Contrast
Font
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการภายในของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 649

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 26 พฤศจิกายน 2561

ที่มาและความสำคัญของปัญหา 

          ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการ ของสถานพยาบาลโดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือการใช้จ่ายเงินสวัสดิการของสถานพยาบาลโดยผิดวัตถุประสงค์ อยู่เนื่อง โดยพบปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ ปัญหา เกี่ยวกับที่มาของเงินบริจาคและรายได้อื่น ๆ ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการ ปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุน สวัสดิการ และปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานะกองทุนสวัสดิการ การตรวจบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการ ซึ่งช่องว่างอันเกิดจากปัญหาดังกล่าวอาจเป็นช่องทางในการกระทําทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง 

          คณะกรรมการ ... พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการภายในของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนี้

ข้อเสนอแนะ

          1. ข้อเสนอด้านการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ 

              1.1 ข้อเสนอแนะต่อสํานักงาน ก.พ

                    ให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายใน ส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ให้มีความครอบคลุมถึงกรณีคําแนะนําของศูนย์ประสานการจัดสวัสดิการ ข้าราชการ ตามหนังสือสํานักงาน ก.พ. ที่ นร 10127/14 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 เรื่อง แนวปฏิบัติการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงานของส่วนราชการ ตลอดจนให้พิจารณาถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์การจัดสวัสดิการของหน่วยงานราชการในปัจจุบัน 
                    ในระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชกร พ.ศ. 2547 ให้สํานักงาน ก.พ. ดําเนินการให้ส่วนราชการซึ่งอยู่ภายใต้ระเบียบ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการทุกแห่ง จะต้องดําเนินการให้ถูกต้อง ตามระเบียบฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกรณีส่วนราชการเดียวกันซึ่งมีหน่วยงานย่อยหลายแห่ง ซึ่งมีข้อจํากัด ทางด้านจํานวนบุคลากรที่มีน้อย และเกิดความไม่คุ้มค่าในเรื่องค่าใช้จ่ายสําหรับการตรวจสอบบัญชีเป็นผลทําให้ไม่สามารถดําเนินการจัดสวัสดิการโดยปฏิบัติตามระเบียบฯ ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนอาจพิจารณาให้ดําเนินการจัดสวัสดิการร่วมกันของหน่วยงานย่อยภายใต้ส่วนราชการเดียวกันได้ ตามข้อ 4 ของระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการของโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ ของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น 

               1.2 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข 

                     ให้ส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดทุกแห่งที่มีการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงาน ส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดไม่มีคณะกรรมการสวัสดิการ พ.ศ. 2554 กรณีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลซึ่งมีข้อจํากัดทางด้านจํานวนบุคลากรที่มีจํานวนน้อย และเกิดความไม่คุ้มค่าในเรื่องค่าใช้จ่ายสําหรับการตรวจสอบบัญชีเป็นผลทําให้ไม่สามารถดําเนินการจัดสวัสดิการ โดยปฏิบัติตามระเบียบฯ ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน 
                     อาจพิจารณาดําเนินการโดยให้มีการจัดสวัสดิการร่วมกันของหน่วยงานย่อยในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการของโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันหรืออาจพิจารณาดําเนิน การจัดสวัสดิการโดยแต่งตั้งให้มี คณะอนุกรรมการสวัสดิการของหน่วยงานในสังกัดสํานักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการของสถานพยาบาลทุกแห่งเป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัด สวัสดิการภายใน ส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงานส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดไม่มีคณะกรรมการ สวัสดิการ พ.ศ. 2554 อย่างเคร่งครัด

          2. ข้อเสนอแนะด้านที่มาของเงินบริจาคและรายได้อื่น ๆ ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการ 

              2.1 ข้อเสนอแนะต่อสํานักงาน ก.พ. 

                    ให้พิจารณาดําเนินการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคําสั่ง เพื่อกําหนดกรอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการบริจาค การหาหรือการรับรายได้อื่น ๆ ของส่วนราชการ เพื่อนําเข้าสู่กองทุนสวัสดิการ เพื่อป้องกันปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) ระหว่าง ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นสมาชิกสวัสดิการ โดยในลักษณะ การบริจาคเงิน/รายได้ ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการภายในของส่วนราชการ จะต้องไม่สัมพันธ์กับการจัดซื้อจัดจ้าง ของส่วนราชการนั้น ๆ รวมถึงห้ามมิให้ส่วนราชการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภท จากภาคเอกชนเข้ากองทุนสวัสดิการภายในของส่วนราชการ 

              2.2 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข 

                    2.2.1 ห้ามมิให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้าง ทําการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญากับหน่วยงาน นําเข้าเป็นรายได้ของกองทุนสวัสดิการ 

                    2.2.2 กรณีบริษัทผู้จําหน่ายยาและเวชภัณฑ์ หรือภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับ หน่วยงาน มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการโดยส่วนรวม บริษัทผู้จําหน่ายยา และเวชภัณฑ์สามารถบริจาคให้แก่สถานพยาบาลได้โดยตรง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ. 2526 

                    2.2.3 กรณีที่บริษัทผู้จําหน่ายยาและเวชภัณฑ์ หรือภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญา กับหน่วยงาน มีการให้ส่วนลด ส่วนแถม จากการจัดซื้อค่ายาและเวชภัณฑ์ ห้ามมิให้สถานพยาบาลดําเนินการ นําเงินส่วนลดที่ได้ดังกล่าวเข้าเป็นรายได้ของกองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล โดยต้องนําเงินดังกล่าวกลับคืน เข้าเป็นงบประมาณแผ่นดิน 

                    2.2.4 ให้กําหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์การหา/การรับรายได้อื่น ๆ ของสถานพยาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) ระหว่างผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นสมาชิกสวัสดิการ โดยในลักษณะการบริจาคเงิน/รายได้ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการภายในของสถานพยาบาลจะต้องไม่สัมพันธ์กับการจัด ซื้อจัดจ้าง ของสถานพยาบาลนั้น ๆ และในกรณีอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนทุนวิจัย ทุนการศึกษาตลอดจนการฝึกอบรม และการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทผู้จําหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้บริหาร สถานพยาบาลพิจารณาโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและประชาชนเป็นสําคัญ

          3. ข้อเสนอแนะด้านการใช้จ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ 

              3.1 ข้อเสนอแนะต่อสํานักงาน ก.พ.

                    3.1.1 พิจารณากําหนดวัตถุประสงค์ กรอบ/หลักเกณฑ์หรือประเภทของการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น กําหนดประเภทกิจกรรมหรือสวัสดิการภายในส่วนราชการ ว่าสวัสดิการประเภทใดบ้างที่สามารถจัดให้มีการดําเนินการได้หรือไม่สามารถดําเนินการได้ เป็นต้น 

                    3.1.2 พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์/ขั้นตอนสําหรับการดําเนินการตามข้อ 10 (4) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 กรณีคณะกรรมการ สวัสดิการภายในส่วนราชการของแต่ละส่วนราชการ ประสงค์จะจัดให้มีกิจกรรมหรือสวัสดิการประเภทอื่นใด ซึ่งนอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามข้อ 10 ต้องดําเนินการแจ้งมายังคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ (สํานักงาน ก.พ.) เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติและให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการใช้จ่ายเงินผิดประเภทหรือ ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ รวมถึงการกําหนดให้การใช้จ่ายเงินสวัสดิการนอกกรอบ วัตถุประสงค์ต้องถือว่าเป็นการกระทําผิด 

                    3.1.3 พิจารณากําหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการแก่สมาชิกกองทุนฯ เป็นไปด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม

             3.2 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข 

                   3.2.1 พิจารณากําหนดวัตถุประสงค์ กรอบ/หลักเกณฑ์หรือประเภทของการจัด สวัสดิการภายในส่วนราชการ ตามระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงานส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดไม่มี คณะกรรมการสวัสดิการ พ.ศ. 2554 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น กําหนดประเภทกิจกรรมหรือสวัสดิการ ว่าสวัสดิการประเภทใดบ้างที่สามารถจัดให้มีการดําเนินการได้หรือไม่สามารถดําเนินการได้ 

