จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 106
ป.ป.ช. ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเพื่อถกความเห็นหาแนวทางป้องกันทุจริตเบิกจ่ายยา
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมี นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็น พร้อมด้วยหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนจากโรงพยาบาล ณ ห้องประชุมนนทบุรี 3 อาคาร 4 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ช. อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบปัญหาการทุจริตเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่ายาของข้าราชการ ซึ่งได้มีการสอบสวนโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่ามีการกระทำในลักษณะเป็นกระบวนการโยงใยเป็นเครือข่ายการทุจริต โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ (1) ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ (2) บุคลากรในโรงพยาบาล และ (3) กลุ่มบริษัทจาหน่ายยา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณ โดยไม่จำเป็น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีมติเห็นชอบให้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในระยะที่ 1 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 2 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ฯ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
แต่ในช่วงระยะที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ติดตามการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว พบประเด็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานและหน่วยบริการที่ข้าราชการสามารถทำการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ ยังไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการ จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1: มาตรการที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงระบบ ประเด็นให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาโดยเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ นั้น พบปัญหาว่ายังไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยา โดยฐานข้อมูลของโรงพยาบาลที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน จึงอาจตรวจสอบไม่ได้ว่าผู้ป่วยใช้บริการหรือรับยามาจากโรงพยาบาลในสังกัดใดมาแล้ว อีกทั้ง หน่วยงานและหน่วยบริการที่ข้าราชการสามารถทำการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ยังไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้อย่างทันท่วงที (real time) ดังนั้น หากไม่มีหน่วยงานกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาโดยเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัด อาจเป็นช่องว่างที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาและการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม อีกทั้ง ใช้สิทธิเกินความจำเป็น หรือใช้สิทธิโดยทุจริตได้อีกทางหนึ่ง
ประเด็นที่ 2: มาตรการที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ ประเด็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด พบปัญหาว่า กรณีกรมบัญชีกลางตัดสิทธิการเบิกจ่ายตรงข้าราชการที่มีพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายยาไม่เหมาะสมแล้ว แต่ข้าราชการรายดังกล่าวยังคงสามารถนำใบเสร็จไปเบิกค่ารักษาพยาบาลกับหน่วยงานต้นสังกัดได้เช่นเดิม ดังนั้น หากหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่สามารถทำการเบิกจ่ายยาได้ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพหรือแนวทางการลงโทษอย่างจริงจังและเข้มงวด อาจเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรในสังกัดมีพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาและเบิกจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ 3: มาตรการที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ประเด็นให้หน่วยงานและหน่วยบริการ ซึ่งข้าราชการสามารถเบิกจ่ายยาได้ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล กำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรม ฯ เพื่อบังคับใช้ได้ครอบคลุมกับทุกหน่วยงานและหน่วยบริการ นั้น พบปัญหาว่า หน่วยงานและหน่วยบริการในสังกัด (1) กระทรวงกลาโหม (2) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ (3) กระทรวงศึกษาธิการ (4) กระทรวงยุติธรรม (5) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (6) กระทรวงมหาดไทย และ (7) กระทรวงการคลัง ได้นำหลักเกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของกระทรวงสาธารณสุข มาปรับใช้กับหน่วยงานและหน่วยบริการในสังกัด แต่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยามาบังคับใช้เฉพาะในหน่วยงานและหน่วยบริการในสังกัดแต่อย่างใด ดังนั้น หากหน่วยงานข้างต้น ยังไม่มีแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่จะสามารถกำกับดูแลหรือบังคับใช้ได้ครอบคลุมกับทุกโรงพยาบาลในสังกัดอย่างเป็นรูปธรรม อาจเกิดความเสี่ยงต่อการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาและส่งเสริมการขาย โดยขาดจริยธรรมซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการทุจริตได้
นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า "ปัจจุบันยังพบปัญหาการทุจริตยาของโรงพยาบาลที่ปรากฏข่าวตามสื่อ โดยมีการนำยาไปขายต่อให้กับบุคคลภายนอก ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2568 โดยมีพฤติการณ์กระทำความผิดร่วมกันในลักษณะของการวางแผนตระเตรียมการให้มีการจัดหาบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ มาตรวจรักษากับแพทย์ที่อยู่ในกระบวนการ โดยมีข้าราชการทหารรายหนึ่งทำหน้าที่จัดหาคนมารักษา แล้วนำยาที่ได้รับมาทั้งหมดไปขายตามคลินิก เพื่อนำเงินที่ได้มาแบ่งให้กับผู้ร่วมขบวนการ ทั้งนี้ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 80 ล้านบาท ทั้งนี้ พฤติกรรมการทุจริตยาข้างต้น มีลักษณะการทุจริตประกอบด้วย 2 วิธีควบคู่กัน คือ การช้อปปิ้งยาและการยิงยา โดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายจะสามารถตรวจสอบได้เฉพาะการเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมของแพทย์ว่าสั่งจ่ายยาประเภทใด จำนวนเท่าใด หรือรักษาด้วยโรคอะไรได้ เพราะการทุจริตด้วยวิธีการยิงยา มีสาเหตุจากพฤติกรรมของแพทย์ ในส่วนการช้อปปิ้งยา มีสาเหตุจากการที่โรงพยาบาลไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพและยากับโรงพยาบาลที่อยู่นอกสังกัด ดังนั้น ทุกหน่วยงานและหน่วยบริการที่ข้าราชการสามารถทำการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช."
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าว จะสามารถผลักดันมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ นำไปสู่การปฏิบัติให้ครอบคลุมกับหน่วยงานและหน่วยบริการทั้งหมด ที่ข้าราชการสามารถทำการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ต่อไป