Contrast
e14dfa910d15d291c7b2c1bd37539b38.jpg

ลงพื้นที่แล้ว กรณีสื่อเสนอข่าว "ปั๊มสูบน้ำ สร้าง 10 ปีไม่เคยใช้ ปล่อยทิ้งร้างจนสนิมเกาะ"

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม
จำนวนผู้เข้าชม: 528

02/05/2567

ลงพื้นที่แล้ว กรณีสื่อเสนอข่าว "ปั๊มสูบน้ำ สร้าง 10 ปีไม่เคยใช้ ปล่อยทิ้งร้างจนสนิมเกาะ"

 

ป.ป.ช.มหาสารคาม ลงพื้นที่ขอทราบข้อมูล กรณีสื่อโซเชียลเสนอข่าว "ปั๊มสูบน้ำ สร้าง 10 ปีไม่เคยใช้ ปล่อยทิ้งร้างจนสนิมเกาะ" ผอ.ชลประทาน มหาสารคาม รับลูกเร่งแก้ไขซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ด้านนายก อบต.ขามเฒ่าพัฒนา เจ้าของพื้นที่ แบ่งรับแบ่งสู้เรื่องรับโอนไปดูแลต่อ หากใช้งานได้ยั่งยืนก็ไม่ขัดข้อง

 

จากกรณีที่ศูนย์เพจ Facebook ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เสนอข่าวว่า “10 ปี ไม่เคยใช้ ปล่อยจนสนิมเกาะ

สร้างไว้เกือบ 10 ปี ยังไม่เคยใช้งาน เหตุเกิดจากท่อกับคลองส่งน้ำรั่ว ลำเลียงน้ำไม่ได้ เลยปล่อยทิ้งร้างไว้ โรงสูบน้ำไฟฟ้าบ้านยาง จ.มหาสารคาม ของกรมชลประทาน พยายามโอนให้ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา ดูแลต่อ แต่ อบต. ไม่รับ เพราะใช้ไม่ได้ตั้งแต่แรก”

(อ่านเรื่องเดิมกรณีปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านเสนอข่าว https://shorturl.asia/APqLf)

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม นำคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ขอทราบข้อมูลตามที่มีการเสนอข่าวดังกล่าว ณ องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และสถานที่ตั้งโครงการก่อสร้างฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล

 

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าตามประเด็นที่มีการเสนอข่าวนั้น คือ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านยาง ตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการการโดยโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม สำนักชลประทานที่ 6 ดำเนินการก่อสร้างเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2558 งบประมาณ 24,964,567 บาท มีบริษัท ฟร้อนท์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นคู่สัญญา โดยได้ส่งมอบงานก่อสร้างตามสัญญา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้รับมอบงานไว้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ระยะเวลาประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปี (ครบกำหนดวันที่ 12 กันยายน 2561)

 

          นายชลศักดิ์ สุขี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า หลังจากรับมอบสถานีสูบน้ำดังกล่าว ก็ได้มีการใช้เปิดใช้งานเรื่อยมา ซึ่งโครงการชลประทานมหาสารคาม ได้มีการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งสถานีสูบน้ำและมีประชาชนที่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรง เพื่อจะดำเนินการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำฯ ให้กับ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา แต่ดำเนินการถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากขณะนั้นทาง อบต.ขามเฒ่าพัฒนา ไม่มีผู้บริหาร จึงทำให้ระยะเวลาในการถ่ายโอนล่าช้าออกไป

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 พบว่าสถานีสูบน้ำฯ มีความชำรุดของตัวเครื่องสูบน้ำที่ทำให้สูบน้ำส่งไปยังพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และระบบส่งน้ำบางช่วงเสียหายจากการใช้งานมานาน ซึ่งการตรวจพบความชำรุดดังกล่าวเกินระยะเวลาประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปีของผู้รับจ้าง โครงการฯ จึงได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซม แต่ไม่รับการอนุมัติ จึงทำให้ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม และได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อโซเชียล

          ซึ่งทางโครงการฯ จะได้ประสานไปยังกรมชลประทาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขสถานีสูบน้ำฯ โดยมีแนวทางเบื้องต้น คือ จะขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้

 

          ด้าน นายศรีบุญ มังสังคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา กล่าวว่า ในช่วงที่สถานีสูบน้ำฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น ได้มีขั้นตอนในการจะถ่ายโอนมาให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ แต่มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การถ่ายโอนไม่เสร็จสิ้นตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งขณะนั้น พบว่าสถานีสูบน้ำ มีความชำรุดที่ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ และโครงการชลประทานฯ ก็ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมจุกที่ชำรุดดังกล่าว แต่ต่อมาก็พบความชำรุดอีกจุด ซึ่งทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา มีความกังวลเนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณในการบำรุงดูแลรักษา จึงทำให้ไม่มีการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำดังกล่าวให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ซึ่งทาง อบต. ก็มีสถานีสูบน้ำในความดูแลของ อบต. จำนวน 2 เครื่อง ที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาจำนวนมาก ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ไม่ขัดข้องเรื่องการถ่ายโอน หากมีการดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้สมบูรณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการสูบน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากหากซ่อมแซมแล้วแต่ไม่มีน้ำที่จะสูบไปให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้ ก็จะเป็นปัญหาอีกครั้ง รวมทั้งระบบส่งน้ำ (คลองส่งน้ำ) บางช่วงก็พังชำรุด ทำให้น้ำที่สูบส่งไปไม่ทั่วถึงปลายทาง

         

          นายชลศักดิ์ สุขี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า หากซ่อมแซมแล้วเสร็จ ทางโครงการฯ มีแนวทางอาจจะดำเนินการในเบื้องต้น คือ อาจจะย้ายสถานีสูบน้ำไปไว้แหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการสูบน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลขามเฒ่าพัฒนาและถ่ายโอนให้ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา เป็นผู้ดูแล หรือ หาก อบต.ขามเฒ่าพัฒนา เห็นว่าอาจเกิดปัญหาเรื่องความยั่งยืนในการดูแลรักษาและปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ ทางโครงการฯ อาจจะต้องย้ายสถานีสูบน้ำฯ ไปยังแหล่งน้ำที่เพียงพอที่อยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

          ทั้งนี้ นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการประชุมชี้แจง เพื่อสอบถามกับประชาชนและเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาในการดำเนินการ และให้ทางโครงการชลประทานฯ ได้ประสานกับกรมชลประทาน และ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา เพื่อดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่และระเบียบกฎหมาย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

Related