                   3.2.2 กรณีที่คณะอนุกรรมการสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานประสงค์จัดให้มี สวัสดิการภายในหน่วยงานที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามข้อ 10 ของระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการสํานักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงานส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุขที่จังหวัดไม่มีคณะกรรมการสวัสดิการ พ.ศ. 2554 ให้คณะอนุกรรมการสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานดําเนินการแจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจะสามารถ ดําเนินการได้ต่อเมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติและให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ หากเป็นกรณีซึ่งมีการดําเนินการ จัดสวัสดิการโดยมิได้รับการอนุมัติและความเห็นชอบหรือมีการใช้จ่ายเงินกองทุนสวัสดิการนอกกรอบวัตถุประสงค์ ที่กําหนดต้องถือว่าเป็นการกระทําผิด 

                    3.2.3 กําหนดกรอบหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ เพื่อให้การจัดสรร สวัสดิการแก่สมาชิกกองทุนฯ เป็นไปด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม 

          4. ข้อเสนอแนะด้านการตรวจสอบสถานะกองทุนสวัสดิการ การตรวจบัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการ 

             4.1 ข้อเสนอแนะต่อสํานักงาน ก.พ. 

                   4.1.1 พิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของศูนย์ประสานการจัดสวัสดิการ ข้าราชการ ตามที่กําหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ให้ถูกต้อง ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดําเนินการประเมินผลการจัด สวัสดิการภายในส่วนราชการของส่วนราชการต่าง ๆ 

                   4.1.2 ประสานส่วนราชการแต่ละแห่งเพื่อให้ดําเนินการรายงานผลการดําเนินงาน ข้อมูลรายละเอียดที่มาและการใช้จ่ายเงินสวัสดิการภายในส่วนราชการ รวมถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรค ของการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ไปยังศูนย์ประสานการจัดสวัสดิการข้าราชการ สํานักงาน ก.พ. เพื่อสร้าง กระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานว่าเป็นไปตามกรอบ วัตถุประสงค์ของการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการหรือไม่ อย่างไร

                   4.1.3 ดําเนินการตรวจสอบรายงานผลการจัดสวัสดิการฐานะของกองทุนสวัสดิการบัญชี บัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการของส่วนราชการในแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบ เงินรายได้ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการของหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่ง ในกรณีเงินบริจาคและรายได้อื่น ๆ ตามข้อ 14 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 โดยให้ ส่วนราชการแต่ละแห่งจัดทําบัชีและหลักฐานการรับจ่ายเงินบริจาคเพื่อการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ ดังกล่าวให้ชัดเจน ตลอดจนจัดทําฐานข้อมูลและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการจัดสวัสดิการ ของหน่วยงาน ฐานะของกองทุนสวัสดิการ บัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการของแต่ละส่วนราชการ บนเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่ง เพื่อให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกัน 

                   4.1.4 กําหนดให้กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการแต่ละแห่งต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินโดยผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (External Audit) ในอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมีการรายงานผลการสอบบัญชีและรายงานการประเมินผลการจัดสวัสดิการ ต่อคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ (สํานักงาน ก.พ.) ทั้งนี้ ในกรณีที่พบหรือมีเหตุอันควรสงสัย ต่อการดําเนินการจัดสวัสดิการของส่วนราชการใด ๆ ให้คณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ สํานักงาน ก.พ. สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดําเนินการของกิจการสวัสดิการภายในส่วนราชการ ตามอํานาจหน้าที่ในข้อ 32 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 โดยภายหลัง หากปรากฏว่าเป็นการกระทําความผิด ให้คณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ (สํานักงาน ก.พ.) รายงานผล การสอบสวนดังกล่าวไปยังส่วนราชการต้นสังกัดและหน่วยงานด้านตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เช่น สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สํานักงาน ป.ป.ท.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) เป็นต้น เพื่อดําเนินการลงโทษผู้กระทําความผิดทั้ง ทางแห่ง ทางอาญาและทางวินัยต่อไป 

