Contrast
Font
banner_default_3.jpg

มาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 3039

12/01/2564

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 24 สิงหาคม 2553

ความเป็นมา

          ในช่วงระยะเวลาปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบันไดมีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่  ลาว กัมพูชา และพม่า ลักลอบอพยพหลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายในอัตราทีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนืองทุกปี โดยมีการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวดังกล่าวเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย อย่างเป็นขบวนการ และมีเจ้าหน้าทีของรัฐทีมีอำนาจหน้าทีในการควบคุมป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของบุคคลต่างด้าวกระทำการทุจริตและให้ความร่วมมือกับขบวนการดังกล่าว อันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทะลักเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนืองโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สื่อมวลชนไดมีการนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวอยู่เสมอ และนอกจากนั้น ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายประการ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันทำให้เกิดปัญหาเรื่องนี้ด้วย กล่าวคือ ปัจจัยจากภายนอกประเทศที่ระบอบการเมืองการปกครอง และภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ด้อยกว่าประเทศไทย ทำให้แรงงานต่างด้าวต้องแสวงหาความเป็นอยู่ทีดีกว่า และปัจจัยภายในประเทศไทยที่ระบบเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและแรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานประเภทไร้ฝีมือ และปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำมีระยะทางยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร มีเส้นทางธรรมชาติจำนวนมาก ที่สามารถเดินทางผ่านเข้าออกประเทศไทยได้อย่างสะดวก

          การมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจำนวนมากและรัฐไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหาย ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างร้ายแรงในหลายด้าน ทั้งที่สามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินได้ และไม่สามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินได้

          ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน มีผลกระทบหลายด้าน และมีความเชื่อมโยงกันทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขทั้งระบบ คือ ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายควบคู่กันไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ เพื่อป้องกันหรือปรับปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (8) โดยเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา 2 ด้าน คือ มาตรการด้านนโยบายและการบริหารจัดการ และมาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้

ข้อเสนอแนะ

1. มาตรการด้านนโยบายและการบริหารจัดการ

          1.1 กำหนดให้การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นวาระแห่งชาติ และพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในปัจจุบัน

          1.2 รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาเข้าสู่ระบบ โดยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนแน่นอน สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปประธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้ความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน โดยกำหนดห้วงระยะเวลาการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการปฏิบัติอย่างชัดเจน ต้องกำหนดจำนวนความต้องการแรงงานต่างด้าวที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และหากไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายรอบใหม่อีก

          1.3 จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักใหม่ เพื่อจัดการ ดูแล ควบคุม และแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ พร้อมสนับสนุนงบประมาณและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้เหมาะสมและเพียงพอ โดยหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าว ผัดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพในการทำงาน การบูรณาการในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้มีการกระจายอำนาจในการสั่งการและตัดสินใจให้แก่หน่วยปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้มีการกระจายอำนาจในหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพหลักในส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นตัวชี้วัด ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ หรือประเมินผลในการทำงานของหน่วยงาน ในส่วนภูมิภาคหรือจังหวัดด้วย

          1.4 ประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการจ้างแรงงานกับประเทศลาว กัมพูชา และพม่า โดยกระบวนการเจรจาในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ ประสานงานเรื่องการส่งกลับหรือประกันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับประเทศ เพื่อให้การส่งกลับมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดจากการพิสูจน์สัญชาติในกรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ หรือประเทศต้นทางไม่ยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ หรือกรณีที่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไม่ทันตามกำหนด สำหรับกรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้การพิสูจน์สัญชาติล่าช้าและไม่ทันตามกำหนด ควรแก้ไขโดยการประสานประเทศต้นทางเพื่อส่งเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของแรงงานต่างด้าว หรือให้ทางการของประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวรับรองว่าแรงงานต่างด้าวบุคคลนั้นเป็นพลเมืองของตน แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงออกใบอนุญาตทำงานให้ และให้วางแผนการแก้ไขภาวะขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยอาจปรับเปลี่ยนวิธีการรับแรงงานต่างด้าว จะเข้ามาทำงาน โดยการใช้เพียงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของคนต่างด้าวที่ประเทศต้นทางเป็นผู้ออกให้ และรับรองว่าถูกต้องแล้วเท่านั้น

