซึ่งภายหลังจากการระดมความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะนำข้อมูลไปสรุปผลและจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลงพื้นที่ในการติดตามและเฝ้าระวังการดำเนินการตามประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์จากการอนุมัติ/อนุญาตในการกำหนดพื้นที่จำหน่ายสินค้าบนทางเท้าหรือสถานที่สาธารณะ (หาบเร่แผงลอย) ประเด็นการนำทรัพย์สินราชการไปใช้ในประโยชน์ส่วนตน และประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการอบรม/สัมมนา ต่อไป

 

ภาพเพิ่มเติม https://www.nacc.go.th/categorydetail/20180831184638361/20250118140745?

 

สรุปรายละเอียดเพิ่มเติม

(1) ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม

โครงการป้องปรามและลดคดีทุจริตในพื้นที่ กิจกรรมที่ 1 การระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดประเด็นจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่

 

(2) สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม

ผู้มีส่วนร่วมของโครงการป้องปรามฯ ในกิจกรรมที่ 1 การระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดประเด็นจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่ประกอบด้วย วิทยากร ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ รวม 138 คน

 

(3) ผลจากการมีส่วนร่วม

กิจกรรมภาคบ่าย การแบ่งกลุ่มอภิปรายเพื่อกำหนดประเด็นจัดทำแผนงานและแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องปรามหรือเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ประเด็น มีวิธีการดำเนินงานโดยการร่วมกันอภิปรายสภาพปัญหาในพื้นที่ของแต่ละเขต อุปสรรคในการแก้ไขปัญหา และร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสรุปผลแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้

          ประเด็นที่ 1 การเรียกรับผลประโยชน์จากการอนุมัติ/อนุญาตในการกำหนดพื้นที่จำหน่ายสินค้าบนทางเท้าหรือสถานที่สาธารณะ (หาบเร่แผงลอย)

          - ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ควรบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้เดือดร้อนที่แท้จริง ๆ เช่น ผู้ขาดทุนทรัพย์ เป็นต้น แต่หากผู้ที่จงใจกระทำความผิด หรือกระทำความผิดซ้ำ เช่น การขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ควรจะมีบทลงโทษที่เด็ดขาดมากกว่านี้

          - เจ้าหน้าที่เทศกิจควรมีอำนาจในการดำเนินการส่งฟ้องศาลได้ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อลดปัญหาคดีขาดอายุความ

          - หน่วยงานเทศกิจควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการบังคับใช้อย่างต่อเนื่องและจริงจังจะสามารถลดปัญหาผู้ค้าที่กระทำผิดกฎหมายได้

          ประเด็นที่ 2 การนำทรัพย์สินราชการไปใช้ในประโยชน์ส่วนตน

          - หน่วยงานราชการจะต้องจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานให้เพียงพอ โดยต้องมีการหารือกับหน่วยงานส่วนกลางเพื่อวิเคราะห์ปัญหา จำนวนอุปกรณ์สำนักงานที่มีไม่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การทรัพย์สิน พ.ศ. 2538 สำหรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับครุภัณฑ์ส่วนตัวที่จะมีการส่งมอบและรับมอบ รวมทั้งมีระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการกำกับควบคุมการปฏิบัติงาน ในประเด็นการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน กรุงเทพมหานครมีช่องทางการแจ้งเบาะแสของกรุงเทพมหานคร หรือสายด่วน กทม. หรือแพลตฟอร์ม Traffy Fondue และตู้รับเรื่องร้องทุกข์ โดยมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส จะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส หากมีกรณีนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ก็สามารถแจ้งข้อมูลผ่านช่องทางดังกล่าวได้

          - ปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและเตรียมจุดชาร์จไฟฟ้าไว้บริเวณลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร สำหรับชาร์จรถยนต์ราชการ เพื่อใช้ควบคุมจำนวนหน่วยไฟฟ้า และการใช้ต้องสัมพันธ์กับระยะทาง ซึ่งถือเป็นมาตรการควบคุมภายใน โดยปัจจุบันยังไม่มีการจัดซื้อมาใช้ปฏิบัติงาน อยู่ในช่วงการสำรวจข้อมูลความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าจัดอยู่ในประเภทครุภัณฑ์ไม่มีประกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เกิดความกังวลในการปฏิบัติงาน เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์เช่าซึ่งมีประกัน ดังนั้น หน่วยงานควรทำประกันภัยสำหรับรถยนต์ราชการในระดับสำนัก เนื่องจากเคยเกิดเหตุละเมิดแล้วไม่มีประกันภัย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

          ประเด็นที่ 3 การจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการอบรม/สัมมนา

          -การพิจารณาใช้เกณฑ์คุณภาพ ประกอบการใช้เกณฑ์ราคา ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมดำเนินการและให้ความเห็นในการจัดทำการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของงาน (Terms of Reference: TOR) และการกำหนดราคากลาง

          - ควรแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ/ข้อบังคับ ให้ครอบคลุมในการจัดอบรม/สัมมนาหรือกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามระเบียบอย่างเหมาะสม

          - แต่งตั้งผู้รับผิดชอบให้ตรงต่อตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ

          - ควรทำคู่มือสำหรับประชาชน/คู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานและปรับปรุงคู่มือให้ชัดเจน เป็นปัจจุบัน ไม่ล้าหลังตามยุคสมัย

          - ทำแผนการปฏิบัติงานในแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน

          - กำหนดนโยบายการงดรับของขวัญ/ของกำนัล

          - กำหนดจรรยาบรรณของผู้ปฏิบัติงานให้เหมาะสมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่

          - ให้มีการยื่นขออนุมัติ/อนุญาต ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดการเผชิญหน้าและการพูดคุยต่อรองเพื่อเรียกรับ/ให้สินบน

 

(4) การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน

          สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำไปประกอบการดำเนินการจัดทำแผนงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานในกิจกรรมการลงพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังและป้องปรามการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประเด็นที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นในการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายที่ได้สะท้อนมุมมองของอุปสรรคในการดำเนินงาน และแนวทางการแก้ไขปรับปรุง เพื่อจะได้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องปราม เพื่อส่งผลให้ความเสี่ยงใน 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครลดลง

Related