จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 623
เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนางสาวชฎารัตน์ อนรรฆอร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 นายวิศิษย์ ตันอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง นำโดย นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต นางสาววิศรา รัตนสมัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยง (STRONG: Together against Corruption - TaC) ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่อการทุจริตในประเด็นการจัดซื้อและติดตั้งโคมไฟโซล่าเซลล์นวัตกรรมไทย ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 จำนวน 6 โครงการ รวมจำนวน 6,493 ชุด เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 454,510,000 บาท
---
การจัดซื้อและติดตั้งโคมไฟโซล่าเซลล์นวัตกรรมไทยปรากฏความเสี่ยงจากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสระบุรี และเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสระบุรี ดังนี้
---
ทั้งนี้ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริต กรณีการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์นวัตกรรมไทยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นางวารินทร์ ตุลาคุปต์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 นายนิติรุจน์ จิรสนองสิทธิ์ คลังจังหวัดสระบุรี นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นายอัครวัฒน์ ศิริธัญญ์ธนากร ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ผู้แทนจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระบุรี
และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี โดยมีข้อตกลงเพื่อดำเนินการ ดังนี้
1) ประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของ อบจ.สระบุรี ควรบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบจ. อย่างรอบคอบ โดยจัดลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก่อนการพิจารณาพื้นที่ติดตั้ง อบจ.สระบุรี ควรมีการลงพื้นที่ตรวจสอบความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริงผ่านการทำประชาคม รวมทั้งควรมีการสำรวจผลการติดตั้งเสาไฟบนถนนเส้นที่มีการสัญจรน้อยว่าประชาชนในพื้นที่มีความเห็นอย่างไร ถ้าประชาชนพึงพอใจก็ควรคงการติดตั้งเสาไฟฟ้าไว้ แต่หากมองว่าไม่จำเป็นก็ควรนำเสาไฟไปติดตั้งบนถนนอื่นที่จะเกิดประโยชน์และตรงต่อความต้องการของคนในพื้นที่มากกว่า
2) ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟที่มีงบประมาณจำนวนมาก ควรมีการต่อรองราคา และ อบจ.สระบุรี ควรตั้งข้อสังเกตหากต่อรองราคาแล้วไม่เป็นผล ในโอกาสต่อไปควรพิจารณาทางเลือกใช้เสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์ประเภทอื่นแทนการจัดซื้อเสาไฟโซล่าเซลล์นวัตกรรมไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว ทำให้อำนาจการต่อรองเป็นของบริษัทที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย
3) ประเด็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อบจ.สระบุรี ควรพิจารณาประสิทธิภาพของสินค้าเป็นรายปีก่อนการจัดซื้อสินค้าในปีต่อไป เนื่องจากการตรวจสอบเสาไฟจำนวน 6,493 ชุด พบว่ามีเสาไฟที่ไม่ได้คุณภาพ ประมาณ 700 ชุด ซึ่ง อบจ. สระบุรี ควรสะท้อนปัญหาไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาปรับปรุงบัญชีนวัตกรรมไทยที่ให้มีการขึ้นบัญชีต่อเนื่องถึง 8 ปี ให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพสินค้าของผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ในการเลือกใช้เสาไฟฟ้าจากบัญชีนวัตกรรมไทย
4) ประเด็นการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์รุ่นเก่าปะปนกับเสารุ่นใหม่บนถนนสายเดียวกัน อบจ.สระบุรี ควรพิจารณาเปลี่ยนให้เป็นเสาไฟรุ่นใหม่ทั้งหมดเพื่อคุณภาพของแสงสว่างที่เท่าเทียมกันตลอดเส้นทาง ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ต้องนำเสาไฟรุ่นเก่าไปติดตั้งในบริเวณเดียวกันกับเสาไฟรุ่นใหม่เพื่อทดแทนกรณีจำเป็นเร่งด่วน ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงเหตุผลและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและลดความขัดแย้งในพื้นที่
5) สำนักงาน ป.ป.ช. จะพิจารณาแนวทางป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดประเด็นการเฝ้าระวังและการจัดทำมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตการจัดซื้อพัสดุตามบัญชีนวัตกรรมไทยที่อาจมีช่องโหว่ให้เกิดการผูกขาด ไม่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย และทำให้เกิดรายจ่ายภาครัฐที่สูงเกินความจำเป็น รวมทั้งจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ทั่วประเทศให้ร่วมกันจับตามองและแจ้งเบาะแสการดำเนินโครงการต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เกิดความคุ้มค่า และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
---
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ TaC Team จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดสระบุรีเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด