Contrast
51d82e03698b8568430484e17dd2540f.jpg

ป.ป.ช. มหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม
จำนวนผู้เข้าชม: 38

04/01/2568

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ขอแถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนธันวาคม 2567 ดังนี้

  1. การจัดโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ระดมความเห็นประเด็นความเสี่ยงจัดซื้อจัดจ้าง  จากบัญชีนวัตกรรมไทย การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ งานก่อสร้างภาครัฐ และการทุจริตในสถานศึกษา

      วันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2567 ที่ห้องสันตรัตน์ โรงแรมตักสิลา มหาสารคาม สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมหาสารคาม  จัดโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โดยได้รับเกียรติจากนายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ สำหรับกิจกรรมวันแรก เวลา 09.00 - 12.00 น. เป็นการบรรยายความรู้หัวข้อ “ความเสี่ยงทุจริตในสถานศึกษาพร้อมกรณีตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม” โดย นายนิรัตน์ เนื่องศรี ประธานชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดมหาสารคาม และเวลา 13.00-16.00 น. เป็นการบรรยาย หัวข้อ “มาตรฐานงานก่อสร้างภาครัฐ : ปัญหา ความเสี่ยงทุจริต และแนวทางเฝ้าระวังเพื่องานก่อสร้างที่มีคุณภาพ” โดย นายสุรศักดิ์ ไกรพินิจ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 6 ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากแขวงทางหลวงชนบทมหาสารคาม จากนั้นเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ แผนที่ความเสี่ยงต่อการทุจริตจังหวัดมหาสารคาม ปัญหา และกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โดยนายพีระณัฐ สีทองเดชารัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต และนายนิพพิชฌน์ ภัทรวิริยะคุณ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ ส่วนกิจกรรมในวันที่สองของโครงการ เวลา 09.00 - 12.00 น. เป็นการอภิปรายในหัวข้อ “ความเสี่ยงทุจริตจังหวัดมหาสารคาม : งานก่อสร้างภาครัฐและการจัดซื้อ จัดจ้างจากบัญชีนวัตกรรมไทย ใครได้ ใครเสีย” โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายโฆษิต เหล่าสุวรรณ กรรมการ สปท. สำนักงาน ป.ป.ท., นายสุรัช แก่นผา นักวิชากรคลังชำนาญการ สำนักงานคลังจังหวัดมหาสารคาม , นายต่อต้าน อุทัยดา องค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อ , นายประเสริฐ ชิณภา วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายนิรัตน์ เนื่องศรี ประธานชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการระดมความคิดเห็นประเด็นความเสี่ยงทุจริต ปัญหา และผลกระทบใน 4 ประเด็น คือ

  1. การจัดซื้อจัดจ้างบัญชีนวัตกรรมไทยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
  2. การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
  3. การดำเนินโครงการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
  4. การทุจริตในสถานศึกษา

และกิจกรรมในวันสุดท้าย เป็นกิจกรรมต่อเนื่องในการระดมความคิดเห็นประเด็นความเสี่ยงทุจริต ปัญหา ผลกระทบ และการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นประเด็นปัญหาความเสี่ยงทุจริต พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดมหาสารคาม คณะกรรมการชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตระดับอำเภอ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ 13 อำเภอ และแกนนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมโครงการจำนวน 70 คน มีเป้าหมายในการระดมความคิดเห็นวิเคราะห์ความเสี่ยงทุจริต ปัญหา และผลกระทบ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างจากบัญชีนวัตกรรมไทย การทุจริตในสถานศึกษา และการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนและกำหนดแนวทางดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตของจังหวัดมหาสารคามต่อไป

2. ลงพื้นที่สังเกตการณ์โครงการก่อสร้าง งานฟื้นฟูทางหลวงหมายเลข 213 ตอน มหาสารคาม-หนองขอน ตอนควบคุม 0101 ระหว่าง กม.3+400 - กม.5+000 (ช่วงติดแม่น้ำชีขาเข้าเมืองมหาสารคาม) แก้ไขปัญหาถนนทรุดตัวบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กลุ่มงานป้องกันการทุจริต พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน ลงพื้นที่สังเกตการณ์ และขอทราบข้อมูล ณ แขวงทางหลวงมหาสารคาม และบริเวณสถานที่ก่อสร้าง งานฟื้นฟูทางหลวงหมายเลข 213 ตอน มหาสารคาม-หนองขอน ตอนควบคุม 0101 ระหว่าง กม.3+400 - กม.5+000 (ช่วงติดแม่น้ำชีขาเข้าเมืองมหาสารคาม) แก้ไขปัญหาถนนทรุดตัวบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชนว่าการก่อสร้างล่าช้า ได้รับความเดือดร้อนด้านการสัญจร และเกิดอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โครงการก่อสร้างล่าช้า ประชาชนที่สัญจรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากช่องจราจรลดลง ทำให้การจราจรติดขัด

