Contrast
Font
fa7537d00b3484a171a7ed29be5cd01f.jpg

ป.ป.ช. กระตุ้นภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA 2568 จำนวน 8,327 หน่วยงาน จัดทำข้อมูล OIT เพื่อเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ตอกย้ำความโปร่งใสของหน่วยงาน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 50

25/04/2568

ป.ป.ช. กระตุ้นภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA 2568 จำนวน 8,327 หน่วยงาน จัดทำข้อมูล OIT เพื่อเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ตอกย้ำความโปร่งใสของหน่วยงาน

 

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment)) หรือที่เรียกว่า การประเมิน ITA ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นมาตรการที่สำคัญในการพัฒนาภาครัฐด้านคุณธรรม ความโปร่งใส อันจะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตในภาครัฐได้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 จะเป็นการประเมิน ITA ที่มีความชัดเจน เข้าใจง่ายสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งยังส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน โปร่งใส ตรงไปตรงมา และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน

 

นอกจากนี้ การประเมิน ITA ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของหน่วยงานภาครัฐในทางปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองให้ทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ส่งผลให้หน่วยงานมีการจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบระเบียบ อีกทั้งประชาชนยังได้รับบริการจากภาครัฐที่ดีขึ้น และส่งผลให้ประชาชนและสาธารณชนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกำกับติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานผ่านการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของหน่วยงานภาครัฐได้มากขึ้น โดยผ่านเครื่องมือแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ OIT (Open Data Integrity and Transparency Assessment)

 

มาทำความรู้เครื่องมือที่เรียกว่า OIT

แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ OIT (Open Data Integrity and Transparency Assessment) เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน เพื่อที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ใน 2 ตัวชี้วัด ได้แก่

  1. ตัวชี้วัดการเปิดเผยข้อมูล ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ (1) ข้อมูลพื้นฐาน (2) การบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณ (3) การจัดซื้อจัดจ้าง (4) การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และ (5) การส่งเสริมความโปร่งใส
  2. ตัวชี้วัดการป้องกันการทุจริต ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ (1) การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตในประเด็นสินบน และ (2) การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตอบแบบวัด OIT

  • เป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่จะรายงานข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือการดำเนินการต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
  • หน่วยงานต้องระบุ URL ที่เป็นเว็บไซต์หลักของหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความครบถ้วนลงในระบบ ITAS
  • หน่วยงานต้องรักษาและคงสภาพเว็บไซต์ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกช่วงเวลา
  • หน่วยงานจะต้องตอบแบบวัด OIT โดยระบุ URL ของข้อมูลที่มีความครบถ้วนตามองค์ประกอบด้านข้อมูลของแต่ละข้อคำถามลงในระบบ ITAS
  • ผู้บริหารของหน่วยงานจะเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อยื่นยันความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูล และอนุมัติคำตอบทุกข้อในแบบวัด OIT โดยหน่วยงานจะต้องดำเนินการอนุมัติให้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • กรณีหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการอนุมัติแบบวัด OIT ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด ผลคะแนนในส่วนของแบบวัด OIT ของหน่วยงานจะเป็น 0 คะแนน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการอนุมัติแบบวัด OIT ตามข้อมูลที่หน่วยงานได้ระบุไว้ในระบบ ITAS ณ วันและเวลาที่สิ้นสุดการดำเนินการตอบและอนุมัติแบบวัด OIT

 

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA 2568 จำนวนทั้งสิ้น 8,327 หน่วยงาน นำข้อมูลลงเว็บไซต์ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ลงในระบบ ITAS ให้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐสามารถศึกษาและดาวน์โหลดเอกสาร ได้ที่ https://itas.nacc.go.th (คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568)

 

มาร่วมกันสะท้อนภาพความโปร่งใสของราชการไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อเสนอแนะที่ได้จากประชาชนและผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐไปใช้ปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทยต่อไป

Related