Contrast
Font
c72c51c352738c9e8c49ecab061deb1d.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. หารือร่วมกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หาแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 564

24/05/2567

สำนักงาน ป.ป.ช. หารือร่วมกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย
หาแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

          วันนี้ (วันที่ 24 พฤษภาคม 2567) สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ณ ห้องเลอโลตัส 1 ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งร่วมกันแสดงความคิดเห็นหรือสะท้อนมุมมองปัญหาการทุจริตของประเทศ กรณีการเรียก รับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีการอภิปรายในหัวข้อ “การดำเนินการและความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาคเอกชน” และหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนไทยการป้องกันการทุจริตโดยมีผู้ร่วมอภิปราย ดังนี้
1. นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. Mrs. Vibeke Lyssand Leirvag ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย
3. ดร.กุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
4. รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
5. นางสาวฉันท์ชนก เจนณรงค์ นักวิจัยสังคมศาสตร์ชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. (ผู้ดำเนินการอภิปราย)

          ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย สมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ผู้แทนสถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 100 คน

          สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการประสานความร่วมมือกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการติดสินบน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้านการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทยให้สูงขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนชาวต่างชาติในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อไป

Related