Contrast
Font
bf36f2c3cf270415ceb8c31b47208d48.jpg

เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตร้องเรียนได้ที่ไหน?

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 74

11/02/2568

เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตร้องเรียนได้ที่ไหน?

      การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนานาประเทศ จากการจัดอันดับในดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2567 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อยู่ที่ 34 คะแนน ซึ่งลดลงจากปี 2566 แสดงให้เห็นได้ว่าการทุจริตยังเป็นปัญหาของประเทศไทย

      จากการผนึกกำลังการทำงานของหน่วยงานด้านการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยหลายหน่วยงาน จะเห็นว่าสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลงานการจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เรียกรับเงินจากประชาชนที่มาขอรับบริการในกรณีต่าง ๆ เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร การอำนวยความสะดวกในการดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งการออกเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ โดยมิชอบ ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าประชาชนเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่ทน ไม่เฉยต่อการทุจริต นั่นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย

      สำนักงาน ป.ป.ช. หนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคงจะดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพียงผู้เดียวไม่ได้ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนในการร่วมกันสอดส่องเฝ้าระวังทุจริตในพื้นที่และต้องช่วยกันสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขจัดคอร์รัปชัน ดังนั้น เมื่อท่านพบเห็นการทุจริต ท่านสามารถแจ้ง ยื่น หรือส่งคำกล่าวหาหรือเอกสารหลักฐานเข้าไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  1. การร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ เป็นกรณีที่ผู้กล่าวหาในฐานะผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใด ๆ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องกล่าวหานั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
  2. การกล่าวหาร้องเรียนเป็นหนังสือราชการ การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ เป็นกรณีที่หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจได้ส่งเรื่องกล่าวหาเป็นหนังสือหรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
  3. การกล่าวหาร้องเรียนเป็นหนังสือร้องเรียน การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ ผู้กล่าวหาจะเป็นผู้เสียหายหรือมิใช่ผู้เสียหายก็ได้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

3.1) กรณียื่นหนังสือร้องเรียนด้วยตนเอง ผู้กล่าวหาสามารถยื่นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเป็นหนังสือด้วยตนเอง ณ ที่ทำการของสำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

3.2) กรณีส่งหนังสือร้องเรียนทางไปรษณีย์ ผู้กล่าวหาสามารถส่งหนังสือร้องเรียนเป็นจดหมายทางไปรษณีย์โดยจ่าหน้าซองส่งถึง “เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.” สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือส่งทางไปรษณีย์มายังสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

  1. การกล่าวหาร้องเรียนด้วยวาจาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ ผู้กล่าวหาต้องแจ้งคำกล่าวหาด้วยวาจาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง ณ ที่ทำการของสำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการบันทึกรายละเอียดคำกล่าวหาไว้ให้ครบถ้วน และให้ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อไว้เป็นพยานหลักฐาน และในกรณีที่ผู้กล่าวหานำบุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นพยานของตนมาด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จะบันทึกถ้อยคำไว้เพื่อประกอบคำกล่าวหาด้วยก็ได้
  2. การกล่าวหาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ ผู้กล่าวหาสามารถร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเข้าสู่ระบบ “ร้องเรียน Online” โดยตรงได้ที่ www.nacc.go.th/member/login ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยข้อมูลรายละเอียดจะถูกเก็บเป็นความลับ
  3. การชี้ช่องแจ้งเบาะแสผ่านทางเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริต การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ เป็นกรณีที่ผู้กล่าวหาได้ชี้ช่องแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการการทุจริตของเจ้าพนักงานของรัฐผ่านทางโทรศัพท์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง (โทร. 0 2528 4800 หรือ โทร. 1205) หรือทางโทรศัพท์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ในวันและเวลาราชการ หรือผ่านทางเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น Application WE หรือ https://nacc.go.th/we/ เป็นต้น
  4. การกล่าวหาร้องเรียนผ่านกล่องรับเรื่องร้องเรียน การกล่าวหาด้วยวิธีการนี้ ผู้กล่าวหาสามารถร้องเรียนผ่านกล่องรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดได้ทุกจังหวัด
  5. การกล่าวหาร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (Line)ของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น

      แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังในการร้องเรียน การชี้ช่องแจ้งเบาะแส และการเปิดเผยข้อมูล หากผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวน ให้ได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ด้วย

...............................................................................

ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ”

Related