จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 99
ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 3)
ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 3) วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงลึกในระดับพื้นที่ทั้งประเด็นปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในทุกประเภทความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร
โดยกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. วิทยากร และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย กลุ่มโซนกรุงธนเหนือ และกลุ่มโซนกรุงธนใต้ ประกอบด้วย เขตราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง ธนบุรี คลองสาน บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน และบางขุนเทียน ได้นำข้อมูลจากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน นำข้อมูลมาจัดเรียง ปรับปรุง และพัฒนาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผ่านการใช้ระบบสารสนเทศแผนที่ต้านการทุจริตประเทศไทย TMAC (Thailand Mapping of Anti-Corruption) เพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ให้แก่ภารกิจการป้องกันการทุจริตการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม และปลุกจิตสำนึกในการต้านทุจริตให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ภาพรวมผลการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประเด็นที่ตัวแทนเครือข่าย ภาคประชาชนในกลุ่มโซนกรุงธนเหนือ และกลุ่มโซนกรุงธนใต้ ร่วมกันอภิปรายเพื่อแสวงหาแนวทางการนำข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหา อาทิ ประเด็นความเสี่ยงการทุจริตจากเงินทุนสีเทา และธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี เช่น การรับจ้างเป็นนอมินีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านค้า ประกอบการค้าที่หวงห้ามเฉพาะคนไทย ความเสี่ยงการทุจริตจากโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยของเอกชนรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ การก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นบริเวณเขตบางขุนเทียน ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ (EIA) มูลค่าโครงการกว่า 1,700 ล้านบาท ประเด็นความเสี่ยงการทุจริตเกี่ยวกับการประกอบการค้า การทำธุรกิจการนำเข้า-ส่งออก และเงินทุน และประเด็นความเสี่ยงการทุจริตจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่
เช่น การเรียกรับสินบนจากผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น