                4.2 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข 

                      4.2.1 ให้คณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานคณะอนุ กรรมการสวัสดิการของสถานพยาบาลแต่ละแห่งภายใต้สังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดําเนินการรายงานผลการดําเนินงาน ข้อมูลรายละเอียดที่มาและการใช้จ่ายเงินสวัสดิการภายในส่วนราชการ รวมถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและกลไกการตรวจสอบตามข้อ 8 และข้อ 15 ของระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงาน ส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดไม่มีคณะกรรมการสวัสดิการ พ.ศ. 2554 อย่างเคร่งครัด 

                      4.2.2 ให้คณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดําเนินการ ตรวจสอบรายงานผลการจัดสวัสดิการ ฐานะของกองทุนสวัสดิการ บัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการ ของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเงินรายได้ที่เข้าสู่กองทุนสวัสดิการในกรณี เงินบริจาคและรายได้อื่น ๆ และกําหนดให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งที่ดําเนินการจัดสวัสดิการตามระเบียบฯ ต้องจัดทําบัญชีและหลักฐานการรับจ่ายเงินบริจาคเพื่อการจัดสวัสดิการภายในของหน่วยงานให้ชัดเจน ตลอดจนจัดทําฐานข้อมูลและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการจัดสวัสดิการของหน่วยงาน ฐานะ ของกองทุนสวัสดิการ บัญชีรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน/สถานพยาบาล แต่ละแห่ง เพื่อให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกัน 

                      4.2.3 กําหนดให้กองทุนสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงานส่วนภูมิภาคสังกัดสํานักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดไม่มีคณะกรรมการสวัสดิการ พ.ศ. 2554 ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรอง บัญชีและการเงินโดยผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (External Audit) ในอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะมีการรายงานผลการจัดสวัสดิการของหน่วยงานและผลการตรวจสอบการเงินและบัญชีต่อคณะกรรมการ สวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ในกรณีที่พบหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อการดําเนินการ จัดสวัสดิการของหน่วยงาน/สถานพยาบาลใด ๆ ให้คณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการดําเนินการของกิจการสวัสดิการหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณี ที่ปรากฏว่าอาจเป็นการกระทําความผิดให้พิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ สํานักงาน ก.พ.) เพื่อดําเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามอํานาจหน้าที่ในข้อ 32 ของระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 โดยภายหลังหากปรากฏว่าเป็นการกระทําความผิด ให้คณะกรรมการสวัสดิการข้าราซการ (สํานักงาน ก.พ.) รายงานผลการสอบสวนดังกล่าวไปยังส่วนราชการ ต้นสังกัด และหน่วยงานด้านตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เช่น สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น เพื่อดําเนินการลงโทษผู้กระทําความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัยต่อไป 

                      4.2.4 ให้คณะกรรมการสวัสดิการ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานผลการดำเนินงาน ข้อมูลรายละเอียดที่มาและการใช้จ่ายเงินสวัสดิการภายในส่วนราชการ รวมถึงรายงาน ประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 25 และข้อ 33 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ไปยังศูนย์ประสาน การจัดสวัสดิการข้าราชการ สํานักงาน .พ. เพื่อสร้างกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่าย เงินสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานว่าเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ หรือไม่ อย่างไร

มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 รับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการภายในของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

         โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจะเร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยสำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2536 ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ ออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเงินบำรุง เงินบริจาค และทรัพย์สินบริจาคของหน่วยบริการ จำนวน 3 ฉบับ และกำกับ ติดตาม การจัดสวัสดิการภายในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การจัดสวัสดิการภายในของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย

สำนักงาน ก.พ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม วันที่ 27 กันยายน 2561
สำนักงาน ก.พ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม วันที่ 5 ตุลาคม 2561

 

 

 

Related