จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 286
“การทุจริตส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไร”
การทุจริตเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ดังนั้นแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะต้องมีการปลูกฝังให้พลเมืองของประเทศมีการรับรู้ โดยสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้เกิดความตระหนัก มีการปลูกฝังจิตสำนึก วัฒนธรรม ต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และ เกิดจิตสำนึกที่ดีของความเป็นพลเมืองดี ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อทุกภาคส่วนตระหนักรับรู้ร่วมกัน การทุจริตในสังคมไทยก็จะค่อย ๆ หมด ไป หรือลดน้อยลง รวมทั้งส่งเสริมและนำธรรมาภิบาลเข้ามาปรับใช้จริงในทุกภาคส่วนของสังคม และแนวทางการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน อย่างจริงจัง ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเน้น ทั้งปลูกฝังวัฒนธรรม ค่านิยมที่ไม่ทนต่อการทุจริต การป้องกันการทุจริต การปราบปรามการทุจริต การทุจริตในสังคมไทยจะค่อย ๆ ลดลง
ผลกระทบของการทุจริตต่อการพัฒนาประเทศ การทุจริตและประพฤติมิชอบก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ ดังนี้
ต่อประชาชน
1. เกิดความไม่เท่าเทียมและเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ที่ประชาชนพึงจะได้รับ (เอื้อประโยชน์แก่นายทุน)
2. ประชาชนได้รับผลประโยชน์ร่วมไม่เต็มที่ หรือเสียประโยชน์
3. เกิดค่านิยมในสังคมที่ผิด ขาดคุณธรรมจริยธรรมและนำไปสู่การทุจริต และประพฤติมิชอบ
ต่อสังคม
1. งบประมาณที่ประชาชนควรจะได้รับไม่ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ชุมชนอย่างแท้จริง 2. ขาดคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ
3. เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม
4. เกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงอำนาจในสังคม
5. สังคมเกิดความไม่ยุติธรรม
ต่อประเทศชาติ
1. ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศขาดความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ และขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่องทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างล่าช้า และด้อยการพัฒนา
2. การเมืองขาดเสถียรภาพ
3. ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข
4. สูญเสียภาพลักษณ์ของประเทศในประชาคมโลก และนักลงทุน
5. ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการพัฒนา และบริหารประเทศ
6. ลดโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจในต่างปะเทศ และขาดการจูงใจในการลงทุน
จากผลกระทบข้างต้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้กำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการจัดทำระบบการแจ้งข้อมูล เบาะแส การกล่าวหาร้องเรียนการทุจริต ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน การปกปิดข้อมูล ผู้ให้ข้อมูล ผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงมาตรการและแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้มีการสร้างเครือข่ายในชื่อว่าชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งประเทศ โดยประชาชนหรือเครือข่าย สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสการทุจริตในทันที เมื่อพบเห็นการทุจริตหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ www.nacc.go.th หัวข้อ ช่องทางการร้องเรียน หรือทางโทรศัพท์ สำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) หมายเลข 0 2528 4800 หรือศูนย์บริการข้อมูลสำนักงาน ป.ป.ช. 1205
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นภาพลักษณ์ของประเทศเกี่ยวกับการทุจริตในมุมมองการรับรู้ของต่างประเทศ โดยในการแก้ไขปัญหาการทุจริต จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทย อันนำมาซึ่งการสร้างความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยในอนาคต