วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักต้านทุจริตศึกษา จัดกิจกรรมการอบรมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยากรตัวคูณ ในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามโครงการสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยากรตัวคูณในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนางแก้วตา ชัยมะโน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดกิจกรรม และนางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา กล่าววัตถุประสงค์ของกิจกรรม ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดา เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิทยากรตัวคูณในการเผยแพร่องค์ความรู้ ในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และหลักโมเดล STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต รวมถึงเนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งบุคลากรภายใน และบุคคลภายนอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพวิทยากรตัวคูณที่ผ่านการอบรมมีองค์ความรู้เพิ่มเติมบูรณาการกับองค์ความรู้เดิมในการขยายผลสร้างเครือข่ายสู่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรภายในหน่วยงาน และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องตามภารกิจอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ภายในงาน ช่วงเช้า เป็นกิจกรรมการรับฟังการบรรยาย และการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ได้แก่ การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และหลักโมเดล STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งเป็นเนื้อหาแกนหลักของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ปี พ.ศ. 2561
สำหรับ ช่วงบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มจำนวน 10 กลุ่ม ระดมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางในการขยายผลขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และแนวทางแก้ไข
โดยหลังจากการดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้น กลุ่มเป้าหมายจะต้องนำเอาเนื้อหาองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมนำไปดำเนินการขยายผลขับเคลื่อนต่อไป โดยมีการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นในการแบ่งกลุ่ม และรศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปจากการระดมความคิดเห็นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย บุคลากรภาครัฐ ครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จำนวน 300 คน