ป.ป.ช. จัดกิจกรรม Clinic Police ITA (ตำรวจภูธรภาค 4)
--
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดกิจกรรม Clinic Police ITA (ตำรวจภูธรภาค 4) วัตถุประสงค์เพี่อทบทวนและให้คำปรึกษาการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน การเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ขั้นตอนการจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ รวมถึงการฝึกปฏิบัติการใช้งานระบบ POLICEITA ให้กับผู้แทนสถานีตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4
โดยมี นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 กล่าวต้อนรับ และพล.ต.ต.เนติพงศ์ ธาตุทำเล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดกิจกรรมฯ และ นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวรายงาน พร้อม นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมในพิธีเปิดด้วย
--
สำหรับการดำเนินกิจกรรมฯ ประกอบด้วยการบรรยายและฝึกปฏิบัติ โดย นางสาวชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. และนายสันติพงษ์ สวาขาโต เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 บรรยายและฝึกปฏิบัติให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในประเด็นที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
1. ทบทวนและให้คำปรึกษา แนวทางการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) ซึ่งเป็นแบบวัดที่เก็บจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีประเด็นการวัดการรับรู้ที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ด้านการอำนวยความสะดวก การให้บริการประชาชน การอำนวยความยุติธรรม การรับคำร้องทุกข์จากประชาชน การปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้กล่าวหา หรือผู้ต้องหา หรือพฤติกรรมในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบน ก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นผู้ส่งเสริมหรือเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเสียเอง นอกจากนี้ยังมีการวัดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในด้านอื่น ๆ เช่น การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อสวัสดิการสืบสวนฯ การใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความโปร่งใสในระบบการบริหารกำลังพล การใช้ทรัพย์สินของราชการ ระบบการจัดเก็บรักษาเงิน ทรัพย์สินของกลางในคดี หรือทรัพย์สินสิ่งของจากการรับบริจาค และการป้องกันการทุจริต
2. ทบทวนและให้คำปรึกษา แนวทางการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) ซึ่งเป็นแบบวัดที่เก็บจากผู้มารับบริการและประชาชน มีประเด็นการวัดการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพการให้บริการ การอำนวยความสะดวก การปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับผู้เสียหายและผู้ต้องหา พฤติกรรมการรับสินบน รวมไปจนถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ อาทิ การปรับปรุงการให้บริการประชาชนที่ลดอุปสรรค ลดความยุ่งยาก การให้บริการ online การจัดสายตรวจ/ตั้งจุดสกัด การใช้เทคโนโลยีกล้อง CCTV เป็นต้น
3. ขั้นตอนการจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ที่มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่สอดรับกับการบริหารงานตำรวจและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ คู่มือการให้บริการประชาชน E–Service แนวปฏิบัติในการจับหรือค้น แนวปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจ ไม่รับคำร้องทุกข์ในคดีอาญา แนวปฏิบัติในการสอบปากคำของพนักงานสอบสวน สิทธิของผู้เสียหายหรือ เหยื่ออาชญากรรม และสิทธิผู้ต้องหา ฯลฯ เป็นต้น
4. การให้คำปรึกษาและฝึกปฏิบัติ “การใช้งานระบบ POLICEITA” ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นสำหรับรองรับการประเมิน online ในทุกเครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบ
--
ซึ่งเนื้อหาของหัวข้อบรรยายและฝึกปฏิบัติทั้ง 4 เรื่องนั้น นับว่าเป็นประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การช่วยยกระดับค่าคะแนน ITA ของสถานีตำรวจได้