Contrast
Font
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 582

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 21 มิถุนายน 2559

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนผู้บริหารท้องถิ่นว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายจำนวนมาก และเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุอันสืบเนื่องมาจากเรื่องกล่าวหาร้องเรียนดังกล่าว และเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554

ข้อเสนอแนะ

          1. มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติงานของสภาท้องถิ่น

          2. มาตรการด้านการบริหาร เสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยหลักธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงระบบการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ปรับปรุงระบบการเงิน การคลัง และการงบประมาณ ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          3. มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน เสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งจากฝ่ายสภาท้องถิ่น ฝ่ายกำกับดูแล ฝ่ายองค์กรอิสระ ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาช

          4. มาตรการด้านคุณธรรม จริยธรรม เสนอให้มีประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น และการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมและการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนและเยาวชนในท้องถิ่น

          โดยมีรายละเอียดของมาตรการแต่ละด้าน ดังนี้

          1. มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

              1.1 มาตรการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น

                    1.1.1 เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 
                             (1) หมวด 5 ผู้สมัคร การสมัครรับเลือกตั้ง และตัวแทนผู้สมัคร โดยเพิ่มบทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเปิดเผยในที่สาธารณะให้ประชาชนทราบ
                             (2) หมวด 6 ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเพิ่มบทบัญญัติ ดังนี้
                                   - กำหนดห้ามพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น
                                   - กำหนดห้ามผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแทรกแซงการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เช่น การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา
                              ทั้งนี้ ห้ามผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นแทรกแซง การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นด้วย

                              (3) หมวด 11 บทกำหนดโทษ โดยกำหนดบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น  เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต เป็นต้น
                                   นอกจากนั้น ให้เพิ่มบทบัญญัติลงโทษทางการเมือง ด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิตแก่ผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นตัวการร่วม ผู้ใช้ ผู้จ้างวานของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

                             (4) เพิ่มบทบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ในการตรวจสอบ และกลั่นกรองนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น

                    1.1.2 เสนอให้แก้ไขกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้
                             (1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 
                             (2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี 

               1.2 มาตรการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการปฏิบัติงานของสภาท้องถิ่น
                    เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง/องค์ประกอบของสภาท้องถิ่น ให้อยู่ในรูปแบบผสมผสาน กล่าวคือ ให้สภาท้องถิ่นประกอบด้วยสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานท้องถิ่นอีกส่วนหนึ่ง

               1.3 มาตรการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                     เสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน โดยให้การยกฐานะและการเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามบังคับของกฎหมาย กล่าวคือ แก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 42 โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีสภาพตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการจัดตั้งเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล ต้องดำเนินการจัดตั้ง (ยกฐานะ) เป็นเทศบาล ตามบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น

          2. มาตรการด้านการบริหาร

              2.1 มาตรการว่าด้วยหลักธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                    แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 4 บทนิยาม “ส่วนราชการ” โดยให้หมายความรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงานเป็นมาตรฐานเดียวกับส่วนราชการอื่น

              2.2 มาตรการปรับปรุงระบบการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                    เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 (ฉบับปัจจุบัน) หรือหากมีการออกระเบียบฯ ฉบับใหม่ ควรกำหนดให้มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
                    2.2.1 แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับอำนาจการจัดทำแผนพัฒนาฯ 
                             - ให้คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำ การแก้ไขเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงแผนพัฒนาฯ โดยอิสระ
                             - แก้ไขระเบียบฯ ข้อ 21 ให้การแก้ไขแผนพัฒนาฯ เป็นอำนาจของคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น
                    2.2.2 แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น ดังนี้
                             - ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีตัวแทนประชาคมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
                             - ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาจากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งได้รับการคัดเลือกและให้ความเห็นชอบโดยสภาท้องถิ่น  
                             - ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้คัดเลือกกันเอง
                    2.2.3 ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ โดยเพิ่มข้อกำหนด ดังนี้
                             - ให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลนำแผนชุมชนมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจน มีการกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึงในเขตท้องถิ่น 
                             - เพิ่มข้อกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ต้องนำร่างแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ได้จัดทำ แก้ไข เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแล้ว เสนอต่อสภาท้องถิ่นเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้
                    2.2.4 เสนอให้มีข้อกำหนดว่าด้วยการจัดทำและประสานแผนพัฒนาจังหวัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินการจัดทำและประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นมีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้น โดยกำหนดให้นายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย เป็นประธานกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับอำเภอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับจังหวัด
                    2.2.5 มาตรการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น
                             - ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยให้มีสัดส่วนผู้แทนประชาคมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
                             - ให้สภาท้องถิ่นเป็นผู้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ
                             - เพิ่มอำนาจคณะกรรมการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
                    2.2.6 เสนอให้แยกการติดตามแผนพัฒนา และการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ ให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดรูปแบบการติดตามและการประเมินผลแผนพัฒนาฯ ให้ชัดเจน และให้เพิ่มช่องทางการรายงานผลการติดตามและการประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ

