จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 466
ความเป็นมาของโครงการบรรษัทภิบาลดีเด่น
การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญซึ่งได้แพร่กระจายขยายวงกว้างไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอดทั้งระดับประเทศ ท้องถิ่น ข้าราชการ และภาคเอกชน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม เสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันการทุจริตมีลักษณะเป็นวัฏจักรและเครือข่ายที่เกิดขึ้น ในทุกระดับและเป็นระบบ และผลการดำเนินงานของภาคเอกชนไม่น้อยที่ขาดรากฐานที่ดี ขาดรากฐานบรรษัทภิบาลที่คอยค้ำจุนการเติบโตให้มั่นคงและยั่งยืน ขาดความสุจริตต่อผู้ถือหุ้น ต่อภาครัฐและต่อสาธารณชน คำนึงถึงวิธีการปฏิบัติเพียงแต่มุ่งเน้นให้เกิดกำไรระยะสั้น ขาดความรอบคอบ โดยไม่คำนึงถึงกลไกการบริหารบริษัท ดังนั้นปัญหาการขาดความเข้าใจในหลัก บรรษัทภิบาลที่แท้จริง และการขาดความเชื่อมโยงที่จะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ของการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลจึงน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการนำระบบบรรษัทภิบาลมาใช้กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในที่สุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีเป้าประสงค์หลักและยุทธศาสตร์ให้สังคมทุกภาคส่วนมีค่านิยมเชิดชูคุณธรรม จริยธรรม และวินัย โดยการรณรงค์เสริมสร้างวัฒนธรรมสุจริต ส่งเสริมธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จึงได้ร่วมกับคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดกิจกรรมขับเคลื่อนกลไกธรรมาภิบาลภาคธุรกิจเอกชนใน "โครงการมอบรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่กลุ่มสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีแนวทางในการประกอบธุรกิจการค้าด้วยหลักบรรษัทภิบาล โดยพิจารณาคัดเลือกและมอบรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่นให้กับภาคธุรกิจในระดับภูมิภาค ๕ ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แบ่งเป็นภาคละ ๓ รางวัล รวม ๑๕ รางวัล