จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม
จำนวนผู้เข้าชม: 101
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ขอแถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ดังนี้
1. การประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้บริหารท้องถิ่น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ของผู้บริหารท้องถิ่นให้สาธารณชนทราบ จำนวน 1 ราย คือ นายประยงค์ ปักการะโต ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลหัวดง กรณีเข้ารับตำแหน่ง วันที่ 30 กันยายน 2567 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม อาคารศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ชั้น 1 ถนนเลี่ยงเมืองมหาสารคาม - ร้อยเอ็ด ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ระะหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น.
2. การติดตามข้อเท็จจริง กรณีสื่อนำเสนอข่าว นายก อบต.เขวาไร่ นำรถบัสส่วนตัวมาชาร์จไฟฟ้าที่หน่วยงาน
จากกรณีที่เพจ Facebook ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 ว่า “นายก อบต.เขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม นำรถบัสส่วนตัวที่เอาไว้รับงานนอก เสียบชาร์จแบตเตอรี่รถ ใช้ไฟฟรีที่ อบต. ตรงสวนสมุนไพร อาคารป้องกันข้างห้องประชุม ลากไฟมาชาร์จทีสองวัน จอดรถแช่ไว้ทำแบบนี้บ่อย” นั้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ โดยมีนายกฤษณ์ สืบเมืองซ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ชี้แจงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องตามประเด็นที่มีการเสนอข่าว
จากการสอบถาม นายกฤษณ์ สืบเมืองซ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ให้ข้อมูลว่าตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อนั้น เป็นรถบรรทุกโดยสาร (รถบัส) ของตนเองจริง โดยรถบัสคันดังกล่าวไม่ใช่รถไฟฟ้า แต่เป็นรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดดีเซล ยี่ห้อ HINO จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ซึ่งตนได้ซื้อรถคันดังกล่าวมาจากเจ้าของคนเดิมในสภาพที่เก่าแล้ว โดยตั้งใจจะนำมาทำเป็นรถท่องเที่ยวส่วนตัว และไว้บริการประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้จะนำมาใช้ในการรับจ้างแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่นำรถมาชาร์จแบตเตอรี่นั้น ตนไม่ได้มีเจตนา เพราะได้ขับรถคันดังกล่าวมาทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น เพราะรถยนต์ที่ใช้งานเป็นประจำชำรุด แต่เนื่องจากรถมีสภาพเก่าแบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าไว้เพียงพอที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ และไม่สามารถใช้รถยนต์คันอื่นมาต่อพ่วงแบตเตอรี่ได้ เนื่องจากรถใช้แบตเตอรี่ 4 ลูก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรงมาต่อพ่วงแบตเตอรี่ โดยเสียบไฟฟ้าที่หน่วยงาน เพียงเพื่อที่จะให้สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้เท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งได้ขับรถบัสคันดังกล่าวมาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ เพียงแค่ 4 – 5 ครั้ง โดยได้เสียบไฟฟ้าเพื่อต่อพ่วงแบตเตอรี่ที่หน่วยงานเพียง 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 5 นาที เท่านั้น
ส่วนภาพที่ปรากฏตามข่าวนั้น นายกฤษณ์ ให้ข้อมูลว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้วตนได้ขับรถคันดังกล่าวมาที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ซึ่งเป็นช่วงที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่จัดโครงการนำประชาชนในพื้นที่เดินทางออกนอกพื้นที่ แต่โครงการที่จัดขึ้นมีงบประมาณจำกัด ตนเองจึงได้นำรถบัสของตัวเองมาบริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และได้นำรถบัสคันดังกล่าวมาทดสอบระบบความสมบูรณ์ว่าพร้อมจะใช้ในการเดินทางหรือไม่ซึ่งปรากฏว่า รถอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะใช้งานได้ และมีเหตุขัดข้องดังกล่าว
ด้านนายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ให้ข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่เปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ให้สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำรถออกมาใช้ และถึงแม้ว่ารถคันดังกล่าวจะเป็นรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การนำมาต่อพ่วงแบตเตอรี่เพียงเพื่อจะสตาร์ทเครื่องยนต์เพียงบางครั้ง แต่การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เพราะแม้ว่าการใช้ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งต้องใช้เพื่อประโยชน์ทางราชการเท่านั้น การจะนำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ทรัพย์สินของทางราชการไม่สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีการรณรงค์ให้กับหน่วยงานของรัฐมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ให้แจ้งนายกฤษณ์ สืบเมืองซ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จริงเป็นหนังสือพร้อมแนบเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. การประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เพื่อหารือเรื่องมาตรฐานงานก่อสร้างถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมลีลาวดี ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนายภูวดล สานุการ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือการดำเนินโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานการประชุม โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการให้โครงการก่อสร้างมีมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมที่ดี เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องบประมาณแผ่นดิน
4. การติดตามข้อมูลระบบประปา POG TANKS จากบัญชีนวัตกรรมไทย ของ อบต.โคกก่อ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคามนายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมการจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) ครั้งที่ 1 ในประเด็นเกี่ยวกับกรณีการเฝ้าระวังการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา (Water Treament) หรือ POG TANKS ซึ่งเป็นสินค้าจากบัญชีนวัตกรรมไทย ขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อ ตามที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทุกแห่ง ดำเนินการติดตาม สังเกตการณ์ เพื่อป้องปรามและเฝ้าระวังการกระทำที่อาจส่อไปในทางทุจริตในการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System) หรือ POG TANKS เนื่องจากได้รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่ส่งขออนุญาตกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงบประมาณ รวมทั้งกรณีที่ก่อสร้างแล้วไม่สามารถใช้งานได้
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อ ได้ให้ข้อมูลว่า อบต.โคกก่อ ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา POG TANKS เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 7 โครงการ แต่มีการดำเนินการก่อสร้างเพียง 4 โครงการ ได้แก่ บ้านภูดิน หมู่ที่ 15 บ้านโคกก่อ หมู่ที่ 1 บ้านหัวช้าง หมู่ที่ 10 และ 4 บ้านสมศรี หมู่ที่ 7 โดยทำสัญญาจ้างก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 กับบริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด เริ่มก่อสร้างวันที่ 8 ต.ค. 2565 ถึง 4 ก.พ. 2566 ก่อสร้างขนาดใหญ่ L กำลังการผลิต 10 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง รองรับผู้ใช้น้ำ 121 – 300 ครัวเรือน วงเงินค่าจ้างก่อสร้างโครงการละ 5,190,000 บาท ซึ่งหลังจากส่งมอบงานแล้วเสร็จก็มีการเปิดใช้งานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยแต่ละแห่งจะมีผู้นำชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการการใช้งาน ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะในการบำรุงรักษาและการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
5. การเข้าร่วมสังเกตการณ์ การสอบคัดเลือกพนักงานราชการ ครูผู้สอน สังกัด สพป.มหาสารคาม เขต 2
สืบเนื่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 ได้มีหนังสือเชิญเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงเรียนเมืองวาปีปทุม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณการคัดเลือกพนักงานราชการดังกล่าว โดยพบว่ามีผู้สมัครกว่า 6 ร้อยคน อัตราว่าง 13 ตำแหน่ง จาก 8 สาขาวิชาเอก ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือกครั้งนี้ ให้ดำเนินให้เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนที่กำหนดเพื่อป้องการทุจริตในการคัดเลือกต่อไป
จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน