จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 386
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 27 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา/สภาพปัญหา
ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีคนต่างด้าวเป็นจำนวนมากเข้ามาครอบครองที่ดินในประเทศไทยในบริเวณเขตเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งที่ดินที่มีมูลค่าสูง โดยอาศัยคนไทยเป็นผู้ถือครองที่ดินแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กรณีคนต่างด้าวว่าจ้างให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนคนต่างด้าว การให้คู่สมรสของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือใช้สิทธิครอบครองแทน หรือกรณีคนต่างด้าวเข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลและมีอำนาจในการบริหารนิติบุคคลนั้น ๆ
เมื่อพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องปรากฏว่า คนต่างด้าวได้อาศัยช่องว่างของกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายในรูปแบบการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยให้ผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งให้การสนับสนุนหรือชี้ช่องให้ดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบหรือประโยชน์ที่มิควรได้โดยการทำธุรกรรมผ่านผู้ถือครองที่ดินแทน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยในการควบคุมดูแล หรืออาจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้คนต่างด้าวในการครอบครองที่ดิน ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศเป็นอันมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลในกรณีดังกล่าว จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเรื่องการครอบครองที่ดินของคนต่างด้าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ข้อเสนอแนะ
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอข้อเสนอแนะเรื่องการครอบครองที่ดินของคนต่างด้าว ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
ข้อเสนอเร่งด่วน
1. ให้กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งทำความเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนให้คนต่างด้าวเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินให้ถูกต้องตามช่องทางของกฎหมาย
2. ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดแนวทางและดำเนินการ ดังนี้
2.1 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการรับจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้น โดยให้สอบสวนให้ทราบแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุนของผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนรับจดทะเบียน
2.2 กรณีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบงบการเงินที่นิติบุคคลต้องยื่นต่อกรมทุกปี และพบว่านิติบุคคลนั้นมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินอันเนื่องมาจากการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหรือเพิ่มทุนในนิติบุคคลจนเปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ให้แจ้งกรมที่ดินเพื่อดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป
2.3 หากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลจนเกินสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลนั้น เป็นนิติบุคคลต่างด้าว
3. ให้กรมที่ดินมีหน้าที่ตรวจสอบการซื้อขายที่ดินในเขตเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว หรือบริเวณชายแดน ว่าผู้ซื้อมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือความสามารถในการซื้อที่ดินนั้น จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงผู้มีชื่อครอบครองที่ดินแทนคนต่างด้าว โดยให้มีการตรวจสอบฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ซื้อที่ดินย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งอาจพิจารณาจากหลักฐานการชำระภาษีเงินได้ประจำปีเป็นกลไกในการตรวจสอบ นอกจากนี้ให้มีการดำเนินคดี เพื่อลงโทษตามกฎหมายสำหรับผู้มีชื่อครอบครองที่ดินแทนคนต่างด้าวในลักษณะนี้ด้วย มิใช่เพียงแต่ไม่รับ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เท่านั้น
ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย กำกับ ติดตามการดำเนินงานและข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินในลักษณะดังกล่าว พร้อมทั้งให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
4. ให้กรมที่ดินควบคุม กำกับและติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าวตามหนังสือ กระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.2/ว23613 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 เพื่อให้มีการปฏิบัติโดยเคร่งครัด
5. ให้กรมที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการข้อมูลการครอบครองที่ดิน การซื้อขายที่ดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีบุคคลต่างด้าวเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ราชการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลกับกรมที่ดิน
6. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดให้มีศูนย์ข้อมูลบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจและครอบครองที่ดิน เพื่อบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวทั้งในระดับส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น โดยให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลัก
7. ให้กรมที่ดินและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองที่ดินของคนต่างด้าว
8. ให้มีการปลุกจิตสำนึกคนไทยที่เกี่ยวข้องไม่ให้สนับสนุน หรือช่วยเหลือคนต่างด้าวครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
9. ควรพิจารณาเพิ่มเงินสินบนแก่ผู้ชี้ช่องแจ้งเบาะแสกรณีคนไทยถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว หรือกรณีความผิดต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
ข้อเสนอระยะยาว
1. แก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยให้เพิ่มอัตราโทษสำหรับบุคคลที่ครอบครองที่ดินในฐานะเป็นตัวแทนของคนต่างด้าว ควรมีโทษทั้งจำทั้งปรับในอัตราที่สูง
2. แก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ดังนี้
2.1 แก้ไขบทนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” ในมาตรา 4 เพื่อให้ครอบคลุมถึงการที่คนต่างด้าวมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการของนิติบุคคลที่คนต่างด้าวก่อตั้งขึ้นมาโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนในการถือหุ้นหรือในการทำธุรกรรม
2.2 กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินการที่ครอบคลุมการทำธุรกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
3. ให้มีการทบทวนบัญชี 3 ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในส่วนของธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่คนไทยมีความพร้อมในการแข่งขันกับคนต่างด้าว
4. ให้พิจารณาทบทวนพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ว่ามีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยได้คลี่คลายลงแล้ว โดยรัฐบาลควรมีมาตรการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอแนะเรื่องการครอบครองที่ดินของคนต่างด้าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผลการพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยข้อเสนอเร่งด่วน กรมที่ดินและกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับที่จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติราชการ โดยบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ช่องว่างของกฎหมายในการถือครองที่ดินและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีหน่วยงานมีกฎหมายและระเบียบอยู่แล้ว ให้เร่งรัด กำชับเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ส่วนข้อเสนอระยะยาว กรมที่ดินและกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับไปศึกษาทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน (เรื่องเพิ่มโทษ) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (เรื่อง คนต่างด้าวมีอำนาจบริหารหรือครอบงำนิติบุคคล) และพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการพิจารณาดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. รับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับยกเว้นให้บุคคลต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เช่น พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... รวมทั้งมีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เห็นควรเพิ่มเงินสินบนแก่ผู้ชี้ช่องแจ้งเบาะแสกรณีคนไทยถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว หรือกรณีความผิดต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) จะรับไปศึกษานั้น สมควรจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบให้เหมาะสม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีกฎหมายและหลักเกณฑ์ใด ๆ รองรับ และให้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป
กระทรวงมหาดไทย เสนอ ครม.
หนังสือยืนยันมติ ครม. (แจ้งกระทรวงหมาดไทย)