ถอดบทเรียน “มองปัจจุบัน มุ่งสู่อนาคต พัฒนาการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา”
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักต้านทุจริตศึกษา ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ภายใต้ โครงการพัฒนาหลักสูตรและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ: กลุ่มการอาชีวศึกษา, กลุ่มการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ, กลุ่มการศึกษาเอกชน) ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ และเกิดการพัฒนา/ปรับปรุงแนวทางการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในกลุ่มการศึกษาอาชีวศึกษา กลุ่มการส่งเสริมการเรียนรู้/การศึกษาตามอัธยาศัย และกลุ่มการศึกษาเอกชน ทั้งนี้ ได้เชิญผู้แทนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและหน่วยงานสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค / สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา ในหัวข้อ “มองปัจจุบัน มุ่งสู่อนาคต พัฒนาการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดย ผู้แทนจากสถาบันอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 2 โดยมี ดร.วิวัลย์ดา สิริชีวานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการเรียนรู้ เป็นผู้ดำเนินการ โดยเนื้อหานั้น เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในบริบทต่าง ๆ ให้กับผู้เข้ารับการประชุม จากนั้น เป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นในประเด็น “ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดยผลจากการถอดบทเรียนที่ได้มา สำนักงาน ป.ป.ช. จะนำไปพัฒนายกระดับคุณภาพและปรับปรุงแก้ไขปัญหา เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาเกิดความสำเร็จในอนาคตต่อไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งเครื่องมือในการดำเนินการการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำหรับใช้เป็นมาตรฐานกลางให้สถาบันการศึกษาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยครอบคลุมทุกระดับชั้นเรียน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกกลุ่มในสังคม เน้นการสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมสุจริต มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดี ควบคู่กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2561
1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต)
2. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heart”)
3. หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ)
4. หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต)
5. หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต)
หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2564
1. เรื่อง การต้านทุจริตในสถานการณ์การเปลี่ยนฉับพลันทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)
2. เรื่อง การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางธรณี
3. เรื่อง การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติน้ำและน้ำบาดาล
หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2565
และล่าสุด หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2567
2. เรื่อง องค์กรโปร่งใสไร้ทุจริตและสินบน
3. การต้าน การลดทุจริตและสินบนในสังคม
โดยแต่ละหลักสูตรจะมีเนื้อหา 4 ชุดวิชา/หลักคิด ได้แก่ (1) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม (2) ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต (3) STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต และ (4) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ในแต่ละปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาด้วยดี และเพื่อให้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษามีเนื้อหาที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักต้านทุจริตศึกษา จึงจำเป็นที่จะต้องถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมภาคส่วนต่าง ๆ ได้วิเคราะห์บทเรียนและผลสำเร็จของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพและบทเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น