              2.3 มาตรการปรับปรุงระบบการเงิน การคลัง และการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                    2.3.1 เสนอให้กำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บรายได้ที่มีความชัดเจน เช่น มีการกำหนดขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลาในการจัดเก็บรายได้
                    2.3.2 ควรแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้อำนาจข้าราชการฝ่ายประจำเป็นผู้พิจารณาประเมินภาษี เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง และให้การพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษี 
                             นอกจากนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของราษฎรในพื้นที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี พร้อมกับเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ไม่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี และให้ถือว่ามีค่าภาษีค้างชำระด้วย
                    2.3.3 ให้มี “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นข้าราชการในหน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่นและให้เสนอรายงานการติดตามผลดังกล่าวต่อสภาท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน พร้อมทั้งปิดประกาศเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
                    2.3.4 รัฐบาลควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บรายได้อย่างจริงจังและควรพิจารณาเพิ่มประเภทของรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะ และการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอัตราและการจัดเก็บภาษีที่เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความทันสมัย ชัดเจน และรัดกุมด้วย
                             นอกจากนั้น ให้กระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
                    2.3.5 ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                             ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนของรัฐบาลเองเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวเท่าที่จำเป็น และต้องมีการกำหนดวิธีการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อลดการวิ่งเต้น แสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการตัดช่องทางไม่ให้นักการเมืองระดับชาติเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่และการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดกรอบเงินอุดหนุนที่มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรในพื้นที่ สถานะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
                   2.3.6 สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ โดยมุ่งผลสำเร็จ คุณภาพ หรือผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ประชาชน ท้องถิ่น และประเทศชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ควรมีการเสริมสร้างกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
                            (1) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายและ
การให้บริการสาธารณะ แก่ประชาชนในท้องถิ่น
                            (2) องค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามวิธีการและขั้นตอนของกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณท้องถิ่นแก่ผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
                    2.3.7 หน่วยงานกำกับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรปรับรูปแบบการตรวจสอบการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้อยู่ในรูปของ “คณะกรรมการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณ” ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลในคณะกรรมการฯ ด้วยกันเอง และทำให้การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้อำนาจหน่วยงานกำกับดูแลในการยับยั้งการดำเนินโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขัดต่อกฎหมาย/ระเบียบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชนโดยรวม 

              2.4 มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์จากเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) ของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
                    เสนอให้ออกกฎหมายหรือระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกำหนด
เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่เป็นมาตรฐาน โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน หรือใช้ระบบการจ่ายเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) ของข้าราชการพลเรือนมาเทียบเคียง ทั้งนี้ ในระหว่างดำเนินการออกกฎหมายหรือระเบียบฯ ดังกล่าว ให้ชะลอการจัดสรรเงินให้เป็นเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่น (โบนัส) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ก่อน