               จากการขอทราบข้อมูล พบว่า การก่อสร้างตามที่ได้รับแจ้งข้อมูล คือ งานจ้างก่อสร้าง กิจกรรมบำรุงรักษาทางหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รหัสงาน 27200 งานฟื้นฟูทางหลวง ของแขวงทางหลวงมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข 213 ตอน มหาสารคาม - หนองขอน ตอน 3 ระหว่าง กม.3+400 - กม.5+000 (LT.,RT.) มูลค่า 69,899,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 240 วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ 17 พ.ค. 2567 – 11 ม.ค. 2568 โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

               1) เดิมปี 2566 จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำโครงการซ่อมริมตลิ่งชั่วคราวราคา 4.2 ล้านบาท เป็นกำแพงกันดินเขื่อนป้องกันริมทะเลความยาว 72 เมตร ตอกเสาเข็ม 2 แถว แต่ตอนมาตรวจพบว่าตอกเข็มเสร็จ 10 เมตร ตัดเข็มทิ้งเหลือ 5 เมตรแล้วก็ไม่พบว่ามีดำเนินการต่อ แต่แจ้งว่ามีการลดค่างาน 9 แสน เบิกจ่ายกว่า 3 ล้านบาท

               2) วันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่ลงพื้นที่ติดตาม ก็พบว่ามีโครงการใหม่มูลค่าเกือบ 70 ล้านบาท ซ้อนทับที่เดิม ตัวเดิมที่ดำเนินการไปถูกฝังอยู่ใต้จุดคณะติดตามลงพื้นที่ สำหรับตัวโครงการใหม่เป็นเขื่อนป้องกันริมตลิ่ง ตอกเสาเข็ม 40×40 ซม. ลึก 12 เมตร เรียง 4 แถว แต่ละต้นในแถวเดีนวกัน ห่างกัน 1.2 ม. กำแพงยาว 135 ม. สูง 5.9 ม. แต่ตามข้อเท็จจริง ตอกเสาเข็มเพียง 9 - 10 เมตร ส่วนที่เหลือตัดทิ้งนอกจากนี้ยังมีขยายผิวทางยาว 1,600 เมตร มีทางเท้า-ราวกันตก และท่อระบายน้ำ 1.2 เมตร ใต้ทางเท้า

               3) สัญญาเริ่ม 17 พ.ค. 2567 สิ้นสุด 11 ม.ค. 2568 แต่จะมีการขยายสัญญาณเนื่องจากน้ำท่วมและวันหยุด เทศกาล โดยผู้รับจ้างแจ้งแขวงทางหลวงมหาสารคามว่าคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งจะล่าช้าประมาณ 2 เดือนเศษ ค่าปรับวันละ 0.25 % หรือ 174,747.50 บาท โดยได้มีการให้ข้อสังเกตต่อหน่วยงานที่ดำเนินการ เรื่องการขยายสัญญาณว่าผู้รับจ้างได้ร้องขอกรณีเหตุน้ำท่วมเพื่อขยายสัญญาณหรือไม่, ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่, พร้อมตั้งมีหลักฐานประกอบคือค่าระดับน้ำแม่น้ำชีบริเวณสะพานท่าขอนยางเพื่อประกอบว่าระดับน้ำสูงเท่าไหร่ท่วมกี่วัน, ผู้รับจ้างได้ดำเนินการตามแผนงานหรือไม่เริ่มตอกเสาเข็มเมื่อไหร่ หลังจากตอกเข็มแล้วเหตุใดจึงไม่รีบเทฐานราก ปล่อยให้น้ำท่วมจึงดำเนินการในแผนขั้นต่อไปไม่ได้ ส่งผลให้ล่าช้า
                ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อสังเกตและจะนำข้อเสนอแนะไปดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดต่อไป

 

3. ป.ป.ช.มหาสารคาม พัฒนาศักยภาพสมาชิกชมรม STRONG สร้างองค์ความรู้แนวทางเฝ้าระวังทุจริตงานก่อสร้างภาครัฐ และมาตรฐานงานก่อสร้างที่ประชาชนควรรู้

วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน อ.มหาสารคาม จ.มหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ STRONG–จิตพอเพียงต้านทุจริต (สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพสมาชิกชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการ และสมาชิกชมรม STRONG ระดับอำเภอในพื้นที่ 13 อำเภอ เข้าร่วมกิจกรรม 100 คน กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายประจัก หล้าจางวาง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม นายกิตติ อ่อนมาก วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม เป็นวิทยากรให้ความรู้หัวข้อ “มาตรฐานงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐที่ประชาชนควรรู้” และนายโฆษิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม และกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) เป็นวิทยากรให้ความรู้หัวข้อ “ข้อสังเกต ความเสี่ยงและโอกาสเกิดการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่เครือข่ายภาคประชาชนควรรู้ เพื่อการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องปรามการทุจริตหน่วยงานภาครัฐ”

               โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกและคณะกรรมการชมรม STRONG ระดับอำเภอ ในการเฝ้าระวังการทุจริต ระงับยับยั้งความเสียหายจากการทุจริตในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ ข้อสังเกต ความเสี่ยง และโอกาสเกิดการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่ประชาชนควรรู้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเฝ้าระวังและป้องปรามการทุจริตหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดมหาสารคามต่อไป

              จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

 

Related