Contrast
Font
6aeebf20da2c6e17ad1681db9612a6d8.jpg

ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1507

07/06/2567

สำนักงาน ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 (The Second International Conference on Anti–Corruption Innovations in Southeast Asia)

           วันที่ 7 มิถุนายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาล (KRAC) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ในการจัดประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 (The Second International Conference on Anti–Corruption Innovations in Southeast Asia) ณ โรงแรม S31 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและกลยุทธ์เชิงนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งองค์กรต่อต้านการทุจริต ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช.” และการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการทุจริต ได้แก่ Professor Dr.Matthew C. Stephenson จาก Harvard Law School และ Ms. Annika Wythes Team Lead, Anti-Corruption Hub for Southeast Asia and the Pacific จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crimes: UNODC)

          นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในประเด็นที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคให้ความสำคัญ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) มุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อการต่อต้านการทุจริตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Foreign Investors' Perspectives on Anti-Corruption in Southeast Asia) และความเชื่อมโยงระหว่างการทุจริตกับอาชญากรรมข้ามชาติ (Linkages between Corruption and Transnational Organized Crime (TOC)) โดยผู้เสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากอย่างยาวนานในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งจากประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์กรระหว่างประเทศ

          ทั้งนี้ องค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based) ที่ได้รับจากการประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ แล้วนำมาถอดบทเรียนและกำหนดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการทุจริตในมิติต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐต่อไป

          ทุกท่านสามารถร่วมรับชมการประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 (The Second International Conference on Anti–Corruption Innovations in Southeast Asia) ผ่านทาง Facebook และ YouTube ของสำนักงาน ป.ป.ช.

Related