               2.5 มาตรการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                    2.5.1 เสนอให้ตราและบังคับใช้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในองค์กรของรัฐทุกประเภท
                    2.5.2 ปรับปรุง แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคา โดยให้มีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจของผู้เข้าร่วมประกวดราคา 
                    2.5.3 พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ
                    2.5.4 ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง เรื่อง การเปิดเผยราคากลาง และมาตรา 103/7 วรรคสอง เรื่อง การให้คู่สัญญาหรือผู้รับจ้างในโครงการของรัฐเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายแก่บุคคลทั่วไปทราบ อย่างจริงจัง
                    2.5.5 ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 อย่างจริงจังกับผู้ประกอบการที่ร่วมมือกับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในการฮั้วประมูลหรือทุจริต
                    2.5.6 ให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโดยระบบคอมพิวเตอร์ และกำหนดข้อมูลสำคัญที่ต้องบันทึก เช่น ราคากลาง ราคาที่ทำสัญญา  ชื่อผู้รับเหมา เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างสะดวก เพื่อตรวจสอบและป้องกันการทุจริต

               2.6 มาตรการปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                     2.6.1 ให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกลาง (Board) บริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจการเมืองท้องถิ่น กล่าวคือให้มีการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามมิให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งนี้ ให้มีองค์ประกอบของผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มีความชัดเจน และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวโดยมีอำนาจหน้าที่ อาทิ
                              (1) ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) แล้วขึ้นบัญชีตามลำดับผู้สอบแข่งขันได้ เพื่อส่งไปบรรจุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีตำแหน่งว่าง
                                   ทั้งนี้ให้สามารถใช้ผลสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้
                              (2) การแต่งตั้ง โอนย้าย โยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่งต่าง ๆ ภายในองค์กรและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ใช้หลักเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้มีการสับเปลี่ยน โยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการทุก 4 ปี
                              (3) กำหนดให้มี “สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกลาง” ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกลางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                              (4) กำหนดให้มีและแต่งตั้งคณะกรรมการกลาง (Board) หรืออนุกรรมการในระดับจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสมัครเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้ เช่น ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

                     2.6.2 ให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เพียงตำแหน่งเดียว ส่วนตำแหน่งอื่นที่ต่ำกว่าให้เป็นอำนาจของปลัดองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น

                     2.6.3 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน โดยผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์อย่างเหมาะสม เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการ เป็นต้น

                     2.6.4 ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในกระบวนการคัดเลือกกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขัน ให้มีความเข้มข้นและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

                     2.6.5 เสนอให้มีการกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษในฐานทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

                     2.6.6 เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อรองรับมาตรการตามข้อ 2.6.1 – 2.6.4 และกำหนดให้มีระบบการกำกับและตรวจสอบการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพด้วย

          3. มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน

              3.1 มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น
                    กำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นจากทุกภาคส่วน ดังนี้
                    3.1.1 ฝ่ายสภา
                             เพิ่มบทบาท อำนาจ และหน้าที่ ให้กับสภาท้องถิ่นในเรื่องแผนงาน/โครงการ รวมถึงกำหนดบทลงโทษหากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
                    3.1.2 ฝ่ายกำกับดูแล (ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ) 
                             แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนด ห้าม หน่วยงานกำกับดูแลทุกแห่งขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตัดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยกำกับดูแลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานกำกับดูแล
                    3.1.3 ฝ่ายองค์กรอิสระ 
                             กำหนดให้ทุกหน่วยงานทั้ง ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและมีมาตรฐานกลางในการดำเนินงาน
                             (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
                                   (1.1) ควรกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. อาทิ 
                                            - การจัดลำดับความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วนของเรื่องร้องเรียน โดยพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายของประโยชน์สาธารณะ
                                            - การเร่งดำเนินการพิจารณากรณีเรื่องร้องเรียนที่ปรากฏชื่อผู้ร้องและเอกสารดำเนินการครบถ้วน
                                            - จัดทำหนังสือเวียนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้บริหารท้องถิ่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด
                                    (1.2) เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนให้ครอบคลุมถึงผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นในทุกวาระการดำรงตำแหน่งสำหรับกรณีผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง และได้รับเลือกตั้งเข้ามาในตำแหน่งอีกครั้ง แต่ปรากฏในภายหลังว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและเห็นควรถอดถอน และได้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
                               (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
                                     (2.1) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดและประชาสัมพันธ์แนวทางในการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ ในลักษณะการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่
                                     (2.2) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษากรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดระเบียบกฎหมาย
                      3.1.4 ภาคประชาสังคม/สื่อมวลชน
                               (1) แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 23 เรื่องคะแนนเสียงในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็น “ในกรณีมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งของสมาชิกผู้นั้น และมีคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลงคะแนนเสียง”
                               (2) กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาขยายครอบคลุมถึงการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                 3.2 มาตรการส่งเสริมการดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Integrity and Transparency Assessment: ITA) 
                      เสนอให้คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2

