จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 935
สำนักงาน ป.ป.ช. ตอกย้ำแม้เปลี่ยนผ่านรัฐบาล ยังคงเดินหน้าภารกิจแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สู่เป้าหมายปี 2576 - 2580 อยู่อันดับ 1 ใน 20 หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 73 คะแนน มุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่ภารกิจขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2565-2567 ของไทยยังคงเดินหน้าต่อไป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผน 3 ระดับ คือ แผนระดับที่ 1 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 2 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ในประเด็นยุทธศาสตร์ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่ระบุว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญต้องมีการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกที่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ด้านแผนระดับที่ 2 ยังสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนแผนระดับที่ 3 สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) โดยแผนปฏิบัติการฯ จะกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทย
สำหรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ภายใต้เป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมีตัวชี้วัดเป็นดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ซึ่งค่าเป้าหมายในปี 2566 – 2570 จะอยู่ในอันดับ 1 ใน 43 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน ในปี 2571 – 2575 ขยับเป้าหมายมาที่การติดอันดับ 1 ใน 32 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 62 คะแนน และในปี 2576 - 2580 มุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 73 คะแนน
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้วางแผนป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้ 1) ปลูกและปลุกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต และการปลูกฝังและหล่อหลอมวัฒนธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย ทุกระดับ 2) ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความใสสะอาด ปราศจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต 3) พัฒนาค่านิยมของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 4) ปรับระบบเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ และ 5) ปรับระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการลดการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเป้าหมายสำคัญของการดำเนินการ คือ ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และคดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง
ด้านแผนการปราบปรามการทุจริต ทางสำนักงาน ป.ป.ช. มีแนวทางการพัฒนาโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไกการปราบปรามการทุจริต การปรับปรุงกระบวนการปราบปรามการทุจริตที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ด้านการปราบปรามการทุจริต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งมั่นดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบของไทยมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตในอันดับที่ดีขึ้นต่อไป