Contrast
Font
3f1ba5e01df06296387f89ce38167773.jpg

ป.ป.ช. เผยบทวิเคราะห์ CPI 2567

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 789

11/02/2568

ป.ป.ช. เผยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2567 ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก

 

นายศรชัย  ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 06.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเยอรมณี หรือเมื่อประมาณ 12.01 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2024 (พ.ศ. 2567) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศเดนมาร์ก ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 90 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน (10 ประเทศ) ซึ่งประเทศสิงค์โปร์ ได้คะแนนสูงสุดคือ 84 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก

 

           โดยผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567 นั้น เป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง โดยประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 5 แหล่ง ลดลง 4 แหล่ง ดังนี้

            แหล่งข้อมูลที่คะแนนเพิ่มขึ้น จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่

  1. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 34 คะแนน (ปี 2023 ได้ 33 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 41 คะแนน (ปี 2023 ได้ 37 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 33 คะแนน (ปี 2023 ได้ 32 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 34 คะแนน (ปี 2023 ได้ 33 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 29 คะแนน (ปี 2023 ได้ 26 คะแนน)

          

จากคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นดังกล่าว เนื่องจากมุมมองของผู้ประเมินจากแหล่งข้างต้นทั้งจากผู้ตอบแบบสอบถามและผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองว่า ภาครัฐได้แสดงออกให้สาธารณชนเห็นอย่างชัดแจ้งในการตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการเน้นย้ำในความเคร่งครัด เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย การผลักดันให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดปัญหาสินบนในการอนุมัติ/อนุญาต การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนระยะเวลามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีมาตรการส่งเสริมให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีความโปร่งใส รวมทั้งการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างกว้างขว้าง ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง

 

ประกอบกับมุมมองของผู้ประเมินต่อการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายตุลาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายทหารและตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการถือปฏิบัติตามนโยบายงดรับของขวัญและของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ การรณรงค์ให้แยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจากภาครัฐมีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือใช้ดุลยพินิจขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

           แหล่งข้อมูลที่คะแนนลดลง จำนวน 4 แหล่ง ได้แก่

  1. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 35 คะแนน (ปี 2023 ได้ 37 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล S&P/Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 32 คะแนน (ปี 2023 ได้ 35 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 36 คะแนน (ปี 2023 ได้ 43 คะแนน)
  1. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 34 คะแนน (ปี 2023 ได้ 36 คะแนน)

          

น่าจะมีสาเหตุมาจาก มุมมองของผู้ประเมินในประเด็นเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการบริหารงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ โดยมีกรณีสำคัญ เช่น นโยบายประชานิยม การนำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การใช้จ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล หรือขาดความคุ้มค่า ส่งผลให้ทรัพยากรของรัฐไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐ แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลของประเทศ

 

           ประกอบกับมุมมองของนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่เห็นว่ายังคงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะต้องเผชิญกับการเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบธุรกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน โดยบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และความพยายามในการพัฒนาระบบและขั้นตอนในการอนุมัติ อนุญาต ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตอบแบบสอบถามในแหล่งข้อมูลข้างต้นยังไม่มีความเชื่อมั่นการดำเนินการดังกล่าว และเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการรับรู้ในเชิงลบ

 

           รวมทั้งมุมมองของผู้ประเมินในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตไม่เพียงพอ ซึ่งจากข่าวการทุจริตที่ปรากฏจากสื่อต่าง ๆ เช่น คดีที่สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นวงกว้าง และมีข้าราชการ นักการเมือง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ที่ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบ ดำเนินคดี หรือลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตอย่างรวดเร็ว และไม่มีการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย ตลอดจนการดำเนินนโยบาย บางนโยบายอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งมีข่าวเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่เป็นธรรม

 

           ทั้งนี้ การประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชันในแต่ละประเทศผ่านมุมมองของผู้ประเมิน โดยในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยนั้น ผู้นำประเทศและรัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

 

           โดยข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ที่ได้ให้ไว้จากการประกาศคะแนนในครั้งนี้ คือ ทุกประเทศควรสร้างกระบวนการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตไม่ให้ถูกคุกคามหรือมีการแทรกแซงโดยใช้อิทธิพลในการกำหนดนโยบายในระดับชาติและระดับนานาชาติ ต้องสร้างความโปร่งใสและสภาพแวดล้อมที่ดีในการกำหนดนโยบายและการจัดสรรเงินงบประมาณ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตร่วมกับการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เกี่ยวกับงบประมาณการดำเนินโครงการ รวมทั้งข้อมูลการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ โดยการต่อต้านการทุจริตต้องส่งเสริมแนวคิดการดำเนินการด้วยความซื่อตรง (Integrity) และความรับผิดรับชอบ (Accountability) ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมในการต่อต้านการทุจริตที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

           ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่องค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่จะส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการยื่นบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สินด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบทรัพย์สิน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต การจัดทำและพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) การพัฒนาการดำเนินการของศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center : CDC) และการเสนอมาตรการ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการสื่อสารสร้างความเข้าใจในกลุ่มภาคเอกชน กลุ่มนักลงทุนและชาวต่างชาติที่ต้องเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการขออนุมัติ อนุญาต การนำเข้าส่งออก การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดน (AEC) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในเรื่องที่กระทบต่อสาธารณชนในวงกว้าง และประสานการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงานในการส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

Related