          1.5 ประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ปลุกจิตสำนึก และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรับทราบถึงภัยหรือผลกระทบที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว และขอความร่วมมือในการสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีช่องทางการแจ้งเบาะแสที่สะดวก ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ หรือมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งอาจกำหนดเป็นกฎหมายหรือระเบียบให้มีรางวัลนำจับด้วย และกำหนดให้ผู้นำชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาคมหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแล จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน

          1.6 หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องกำหนดประเภทอาชีพที่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจน กำหนดสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อแรงงานไทยในแต่ละประเภทอาชีพ ประเภทหรือขนาดของกิจการ การจำกัดระยะเวลาการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานเมื่อครบกำหนดแล้ว ต้องเดินทางออกไปและห้ามเข้ามาอีกอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตั้งรกรากและย้ายถิ่นฐาน การกำหนดให้มีการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว เป็นระยะ หากมีการตั้งครรภ์ต้องส่งกลับประเทศทันที การบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้กระทำความผิด อย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด รวมถึงการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการ รายการลดจำนวนแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการแก้ปัญหาระยะสั้นโดยการกำหนดพื้นที่ปอดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือในเขตเมือง และขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป เป็นต้น

          1.7 กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ ในการขออนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว ในแต่ละประเภทอาชีพที่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเสนอขอโควตาใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการขอใช้แรงงานต่างด้าวเกินความจำเป็น และในขณะเดียวกัน ต้องสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการใช้แรงงานไทยก่อนจ้างแรงงานต่างด้าว รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนแรงงานต่างด้าว และมีการกำหนดมาตรการควบคุมนายจ้างในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการเอาเปรียบการจ้าง การไม่จ้างแรงงานเด็ก หรือการทำร้ายแรงงาน และมาตรการอื่นที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแรงงานต่างด้าว และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในการจ้าง หรือครบกำหนดระยะเวลาการที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน หรือกรณีเลิกจ้าง นายจ้างต้องมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งกลับแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นด้วย

          1.8 จัดตั้งศูนย์บริการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่รับสมัคร คัดกรอง ประสานงานและดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ โดยกำหนดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว และได้ผ่านขั้นตอนการขออนุมัติ ให้จ้างแรงงานต่างด้าวจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ต้องไปขอรับบริการจากศูนย์บริการแรงงานต่างด้าวเท่านั้น รวมทั้งให้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว โดยเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถตรวจสอบควบคุมอย่างเป็นระบบ และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          1.9 สนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน การจัดตั้งโรงงานในเขตชายแดน เพื่อลดจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในเขตเมือง โดยรัฐต้องสร้างแรงจูงใจหรือมีมาตรการจูงใจ เช่นมาตรการทางภาษี การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือสิทธิพิเศษอื่น ๆ ให้แก่นายจ้างหรือผู้ประกอบการ เพื่อให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตหรือมีการจัดตั้งโรงงานตามแนวชายแดน รวมถึงการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ด้านสาธารณูปโภค ด้านการคมนาคมขนส่ง และอื่น ๆ ที่จำเป็นด้วย

          1.10 กำหนดมาตรการในการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ. ศ. 2508 และแก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 1 การได้สัญชาติไทย อย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ หรือบุตรของแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการกำหนดมาตรการบังคับที่ชัดเจนในกรณีการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์

2. มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย

          2.1 ให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับผลประโยชน์เกี่ยวกับกรณีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสถานประกอบการ หรือมีหน้าที่ในการตรวจตรา ควบคุม ดูแลแรงงานต่างด้าวที่กระทำการทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือมีพฤติการณ์สมยอมกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการในการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งทางวินัยและทางอาญา อย่างเด็ดขาด และดำเนินการปราบปรามขบวนการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และผู้มีอิทธิพลที่ให้การสนับสนุนการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กระบวนการค้าแรงงานผิดกฎหมาย ให้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์การลงโทษ หรือผลการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย

          2.2 กำหนดมาตรการในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้บทลงโทษแก่นายจ้างและลูกจ้างที่กระทำความผิดตามมาตรา 51 ถึง มาตรา 54

          2.3 กำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายและลงโทษเจ้าของสถานที่ หรือเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร ที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หรือผู้เข้าเมืองที่ผิดกฎหมายเข้าอยู่อาศัย ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 อย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด

มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ลงมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประสาสน์) ประธานกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง รับเรื่องนี้ไปพิจารณาในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยให้เชิญสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ ให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

รายละเอียดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 สิงหาคม 2553

          ต่อมา คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้เสนอผลการพิจารณา เรื่อง การปก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 มีมติรับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอ เรื่อง การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ตามที่เสนอ โดยมีผลการพิจารณา ดังนี้

           1. เห็นด้วยกับการกำหนดให้การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นวาระแห่งชาติ

           2. ให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ลักลอบทำงานได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องโดยการเปิดจดทะเบียนผ่อนผันอีกครั้ง เพื่อให้ทราบข้อมูลและจำนวนชื่อที่อยู่ที่ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

            3. เห็นควรยกระดับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้มีสถานะเป็นหน่วยงานระดับกรม เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานตั้งแต่การวางแผนการบริหารจัดการ การจัดระบบแรงงานต่างด้าว การจดทะเบียนจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าว การอนุญาตการทำงาน การควบคุมการเคลื่อนย้าย การปราบปรามจับกุมดำเนินคดี รวมทั้งการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมาย

             4. เห็นควรปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ รวมทั้งปรับลดคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เหลือเพียง 5 คณะ เพื่อให้มีความกระชับ เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และเพิ่มคณะอนุกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ในระดับจังหวัดให้สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้สอดคล้องตรงกับความต้องการในพื้นที่

             5. ไม่ควรตั้งหน่วยงานใด ๆ ขึ้นอีก เนื่องจากมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดดำเนินการในการให้บริการแก่แรงงานต่างด้าวและนายจ้างอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องการให้โควตา การอนุญาตทำงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน

              6. การประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตาม MOU และการพิสูจน์สัญชาติ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาอย่างใกล้ชิดและได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นทางเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555

              7. เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ขยายระยะเวลาการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตาม MOU 3 ปี ต่อได้อีก 3 ปี ส่วนการกลับไปพักควรเว้นระยะให้ไปพักเพียง 1 เดือน แล้วให้สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ใหม่

              8. การดำเนินการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และมีการชี้แจงทำความเข้าใจในการจัดประชุมสัมมนานายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชนและประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบนโยบายเพื่อร่วมกันสอดส่องดูการแจ้งเบาะแสแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และมีการออกระเบียบการให้รางวัลสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแส

              9. ปัจจุบันได้มีการกำหนดประเภทอาชีพของแรงงานต่างด้าวทำได้เพียง 2 งาน คือ ผู้รับใช้ในบ้าน และงานกรรมกร ส่วนการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้แรงงานต่างด้าว นั้น ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้มีการกำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างด้าว (LEVY) ไว้แล้ว ซึ่งจะเรียกเก็บในอัตราที่เหมาะสมต่อไป

              10. เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการจูงใจให้นายจ้างลดการใช้แรงงานต่างด้าวในส่วนกลางโดยการปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเดิมจัดเก็บในอัตราเดียวทั่วประเทศ 1,800 บาท/คน/ปี ปรับลดจังหวัดตามแนวชายแดนเหลือ 900 บาท/คน/ปี

               11. ห้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับผลประโยชน์ในการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ลงโทษนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการลงโทษเจ้าของสถานที่หรือผู้ครอบครองอาคารที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าอยู่อาศัยอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด

               12. ให้มีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่แรงงานต่างด้าวในระบบผ่อนผัน และให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในการแก้ไขปัญหา

รายละเอียดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 มิถุนายน 2554

 

 

Related