Contrast
2a8304a89b64774c3cf8814331c03eb9.jpg

สื่อสารองค์กร ป.ป.ช. ประชุมทีม มอบหมายนโยบายการปฏิบัติงาน พร้อมสร้างวัฒนธรรม No Gift Policy สู่การไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช. ตามมาตรา 128

จากไชต์: สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช.
จำนวนผู้เข้าชม: 71

30/01/2567

สื่อสารองค์กร ป.ป.ช. ประชุมทีม มอบหมายนโยบายการปฏิบัติงาน พร้อมสร้างวัฒนธรรม No Gift Policy สู่การไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช. ตามมาตรา 128

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ประชุมเจ้าหน้าที่สำนักสื่อสารองค์กร เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน นำไปสู่การปฏิบัติ ทิศทางการบริหารงานของสำนักสื่อสารองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้เจ้าหน้าที่สำนักสื่อสารองค์กร ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามแนวทางการส่งเสริมคุณธรรม โดยเต็มกำลังความสามารถ จะยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และขอประกาศตนเป็นหน่วยงานที่ผู้บริหารและบุคลากรในสังกัดทุกคน มีเจตนารมณ์ที่จะไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในขณะ ก่อน และหลังปฏิบัติหน้าที่ อันจะส่งผลให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งจะยืนหยัดต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการสร้างค่านิยมในเรื่องของความซื่อสัตย์ มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรคุณธรรมและโปร่งใส (Organization of Integrity) ให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  2. การไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช. ตามมาตรา 128 ให้เจ้าหน้าที่สำนักสื่อสารองค์กร ปฏิบัติตนให้ถูกหลัก โดยไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

- ไม่ใช้บังคับกับ: การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป

- ใช้บังคับกับ: การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

  1. การปฏิบัติงานโดยยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน โดยยึดหลักตามประมวลจริยธรรมสำนักงาน ป.ป.ช. และค่านิยมร่วม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” ที่สำคัญผู้บังคับบัญชาทุกระดับของสำนักสื่อสารองค์กรต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง

      3.1 ประมวลจริยธรรมสำนักงาน ป.ป.ช. มีอุดมการณ์ คือ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ยึดมั่นในหลักทศพะราชธรรม หลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

          จริยธรรมในการดำรงตน เช่น ต้องรักษาชื่อเสียงของตน ภาพลักษณ์ของหน่วยงาน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ / ต้องละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล / ต้องไม่ให้บุคคลภายในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนและมิให้แสวงหาประโยชน์ / ต้องระมัดระวังในการแสดงตนและการคบหาสมาคมกับบุคคล / ผู้บังคับบัญชาต้องปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยความเที่ยงธรรม การบริหารงานบุคคลเป็นไปตามระบบคุณธรรม

          จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม / ต้องมีจิตสำนึกที่ดีในการบริการแก่ประชาชน  และไม่เลือกปฏิบัติ  / ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคีและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติงาน / ต้องให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ / ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม / ต้องไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่นมาเป็นเหตุให้ใช้ดุลพินิจที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น / ต้องอุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น /ต้องดูแล รักษา และใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า และรักษาประโยชน์ของทางราชการ / ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง

          จริยธรรมในการไต่สวน เช่น ต้องอำนายความยุติธรรมด้วยความรวดเร็ว รับผิดชอบ เป็นธรรม ทั่วถึงโปร่งใส รอบคอบ และตรวจสอบได้ / ต้องรักษาความลับของทางราชการ / คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวน ต้องถอนตัวจากการไต่สวนข้อเท็จจริง เมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย / ผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานไต่สวนข้อเท็จจริงต้องประพฤติตนให้เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือและวางใจได้ / ต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย พยาน และผู้ให้ถ้อยคำอย่างเสมอภาคปราศจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา / ควรต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่มีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย / การแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการให้คำมั่นสัญญา จูงใจ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย

          จริยธรรมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เช่น ต้องดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและมีความน่าเชื่อถือ / ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ไม่จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย / ต้องไม่ประกอบอาชีพอิสระอื่นใด ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ /ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร

      3.2 ค่านิยมร่วม“ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้”

ความซื่อสัตย์ คือ การครองตนหรือการประพฤติปฏิบัติที่แสดงออกถึงคุณลักษณะทางบวกตามหลักคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง สุจริต หลักกฎหมาย และแนวทางในวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

ความเป็นธรรม คือ การปฏิบัติงานด้วยความเป็นกลาง เท่าเทียม เสมอภาค ปราศจากอคติในการปฏิบัติงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวดเร็ว โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

มืออาชีพ หมายถึง การปฏิบัติงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในกระบวนการและการปฏิบัติงานตลอดจนปรับปรุง พัฒนาผลงาน บูรณาการการทำงาน นำองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็น

โปร่งใส คือ การแสดงออกถึงความชัดเจน ตรงไป ตรงมา มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสีย

ตรวจสอบได้ คือ การปฏิบัติงานโดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย เข้ามาตรวจสอบติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงาน รวมถึงแสดงความคิดเห็นให้ข้อสงสัยและข้อสังเกต

 

  1. การให้บริการกับผู้มารับบริการทั้งในส่วนของบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. และบุคคลภายนอกสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้

- ให้บริการด้วยความโปร่งใส ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

- ให้ชี้แจงและตอบคำถามแก่ผู้รับบริการ ที่มีข้อกังวลสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน

