Contrast
c07dc33ab28a22777c7af0332ac33ca6.jpg

ป.ป.ช. ย้ำ 53 สำนวนคดีได้มีมติชี้มูลและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความ และกรณีจับกุมอดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา หลังหนีคดีเกือบ 10 ปี

จากไชต์: สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช.
จำนวนผู้เข้าชม: 84

14/06/2567

ป.ป.ช. ย้ำ 53 สำนวนคดีได้มีมติชี้มูลและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความ

       วันนี้ (14 มิถุนายน 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวกรณีสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวพาดพิงและกระทบต่อหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับสำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ ช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2566 ว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ จำนวน 53 คดีนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วขอชี้แจงรายละเอียด ดังนี้

  1. กรณี นายสิทธิพร หรือกัญจน์ ทินณรงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินสำนักงานที่ดิน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว กับพวก กระทำการปลอมเอกสารที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอาญานายสิทธิพร หรือกัญจน์ ทินณรงค์ กับพวกรวม 15 คดี และได้ส่งสำนวนคดีไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ โดยอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องทั้ง 15 คดี ต่อมาได้มีการจับกุมนายสิทธิพรและส่งให้สำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ยื่นฟ้องนายสิทธิพร เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษ ทั้ง 15 คดี
  2. กรณีที่ปรากฏข่าวว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและได้ส่งสำนวนคดีไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องคดีแต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากขาดอายุความอีก จำนวน 41 คดี นั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีรายละเอียดดังนี้

      2.1 จากกรณีที่ปรากฏตามข่าวว่าอัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากขาดอายุความจำนวน 22 ราย รวม 25 คดี ประกอบด้วยกรณี 1.นายมงคล พรมประดิษฐ์  2.นายศุภยุทธ สาครบุตร (2 คดี) 3.นางรัศมี ชื่นเดช 4.นางสาวประไพศรีหรือภัคภร เผ่าพันธุ์หรือเรขะกมลพร (3 คดี) 5.นางรุ่งนภา แสงโคตรมา 6.นายฉัตรชัย ชาววัง 7.นางสาวจุรีรัตน์หรือธนภรณ์ บุญดาว 8.นายสมศักดิ์ จันทกูล  9.นายภูมิ หรือภูมิพัฒน์ หรือชนภูมิมหาชล 10.นายวีรชัย สิงห์นิยม 11.นางนิลวรรณ โลหิตนาวีหรือโพเดอแชร์ 12.นางสาวธิติวรณ์ สุพรรณ์วงศ์ 13.นายศุภชัย สีดาว 14.นายโสพร (โสฬส) สาครวิศว 15.นางพิมพ์มาส รังสรรค์สฤษดิ์ 16.นายประเสริฐ พลอาสา 17.นายปัญญา พรมพิมาตย์ 18.นายจรินทร์หรือณัฐสกล รอดผล 19.นายชยพล โบราณมูล 20.นายประสิทธิ์ เกษแก้วสถาพร  21.นายนิสมัย ปุ่งคำน้อย  22.นายประจักษ์ จันทร์แก้ว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดี ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดหรือตามฐานความผิดที่อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดี (โดยมีการยุติการดำเนินการคดีในบางฐานความผิด) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 22 ราย จำนวน 25 คดี โดยมีบางคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์หรือฎีกา และนอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อีก 2 ราย จำนวน 2 คดี ได้แก่กรณี นายผดุงศักดิ์ พื้นแสน และนายวิทยากร มหรรทัศนพงศ์

       2.2 จากกรณีที่ปรากฏตามข่าวว่าอัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากขาดอายุความกับนายอำนาจ สุภาพ และนายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษายกฟ้อง 2 ราย จำนวน 2 คดี ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้อัยการสูงสุดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าว

       2.3 จากกรณีที่ปรากฏตามข่าวว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากขาดอายุความ ประกอบด้วยกรณี 1.นายสมพร นามพรหม 2.นางสาวยุวดี หรือยุพดี ถีติปริวัตร์ 3.นางศรีสุดา สิงห์สุทธิ์ 4.สิบตำรวจตรีหญิงสุภัค พยัฆศิริ 5.นายทรงพล ก้อนแก้ว 6.นางวรรณา โพธิ์ศรีทอง  7.นายอธิศักดิ์ เหล่าไทย 8.นายประสาร ลำไย  9.นางณิชามาศ คงสมบูรณ์ 10.นางศิริพร ศรีกงพาน 11.นางวรรณา โพธิ์ศรีทอง 12.นายสนจิตร ศุขนิคม จำนวน 12 คดี  จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดี แต่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 12 รายดังกล่าวหลบหนีและศาลได้ออกหมายจับ แต่ไม่อาจจับกุมตัวผู้ถูกกล่าวหามาฟ้องคดีได้ภายในกำหนดอายุความ

       ดังนั้น การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศราจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

 กรณีจับกุมอดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา หลังหนีคดีเกือบ 10 ปี

      เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการติดตามจับกุมนายเสถียร ดำรงคดีราษฏร์ หรือนายสุรเชษฐ์ เจริญเมตตาธรรม ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งหลบหนีหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอาญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา กรณีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับหลายหน่วยงานเข้าจับกุมนายเสถียร พร้อมเงินสดของกลาง จำนวน 3.2 ล้านบาท ที่นายเสถียร ร่วมกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในขณะนั้น เบียดบังเงินงบประมาณของแผ่นดินจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเงิน 88,900,000 บาท สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการสืบสวนและติดตามตัวอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี และสืบสวนจับกุมได้ ซึ่งได้นำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 เพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7

     จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

         “ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด”

Related