Contrast
banner_default_3.jpg

โครงสร้างภายในสำนักคดี

จากไชต์: สำนักคดี
จำนวนผู้เข้าชม: 295

21/06/2566

การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักคดี

สำนักคดี  มีหน้าที่และอำนาจ  ดังนี้

(1) ดำเนินการและประสานงานทางคดี การยื่นคำร้องต่อศาล การฟ้องคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในชั้นศาลตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมาย ติดตามผลการดำเนินคดี และการบังคับคดี โดยประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

(2) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการร่วม ซึ่งตั้งขึ้นระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด โดยมีหน้าที่พิจารณาพยานหลักฐาน และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สำนวนการไต่สวนครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป

(3) ดำเนินการและติดตามผลการดำเนินการทางวินัยตามาตรา 91 (2) และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน และเร่งรัดให้ผู้บังคับบัญชาหรือมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการตามกฎหมาย

(4) ตรวจพิจารณาสำนวนการไต่สวนตามที่ได้รับมอบหมาย และสนับสนุนงานฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาสำนวนคดีอาญา

(5) พิจารณาสำนวนการสอบสวน กรณีพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีไปตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพิจารณาสำนวนคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการในการพิจารณาสั่งคดี และตรวจสอบรายงานผลการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน

(6) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือแก้ต่างในการต่อสู้คดีกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดถูกดำเนินคดี ไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่

(7) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือแก้ต่างในการต่อสู้คดี กรณีบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. นอกเหนือจากบุคคลตาม (6) ผู้ใดถูกดำเนินคดี ไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่

(8) ดำเนินการเกี่ยวกับการยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ

(9) ดำเนินการหรือประสานงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับการจับ การควบคุมตัว การคุมขัง และการปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการค้น ยึด หรืออายัดเอกสารทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐาน และการริบทรัพย์สิน

(10) เก็บรวบรวมและจัดทำสารบบคดีไต่สวน เพื่อรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อพัฒนาระบบงาน รูปแบบ และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ

(11) ดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(12) ประสานและปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมาย ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

Related