Contrast
f41e7fb87c1a96da1b13ad91aa7a58fd.jpg

การเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมการจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice)

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จำนวนผู้เข้าชม: 60

17/01/2567

การเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมการจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) 

 

          วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายจรงค์  เกราะเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ดำเนินกิจกรรมการจับตามองและแจ้งเบาะแส (watch & voice) ภายใต้โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย โค้ช กรรมการชมรม สมาชิกชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 34 อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมจำนวน 12 คน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน และโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้การดำเนินโครงการฯ มีมาตรฐานคุณภาพตามหลักโภชนาการที่ดี ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 34 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีข้อเสนอแนะในประเด็นการดำเนินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ดังนี้

 

          1. ควรมีนักโภชนาการมาตรวจสุขลักษณะของการประกอบอาหารในโรงเรียนเป็นประจำ เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการ

          2. ให้มีหน่วยงานตรวจสอบเข้ามาตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการอาหารกลางวันเป็นประจำ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการบริหารจัดการโครงการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้                    

          3. ให้ยืดถือปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด กค (กวจ.)0405.2/ว 116 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นหนังสือที่แจ้งเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติการดำเนินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการร้องเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นได้                                                        

          4. โรงเรียนควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือสังเกตการณ์ เรื่องปริมาณ คุณภาพของอาหารกลางวันนักเรียนอย่างต่อเนื่อง 

                                                 

          สำหรับประเด็นการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้มีการอภิปรายและมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

          1. ให้มีการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารเสริม (นม) โรงเรียน แก่นักเรียน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของอาหารเสริม (นม) โรงเรียน

          2. ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองนักเรียน หรือภาคประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นประจำ

          3. ควรส่งเสริมให้นักเรียนดื่มนมที่โรงเรียนก่อนเดินทางกลับบ้าน เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมอย่างแท้จริง

          4. โรงเรียนควรมีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อให้มีการพิจารณาถึงแนวทางการส่งมอบนมให้โรงเรียนในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมในรอบการผลิตที่เป็นปัจจุบัน และลดปัญหานมที่ไม่มีคุณภาพได้

 

          ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปขยายผลไปยังภาคประชาชนในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะเครือข่ายชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีเครือข่ายกระจายครบทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริตจากการดำเนินโครงการดังกล่าว และเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป 

 

Related