วันที่ 5 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อปฏิบัติงานร่วมกันในการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมธรรมาภิบาลขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และเฝ้าระวังการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
มุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูลและการป้องกันเชิงรุก
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานหลัก ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรการ กลไก และเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนของสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้พัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ มาใช้ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ของ “ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ” (Corruption Deterrence Center ) หรือ “ศูนย์ CDC” เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตได้อย่างรวดเร็ว สามารถ ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุจริตโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องของบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อทั้งประเทศ การมีระบบประเมินความเสี่ยง การทุจริตเชิงนโยบายที่ดีจะช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์การทุจริตได้อย่างแม่นยำเพื่อเฝ้าระวัง ป้องปราม ป้องกัน และลดการทุจริตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือเชิงรุกเพื่อป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง
นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นการบูรณาการ การทำงานของสามหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย และการพัฒนาเครื่องมือเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม พลังงาน และระบบสาธารณูปโภค เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงและมีความซับซ้อน การมีระบบประเมินความเสี่ยงการทุจริตที่แม่นยำจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถระบุจุดอ่อน ลดช่องโหว่ และป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้างมาตรฐานใหม่ให้การบริหารงบประมาณภาครัฐ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สตง. มุ่งมั่นที่จะยกระดับการตรวจสอบภาครัฐให้ทันสมัย ด้วยแนวทาง ‘การตรวจสอบเชิงป้องกัน’ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง โดยจะทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานตรวจสอบของไทยพร้อมเดินหน้า ใช้เทคโนโลยีและแนวทางการตรวจสอบสมัยใหม่ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่มาตรฐานสากล สตง. จะไม่รอให้เกิดความเสียหายแล้วจึงเข้ามาตรวจสอบ แต่จะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และเครื่องมือเฝ้าระวังเพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น
ความคาดหวังและก้าวต่อไป
นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ป.ป.ท. ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องการประเมินความเสี่ยงการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ และมีบทบาทสำคัญ ในการเฝ้าระวังและสกัดกั้นการทุจริตในภาครัฐ ได้นำเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงการทุจริตมาใช้ ในการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกัน สกัดกั้น ลด และปิดโอกาสการทุจริตในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือ กับ สตง. และ ป.ป.ช.อย่างเต็มที่ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และกล่าวในตอนท้ายว่า บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการตรวจสอบภาครัฐ ซึ่งจะมุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูล เทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงการทุจริตให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ และให้คำแนะนำเชิงนโยบายได้อย่างทันท่วงที เพื่อสร้างประเทศไทยที่โปร่งใสและปราศจากการทุจริต
ลิงก์ต้นฉบับ+ภาพเพิ่มเติม
https://www.nacc.go.th/categorydetail/20180831184638361/20250305143215?
คลิปวิดีโอ (Credit สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)
https://drive.google.com/file/d/1eZecaF61DrMu87VY6trRU5bUANfFInbX/view?usp=sharing
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางสาวฐิติวรดา เอกบงกชกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต และเจ้าหน้าท...