Contrast
banner_default_3.jpg

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 5

จากไชต์: สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช.
จำนวนผู้เข้าชม: 123

31/01/2567

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 5 โดยมี นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับหน่วยงานกำกับติดตามและผลักดันการประเมิน ITA ซึ่งทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการประเมิน ITA ของประเทศ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

 

ในการนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายในหัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนและยกระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่มีหน้าที่ในการกำกับติดตามการการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 150 คน

 

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของหน่วยงานกำกับติดตาม ที่มีหน้าที่ในการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA สามารถบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือกันในการกำกับติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินฯ ทั้ง 8,325 หน่วยงาน สามารถสร้างมาตรฐานการดำเนินงาน   ของหน่วยงานตนเองให้มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีสัดส่วนจำนวนหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน มากที่สุด มีภารกิจสำคัญในการให้บริการประชาชน และมีความใกล้ชิดกับประชาชนระดับพื้นที่

 

นอกจากนี้ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังสอดแทรกการให้ความรู้เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการประเมิน ITA กับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงแนวทางการยกระดับค่าคะแนน CPI โดยการนำระบบมาตรฐาน ISO 37001 มาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใส ลดการให้และรับสินบนอีกด้วย

Related