                 3.3 มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารท้องถิ่น
                       3.3.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับรายได้ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ ว่ามีการนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นในด้านใดบ้าง โดยให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์การประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน
                       3.3.2 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และให้ผู้แทนประชาคมและสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

          4. มาตรการด้านคุณธรรม จริยธรรม

              4.1 มาตรการเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมืองหรือจรรยาบรรณทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น
                    เสนอให้ จัดให้มี ปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยควรกำหนดไว้ใน 3 ระยะ ได้แก่
                    (1) มาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมืองของผู้เสนอตัวเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น (ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง) เช่น การหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่นำนโยบายประชานิยมมาใช้โดยปราศจากข้อมูลหรือที่มาของงบประมาณที่จะดำเนินการ เป็นต้น
                    (2) มาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง เช่น การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การไม่เข้าไปแทรกแซงระบบบริหารงานบุคคล การไม่มีพฤติการณ์แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง การไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
                    (3) มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น ในช่วงก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น การไม่จัดสรรงบประมาณหรือบริหารงบประมาณเพื่อการหาเสียงหรือคะแนนนิยมในลักษณะที่ไม่สมเหตุสมผลและมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศของหัวคะแนน การจัดสรรงบประมาณเพื่อแจกสิ่งของให้แก่ผู้สนับสนุนตนเองโดยมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น

             4.2 มาตรการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และการมีส่วนร่วม ให้แก่ประชาชและเยาวชนในท้องถิ่น

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปลูกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตให้ประชาชนและเยาวชนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของท้องถิ่น รวมถึงภัยของการทุจริต โดยเพิ่มหลักสูตร “การปกครองส่วนท้องถิ่นขั้นพื้นฐาน” ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับการศึกษาภาคบังคับ และประสานความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาเพื่อปลูกจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์สุจริตและการต่อต้านการทุจริต

มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 มีมติ ดังนี้

          1. รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามนัยแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (11) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกอบด้วยมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่ (1) มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) มาตรการด้านการบริหาร (3) มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ (4) มาตรการด้านคุณธรรม จริยธรรม ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ

          2. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว และให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาพรวมส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

          ต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้เสนอผลการพิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 มีมติ ดังนี้

          1. รับทราบรายงานผลการพิจารณาตามมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่ (1) มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) มาตรการด้านการบริหาร (3) มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ (4) มาตรการด้านคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น โดยส่วนราชการดังกล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในบางประเด็นอาจจะขัดแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบัน เช่น ประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง/องค์ประกอบของสภาท้องถิ่นให้อยู่ในรูปแบบผสมผสานโดยมาจากการเลือกตั้งและสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไปด้วย

          2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และแก้ไขกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งและการสรรหา นั้น ปัจจุบันได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 252 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในประเด็นมาตรการปรับปรุงโครงสร้าง/องค์ประกอบของสภาท้องถิ่นให้อยู่ในรูปแบบผสมผสานที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ อาจไม่สอดคล้องกับนโยบายการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เห็นควรให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0817/12510 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561
หนังสือยืนยันมติ ครม. (แจ้งกระทรวงมหาดไทย)

ความเห็นของหน่วยงาน :

กระทรวงการคลัง
กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงบประมาณ 
สำนักงาน ก.พ. 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


 

 

Related