- กรณีมีผู้สอบถามข้อมูลทางช่องทางสื่อออนไลน์ ควรรวบรวมประเด็นที่มีผู้มารับบริการได้สอบถามข้อมูล /แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่พบบ่อย จัดทำ FAQ และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือหากให้ข้อแนะนำการทำงานควรรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุง/พัฒนาการปฏิบัติงาน และรายงานผลต่อผู้บริหาร

  1. การใช้ทรัพย์สินราชการให้บุคลากรของสำนักสื่อสารองค์กรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

- ขอให้มีการอนุญาตในการยืม-คืนทรัพย์สินจากฝ่ายบริหารฯ อย่างถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด และมิให้นำทรัพย์สินของราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งมาตรการการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เช่น ไฟฟ้า กระดาษ โทรศัพท์ ฯลฯ

- ขอให้ฝ่ายบริหารฯ มีการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของราชการอย่างสม่ำเสมอ

  1. การใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า โปร่งใสเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และไม่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้อง หรือการเบิกจ่ายเงินอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าเดินทาง ฯลฯ รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับพัสดุถูกต้องเป็นไปตามระเบียบด้วย
  2. ผลิตข้อมูล ผลงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และเผยแพร่สู่สาธารณอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าความสำคัญของภารกิจสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น

- ด้านการปราบปรามการทุจริต สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่า บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว เป็นอิสระ ตรงไปตรงมา เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนผู้ที่กระทำทุจริตต้องถูกดำเนินคดี ได้รับการลงโทษจริงจัง ขั้นตอนกระบวนงาน ระยะเวลาที่เป็นมาตรฐานภายใต้กรอบกฎหมาย

- ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน สื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการยื่นบัญชีฯ การเปิดเผยบัญชีฯ ต่อสาธารณะ ผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเฉพาะกรณีจงใจไม่ยื่นหรือ จงใจยื่นเท็จ ปกปิด ว่ามีการดำเนินการที่ชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ และยึดทรัพย์สินจริง

- ด้านป้องกันการทุจริต การปลูกฝังวิธีคิด/ สร้างจิตสำนึก สื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้ว่าการทุจริตเกิดผลเสียหายแก่ประเทศชาติ การส่งเสริมและเปิดโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมให้ช่วยเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังการทุจริต การปลูกฝังความคิดให้รู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ไม่ให้ - ไม่รับสินบน มีความละอายและไม่ทนต่อการทุจริต รวมทั้งช่องทางการแจ้งเบาะแส การติดตามเรื่อง และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้อง

 

ทิศทางการสื่อสารในปี 2567 พุ่งเป้าในเรื่องสินบนและการขัดกันแห่งผลประโยชน์

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมไทยและต่างชาติรับรู้ถึงการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตของไทย ที่เป็นรูปธรรม และให้สังคมเห็นถึงการปฏิบัติงานและการให้บริการของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.ทุกระดับว่า ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

แนวทางการขับเคลื่อนงาน

  1. พัฒนารูปแบบการสื่อสารแบบบูรณาการ โดยใช้การประชาสัมพันธ์คู่ขนานกับการโฆษณาและการตลาด เชิงสังคม (social marketing)
  2. เผยแพร่บทบาท หน้าที่ ผลงาน สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สะท้อนภาพให้สังคมรับรู้ว่าปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักธรรมภิบาล และค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” เช่น

      2.1 ผลงานภารกิจหลักทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะคดี ให้สังคมเห็นว่าดำเนินการด้วยความรวดเร็ว และนำเสนอความคืบหน้าคดีดังหรือผลการตรวจสอบให้สังคมทราบอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำ ตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลหรือชี้แจงในประเด็นที่สังคมเคลือบแคลง

      2.2 การเฝ้าระวัง ช่องทางการแจ้งเบาะแส การติดตามเรื่อง การคุ้มครองพยาน เช่น การช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสหากพบเห็นการทุจริตได้หลายช่องทาง และดำเนินอย่างเคร่งครัด ในการแจ้งเบาะแสและคุ้มครองพยาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ

      2.3 ขั้นตอนงาน ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการตรวจสอบ ไต่ส่วน การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบ (ODS)

      2.4 องค์ความรู้ เช่น การขัดกันแห่งผลปะโยชน์ สินบน ตัวอย่างคดีทุจริต

  1. ข้อนำข้อมูลจากข้อ 2 มาดำเนินการดังนี้

      3.1 นำเสนอข้อมูลที่สังคมต้องการทราบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในช่องทางที่เข้าถึงง่ายโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ในรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น ผลิตข้อมูล เช่น บทความ ข่าว ผลิตสื่อ เช่น คลิป เอนิเมชัน อินโฟกราฟฟิก พรอดแคส (ไทย/ENG)

      3.2 ช่องทางมีข้อมูลเป็นปัจจุบัน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว เช่น เว็บไซต์ /เฟซบุ๊ก และควรมีการสื่อสารในระดับพื้นที่คู่ขนานกันไปด้วย นำข้อมูลในพื้นที่มาสื่อสารในส่วนกลาง

      3.3 กำหนดความถี่ในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างต่อเนื่อง

  1. นำเครือข่ายสื่อมวลชนร่วมขับเคลื่อนงานสื่อสาร เช่น แถลงข่าว เชิญสื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ เชิญสื่อมวลชนพบผู้บริหารเพื่อให้ข้อมูล ขอความอนุเคราะห์ออกรายการต่าง ๆ ส่งข้อมูลและสื่อเพื่อให้นำไปขยายผลการเผยแพร่ต่อ ฯลฯ
  2. ส่งข้อมูลให้บริษัทที่ได้รับทุนกองทุน ป.ป.ช. ไปผลิต

Related