สำนักต้านทุจริตศึกษา มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(1) ส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการนำไปใช้ การติดตาม และการประเมินผล โดยบูรณาการการเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุของสำนักงาน ป.ป.ช.
(2) กำกับ ดูแล ประสาน และติดตามกระบวนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และเสนอแนวทางในการนำไปใช้เพื่อให้เกิดผลตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(3) ประสานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตหลากหลายรูปแบบ บนฐานความจำเป็นและความสำคัญ
(4) ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดการศึกษาและฝึกอบรมการป้องกันการทุจริตหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ส่งเสริมการศึกษา วิจัย เพื่อปรับวิธีคิดให้สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม จิตพอเพียงต้านทุจริต ความอายและไม่ทนต่อการทุจริต ในทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน
(5) ประสานการปฏิบัติงานการป้องกันการทุจริตกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้กำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
(6) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและถ่ายทอดงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแก่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคและสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เพื่อการดำเนินงานในพื้นที่
(7) รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุของสำนักงาน ป.ป.ช.
(8) ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายในองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ การวิจัยประเมินผลความคุ้มค่า การพัฒนาวิทยากร ป.ป.ช. และวิทยากรตัวคูณ เป็นต้น
(9) ติดตามและประเมินผลความสำเร็จและความคุ้มค่าในการดำเนินงาน และจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งประสานสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมเพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(10) ประสานและปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมาย ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง