เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนางสาวชฎารัตน์ อนรรฆอร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 นายสำนาน มีศิริ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง นำโดย นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต นางสาววิศรา รัตนสมัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยง (STRONG: Together against Corruption - TaC) ลงพื้นที่ร่วมกับนางสาวชไมพร อำไพจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่อการทุจริต ใน 2 ประเด็น คือ
โครงการจัดซื้อและติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์บัญชีนวัตกรรมไทยงบประมาณ
รวม 99 ล้านบาท
และการพัฒนาบึงสวดมนต์เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร งบประมาณรวม 54 ล้านบาท
--
ทั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเข้าร่วม ได้แก่ นางสาวคมขวัญ กาญจนกุญชร ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจโท สิริพงษ์ ศรีตุลาผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท. ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชัยนาท อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงานชลประทานที่ 12 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอสรรคบุรี และเทศบาลตำบลชัยนาท
--
จากการรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริต โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชัยนาท และเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดชัยนาท ทั้ง 2 ประเด็น ปรากฎความเสี่ยงต่อการทุจริตที่ควรแก้ไข ดังนี้
1) กรณีการจัดซื้อและติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์บัญชีนวัตกรรมไทยแบบประกอบในชุดเดียวกัน (All In One Solar Street Light) โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท พบว่ามีการใช้งบประมาณสูงถึง 99 ล้านบาท ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จัดซื้อเสาไฟรวม จำนวน 1,427 ชุด ติดตั้งบนเส้นทางถนนในความรับผิดชอบของ อบจ. พบความเสี่ยงการจัดซื้อเสาไฟที่มีราคาสูง มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ติดตั้งทับซ้อนกับเสาไฟฟ้าปกติ และขาดการบำรุงรักษาให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
2) กรณีโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายแหล่งน้ำ 3 ตำบล (ตำบลชัยนาท, ตำบลนางลือ และตำบลท่าชัย) ในพื้นที่บึงสวดมนต์ ตำบลชัยนาท อำเภอเมืองชัยนาท โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 พบว่ามีการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 5 ปี ใช้งบประมาณรวมกว่า 54 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร
โดยโครงการปัจจุบัน ซึ่งมีงบประมาณ 28 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2565 แต่มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 40 พบความเสี่ยงเนื่องจากไม่มีแผนที่ชัดเจนในการบริหารโครงข่ายน้ำที่จะนำมากักเก็บและส่งต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรรม ขาดการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานชลประทานในพื้นที่ จึงมีโอกาสที่โครงการจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง
--
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท จึงได้ร่วมกับคณะ TaC Team หน่วยงานภาคี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำหนดข้อตกลงเพื่อต้านและลดความเสี่ยงต่อการทุจริตทั้งสองประเด็น ดังต่อไปนี้
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท จะปรับปรุงการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์ในพื้นที่ให้ตรงตามความต้องการของประชาชนสอดคล้องกับหลักวิชาการด้านความปลอดภัย ประสานกับเทศบาลในพื้นที่ไม่ให้เกิดการติดตั้งเสาไฟทับซ้อนบริเวณเดียวกัน โดยในจุดที่มีความทับซ้อนจะพิจารณาย้ายเสาไฟไปในพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า รวมทั้งจะแก้ไข ซ่อมแซม บำรุงรักษาเสาไฟที่จัดซื้อและติดตั้งไปแล้วให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากจะดำเนินโครงการเพิ่มเติมในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาให้เกิดความคุ้มค่า และสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนผู้อยู่อาศัยและผู้สัญจรให้ทราบและรับฟังความคิดเห็นตามหลักการประชาคมที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแนะนำอย่างเคร่งครัด
.
2. สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 จะเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามที่กำหนด โดยจะควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญา ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อกักเก็บในพื้นที่โครงการและแผนการกระจายน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมาย 3 ตำบล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและคุ้มค่า
เงินงบประมาณ
.
3. สำนักงาน ป.ป.ช. จะพิจารณาแนวทางป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดประเด็นการเฝ้าระวังและการจัดทำมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตการจัดซื้อพัสดุตามบัญชีนวัตกรรมไทยที่อาจมีช่องโหว่ให้เกิดการผูกขาด ไม่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย และทำให้เกิดรายจ่ายภาครัฐที่สูงเกินความจำเป็น รวมทั้งจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ทั่วประเทศให้ร่วมกันจับตามองและแจ้งเบาะแสการดำเนินโครงการต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เกิดความคุ้มค่า
และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
--
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ TaC Team จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดชัยนาทเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด