จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 16554
ป.ป.ช. ป้องปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ย้ำถึงบทลงโทษทางอาญา กรณีปลอมแปลงเอกสาร
สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าป้องปรามเจ้าหน้าที่รัฐ ย้ำถึงบทลงโทษทางอาญากรณีความผิด ว่าด้วยการปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จ ส่งผลเสียต่อประชาชน หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐอย่างจริงจัง และเกิดผลเป็นรูปธรรม จึงได้เผยแพร่กรณีศึกษาการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะล่าสุดเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อและปลอมลายมือชื่อ เพื่อสั่งจ่ายเงินจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ นำมาซึ่งผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงบทลงโทษที่ชัดเจนทางกฎหมาย ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร
โดยตัวอย่างจากกรณีศึกษา ข้อกล่าวหาย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ในกรณีของ นางวันดี ชุติเชาวน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลังองค์การบริหารส่วนตำบลลาดชิด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางเสริมศรี ปรีเปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี นางรัชดาภรณ์ ทองแผ่น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ซึ่งได้ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ด้วยการปลอมลายมือชื่อ นายธวัช ธิราไสย นายก อบต.ลาดชิด ในเอกสารฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 จำนวนนับ 100 ฉบับ
ซึ่งต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป และเห็นควรให้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหน่วยงานดังกล่าว คือ อบต.ลาดชิด ให้เคร่งครัดเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายด้วย ซึ่งการเซ็นชื่อแทนกันหรือปลอมลายเซ็น ถือเป็นความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และมีโทษทางกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ แม้เจ้าของลายเซ็นนั้นจะยินยอมแล้วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดที่อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ทั้งนี้ การปลอมเอกสาร ที่ถือเป็นความผิด จะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.) การลงลายมือชื่อคนอื่น แม้เจ้าของลายมือชื่อตัวจริงจะยินยอม ก็ถือเป็นความผิด 2.) การปลอมแปลงลายมือชื่อเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ และ 3.) การปลอมแปลงลายมือชื่อเพื่อคนอื่นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง การเติม ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขต่าง ๆ บนเอกสารจริง รวมถึงการประทับตราปลอม การลงลายมือชื่อปลอม และการกระทำใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุชักจูงใจเพื่อให้คนใดคนหนึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง ดังนั้นในการกระทำเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารใด ๆ ก็ตาม จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาต่าง ๆ ดังนี้
1.) มาตรา 264 ปลอมเอกสารทั่วไป โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.) มาตรา 265 ปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ โทษจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
3.) มาตรา 266 ปลอมเอกสารสำคัญ เอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือบัตรเงินฝาก โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
4.) มาตรา 267 แจ้งให้เจ้าพนักงานของรัฐ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ด้วยวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5.) มาตรา 268 ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
6.) มาตรา 269 ปลอมเอกสารในการประกอบกิจการในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ด้วยคำรับรองบนเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