Contrast
Font
a722740ce7ffc2c699dcc2c18194f274.jpg

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ จำนวน 3 เรื่อง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 582

02/01/2568

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ  จำนวน 3 เรื่อง

      วันนี้ (2 มกราคม 2568) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้  

       เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ราย ฝากผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนแทน ในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 โดยที่ตนเองไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
(3 สำนวนคดี)

       ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ได้ปรากฏชื่อนายชัยวุฒิ  ผ่องแผ้ว และนายภิรพล 
ลาภาโรจน์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และนายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย แสดงตนและลงคะแนนทั้งที่บุคคลทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดระยะเวลาที่มีการประชุม เนื่องจากมีการเดินทางไป - กลับ ต่างจังหวัดโดยเครื่องบิน กรณีจึงรับฟังได้ว่านายชัยวุฒิ  ผ่องแผ้ว นายภิรพล  ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ ได้ฝากบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือยินยอมให้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์กดปุ่มแสดงตนและลงคะแนนแทนในการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

       คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

       การกระทำของนายชัยวุฒิ  ผ่องแผ้ว  นายภิรพล  ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)

        ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76

      เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีกล่าวหา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย  รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลใด เนื่องจากยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลแทนให้แก่ตนเอง

      ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2562 และวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 มีค่ารักษาพยาบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,223 บาท นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้ยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแทนตนเอง รวมเป็นเงินจำนวน 1,335,778 บาท และได้นำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาไปเบิกค่ารักษาพยาบาล  จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเบิกจ่ายได้เป็นเงิน จำนวน 495,409.50 บาท มีส่วนที่เกินสิทธิไม่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นเงินจำนวน 953,813.50 บาท ต่อมานายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ  ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลหนึ่งในสามราย ที่ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนตน เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 2455/2563 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 การกระทำของนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ จึงเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

       คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

       การกระทำของนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ  มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ  ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมีมูลความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรม   ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27

                     

       ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้เสนอเรื่องกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 และมาตรา 87 ประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 แล้วแต่กรณีต่อไป

    เรื่องที่ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายพฤทธิ์ บุปผาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) รักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (FZ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก ร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายประเภท Non - ACMI ให้แก่บริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด จำนวน 10,550,653.17 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยมิชอบ

      สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายพฤทธิ์  บุปผาคำ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ (DN) รักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (FZ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก ทุจริตการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าบนอากาศยาน (Aircraft Block Space Agreement) โดยวิธีพิเศษ กับบริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด (Southern Air Inc. (SAI)) ตามสัญญาลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมิชอบ และได้ยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนว่า ในระหว่างดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการชำระค่าใช้จ่ายประเภท Non-ACMI ให้แก่บริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด โดยมิชอบด้วย

     ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 นายพฤทธิ์  บุปผาคำ ได้อนุมัติเงินค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมลงจอด (Landing Fee) และค่านำร่อง (Navigation Fee) ให้แก่บริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด (Southern Air Inc. (SAI)) ซึ่งเรียกเก็บเงินดังกล่าวมาพร้อมกับใบแจ้งหนี้ค่าจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 ตามสัญญาลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 และนายพูนศักดิ์  ชุมช่วย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายระวางสินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ (FP) ได้มีหนังสือยืนยันไปยังฝ่ายบัญชีการเงินว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้าน Non-ACMI ได้แก่ Navigation… Landing & Parking… ทั้งที่นายพฤทธิ์  บุปผาคำ และนายพูนศักดิ์  ชุมช่วย ทราบดีอยู่แล้วว่าตามสัญญาจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าบนอากาศยาน (Aircraft Block Space Agreement) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายประเภท Non-ACMI หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมลงจอด (Landing Fee) และค่าธรรมเนียมนำทาง (Navigation Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด (Southern Air Inc. (SAI)) เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่สามารถขอรับชำระคืนจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  ได้การกระทำของนายพฤทธิ์ บุปผาคำ และนายพูนศักดิ์ ชุมช่วย ดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมลงจอด (Landing Fee) และค่านำร่อง (Navigation Fee) ให้แก่บริษัท เซาเทิร์นแอร์ จำกัด (Southern Air Inc. (SAI)) เป็นเงินจำนวน 19,892.31 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และต้องชำระเงินตามที่ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (FZ) เสนอมาโดยตลอดจนถึงเดือนสิงหาคม 2554 ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,550,653.17 ดอลลาร์สหรัฐ (USD)  

      คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

      การกระทำของนายพฤทธิ์  บุปผาคำ และนายพูนศักดิ์  ชุมช่วย มีมูลความผิดทางอาญา   ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

     ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง

     จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

     *** การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

     ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

Related