จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3986
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ จำนวน 3 เรื่อง
วันนี้ ( 10 สิงหาคม 2566) เวลา 15.00 น. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดตะกั่วป่า สำนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พร้อมพวก เรียกรับประโยชน์จากญาติของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีครอบครองอาวุธปืน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้มีการลงโทษผู้ต้องหาในสถานเบา
สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหานายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดตะกั่วป่า สำนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พร้อมพวก เรียกรับประโยชน์จากญาติของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีครอบครองอาวุธปืน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้มีการลงโทษผู้ต้องหาในสถานเบา
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลาประมาณ 02.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้จับกุมผู้ต้องหารายหนึ่ง พร้อมแจ้งข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันควร ภายหลังส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ ได้มีการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานยิงปืนที่ใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องคดี นายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ ในฐานะอัยการจังหวัดตะกั่วป่า ได้เรียกเงินจากญาติของผู้ต้องหา จำนวน 500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือให้มีการลงโทษผู้ต้องหาในสถานเบา ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนายธรรมะ หรือ ชินโชติ สอนใจ กับญาติผู้ต้องหา เมื่อญาติของผู้ต้องหาไม่จ่ายเงินตามที่เรียก นายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ ได้มีคำสั่งฟ้องโดยบรรยายฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมร่างคำฟ้องของพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนบิดเบือนข้อเท็จจริงในคดีว่าผู้ต้องหาได้พาอาวุธและเครื่องกระสุนปืนเข้าไปในสถานบริการบิ้วแฟคทอรี่ ทั้งที่ในสำนวนการสอบสวนไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้พาอาวุธและเครื่องกระสุนปืนเข้าไปในสถานบริการบิ้วแฟคตอรี่แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้ร่างคำฟ้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้ต้องหาในสถานหนัก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย
การกระทำของนายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 200 วรรคสอง และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85 (8)
สำหรับมูลความผิดทางวินัย เนื่องจากคณะกรรมการอัยการ ได้มีคำสั่งที่ 5/2565 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2565 ลงโทษไล่ออกนายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ ในการกระทำความผิดนี้เหมาะสมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) อีก
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษากับนายธรรมะ หรือชินโชติ สอนใจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
เรื่องที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid – 19) โดยมิชอบ
สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหานายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมพวก ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19) โดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อเดือนเมษายน 2563 นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการและงบประมาณ และสั่งการให้นางสาวสุกัญญา ศิริวิชัย เจ้าพนักงานพัสดุชำนาญงาน ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่พัสดุ จัดทำเอกสารรายงานขอซื้อวัสดุอุปกรณ์ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และคณะกรรมการ ตรวจรับพัสดุ เสนอผ่านนางเพ็ญศรี แสงดารา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และนายแสวง สำราญดี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ไปยังนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ เพื่อลงนามอนุมัติ โดยให้ยึดถือปริมาณ จำนวน และราคากลาง ตามเอกสารลายมือเขียนของนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ โดยมีนายคุณาวุฒิ ไชยคำภา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ คนใกล้ชิด คอยติดตามเร่งรัดงานโครงการดังกล่าว อีกทั้งนายบุญเลิศ สุ่มมาตย์ ยังเป็นผู้ติดต่อตกลงราคาไว้กับ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร โดยนายสมศักดิ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวศิริภรณ์ ศรีบุรินทร์ นางสาวเสาวลักษณ์ ศรีบุรินทร์ และนางสาวยุภาภรณ์ ทิพเจริญ บริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนางสาวสายฝน ทองแถม และร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง โดยนางบุญมนี ธนกิจชัยชนะ ซึ่งเป็นผู้ขาย มาตั้งแต่ต้น และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาววัชราภรณ์ บุญญะภูมมะ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัสดุดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกองโท ดร. คมคาย อุดรพิมพ์ ได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 7,360,000 บาท โดยสัญญาฉบับที่ 1 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 6 รายการ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร โดยมีอุปกรณ์ 3 รายการที่มีราคาสูงกว่าปกติ ได้แก่ หน้ากากอนามัยชนิดผ้า 2 ชั้น ตามสัญญาจัดซื้อจำนวน 120,000 ชิ้น ๆ ละ 15 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาโหลละ 49 บาท คิดเป็นชิ้นละ 4.08 บาท ชุดสวมป้องกันฝุ่นและของเหลว ตามสัญญาจัดซื้อ 3,600 ชุด ๆ ละ 310 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาชุดละ 140 บาท และสเปรย์แอลกอฮอล์ 75% ตามสัญญาจัดซื้อ จำนวน 10,000 ขวด ๆ ละ 120 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาขวดละ 118 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,942,400 บาท ฉบับที่ 2 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 1 รายการ จากบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด คือ น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด - 19 จำนวน 400 แกลลอน ๆ ละ 3,040 บาท ช่วงเกิดเหตุมีราคาแกลลอนละ 2,625 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 1,050,000 บาท ฉบับที่ 3 จัดซื้อวัสดุ จำนวน 1 รายการ จากร้านมาร์จิ้น เทรดดิ้ง คือ เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จำนวน 350 เครื่อง ๆ 3,900 บาท ช่วงเกิดเหตุ มีราคาเครื่องละ 1,350 บาท จึงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ จำนวน 892,500 บาท รวม 3 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 3,884,900 บาท
และในการเบิกจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ขาย พบว่า นางเบญจมาศ ศิริมูล หัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งเป็นผู้จัดทำเช็ค และนางสาวขวัญใจ ปรีพูล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเช็ค ได้จ่ายเช็ค โดยมิได้ให้ผู้รับเช็คลงลายมือชื่อรับเช็คในรายงานการจัดทำเช็ค และต้นขั้วเช็ค ด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุรินทร์การเกษตร และบริษัท สยามอินเตอร์กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
เรื่องที่ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย พร้อมพวก กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ
สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหานายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก รวม 16 ราย ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในการจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2556 นายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย ได้สั่งการให้นายสุชนา ศรีสิยวรรณ ผู้ใต้บังคับบัญชา ติดต่อไปยังพนักงานของบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้ประมาณการราคานาฬิกาเพื่อนำไปใช้กำหนดวงเงินงบประมาณโครงการ จากนั้นได้มีการกำหนดวงเงินงบประมาณโครงการ เป็นเงินจำนวน 15,122,845 บาท และในขั้นตอนการจัดทำร่าง TOR และเอกสารประกวดราคา นายสุชนา ศรีสิยวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการกำหนดร่าง TOR และร่างเอกสารประกวดราคา (ชุดเดิม) และเป็นประธานกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของงาน (ชุดใหม่) ได้ร่วมมือกับพนักงานของบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด กำหนดคุณลักษณะของนาฬิกาที่จะใช้ในโครงการดังกล่าว โดยกรรมการผู้จัดการบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งสนิทสนมกับนายศราวุธ พงษ์สงวนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท อิควิป แมน จำกัด (ผู้ชนะการประกวดราคา) สั่งการให้พนักงานของบริษัท อินสแตนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ติดต่อกับบริษัท พรีเซียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อกำหนดจุดติดตั้งและรายละเอียดของนาฬิกา รวมทั้งแก้ไขคุณสมบัติของนาฬิกาให้เป็นไปตามที่ต้องการ ทั้งที่การจัดทำร่าง TOR เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดร่าง TOR จากนั้นนายสมคิด หรือชรัณ ศึกขันเงิน หรือภู่พานิชพงศ์ และนายภัทร เสถียรกาล กรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของงาน (ชุดใหม่) ร่วมกับนายสุชนา ศรีสิยวรรณ ได้นำร่าง TOR และร่างเอกสารประกวดราคาฉบับเดิมมาปรับแก้มูลค่าผลงานแล้วเสนอขออนุมัติร่าง TOR ต่อมาในขั้นตอนการขออนุมัติเพื่อจัดจ้างโครงการปรากฏว่านายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ และนางสาวจุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ เจ้าหน้าที่พัสดุ ไม่ได้เสนอราคามาตรฐานหรือราคากลางของทางราชการหรือราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณให้หัวหน้าส่วนราชการใช้ประกอบดุลพินิจในการอนุมัติจัดจ้าง ทั้งไม่ได้รายงานว่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวไม่มีราคามาตรฐานหรือราคากลางของทางราชการหรือราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ และในขั้นตอนการยื่นซองประกวดราคาปรากฏว่ามีเพียงบริษัท อิควิป แมน จำกัด และบริษัท พรีเซียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ยื่นซองประกวดราคา โดยทั้งสองบริษัทต่างยื่นเสนออุปกรณ์นาฬิกายี่ห้อ Bodet โดยบริษัท อิควิป แมน จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 14,891,083 บาท คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาประกอบด้วย นายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล นายมานิตย์ หน่องพงษ์ นายคม แสงแก้ว นางสาวจุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ และนางสาวสายสมร ตระกูลอำนวยผล ได้พิจารณาให้บริษัท อิควิป แมน จำกัด ชนะการประกวดราคาและเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญา ทั้งที่ บริษัท อิควิป แมน จำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายและติดตั้งระบบนาฬิกาตามประกาศประกวดราคา จนกระทั่งมีการอนุมัติจัดจ้างและลงนามในสัญญาโดยที่นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ รองเลขาธิการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติไม่ได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และในขั้นตอนการส่งมอบงาน บริษัท อิควิป แมน จำกัด ไม่ได้สั่งนำเข้านาฬิกาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง แต่สั่งซื้อนาฬิกาจากบริษัท พรีเซียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด (ผู้เสนอราคาอีกราย) มาส่งมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และยังพบว่าบริษัท อิควิป แมน จำกัด มีการปลอมหนังสือรับรองผลงานและสัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ได้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัท อิควิป แมน จำกัด และได้บอกเลิกสัญญาในเวลาต่อมา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 วรรคสอง ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด สิทธิการดำเนินคดีอาญาย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ให้ยุติการดำเนินคดีตามฐานความผิดดังกล่าว
สำหรับความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง รายนายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ นายสมคิด หรือชรัณ ศึกขันเงิน หรือภู่พานิชพงศ์ และนายภัทร เสถียรกาล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งลงโทษลดเงินเดือนเป็นการเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยอีก
สำหรับการกระทำของนางสาวจุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ ในฐานะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 3 (4) และข้อ 6 (7)
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย นายสุชนา ศรีสิยวรรณ นายศราวุธ พงษ์สงวนสุข บริษัท อิควิป แมน จำกัด นางสาวดวงกมล อุดมกิจปัญญา และบริษัท พรีเชียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ นายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล นายมานิตย์ หน่องพงษ์ นายคม แสงแก้ว นางสาวจุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ นางสาวสายสมร ตระกูลอำนวยผล และนายสุขนา ศรีสิยวรรณ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
...................................................................
การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด
ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด