จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 1427
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 31 กรกฎาคม 2561
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ปัญหาการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศ และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวมอย่างมหาศาล เนื่องจากที่ดินของประเทศไทยมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ไม่จำกัดของประชาชนหรือผู้มีอำนาจและอิทธิพลบางกลุ่ม จึงส่งผลให้เกิดการร่วมกันทุจริต โดยผู้ขอ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการขั้นตอนของการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่มีความสวยงาม เช่น พื้นที่เกาะ ที่ชายทะเล ที่ป่าไม้ ที่ภูเขา ที่อุทยาน เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนหวงห้ามไว้เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลปรากฏต่อสื่อมวลชนในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา เช่น คดีคลองด่าน คดีเจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ต เป็นต้น
เมื่อการดำเนินการของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนและขาดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินมีจำนวนหลายฉบับ และหลายหน่วยงาน ซึ่งล้วนมีขั้นตอนและวิธีการออก กฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น การแก้ไขกฎหมายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 ยกเลิกการจำกัดสิทธิของบุคคลในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ในประมวลกฎหมายที่ดิน หมวด 3 การกำหนดสิทธิในที่ดิน เพราะเป็น เหตุบ่อนความเจริญก้าวหน้าในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ การเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการถือครองที่ดินเป็นแบบการกระจุกตัว จากผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ข้อเท็จจริงจากรายงานการปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน และจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ซึ่งพบตระกูลดัง เศรษฐี กลุ่มธุรกิจ กลุ่มนายทุน มีการถือครองที่ดินทั้งแปลงเล็กแปลงใหญ่จำนวนกว่า 958,400 ไร่ ซึ่งกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงนำไปสู่การบุกรุกที่ดินของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาได้มีการแก้ไขครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2515 โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ด้วยเหตุนี้ประชาชนซึ่งครอบครองที่ดินและได้ทำประโยชน์ในที่ดิน และได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการแจ้งการครอบครองไว้แล้วตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาเป็นเวลากว่าสิบห้าปีแล้ว จึงเห็นควรจัดให้มีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ด้วยการใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศในเขตท้องที่ และในขณะเดียวกันให้ทำการเดินสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินที่มีผู้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 จากการแก้ไขในครั้งนี้ส่งผลให้ประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ซึ่งข้อเท็จจริงจากหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.5/10834 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 แจ้งข้อมูลว่าตั้งแต่มีการบังคับให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มีราษฎร แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 7,700,159 แปลง และในปัจจุบันคงเหลือจำนวน 4,194,372 แปลง
ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายทั้งสองครั้งในปี พ.ศ. 2502 และ พ.ศ. 2515 ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินรวมถึงการบุกรุกที่ดินของรัฐจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายได้เปิดช่องให้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เช่น การนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ฉบับเดิม ที่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วแต่เจ้าหน้าที่กรมที่ดินไม่ได้หมายเหตุการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือมิได้จำหน่ายแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ออกจากทะเบียน และมีการนำกลับมาออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจำนวน 4,194,372 แปลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยมิชอบ และการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าเกี่ยวข้องในการทุจริต จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ รวมทั้งเพื่อป้องกันและปราบปราม การทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไข เพิ่มเติม ดังนี้
1. ด้านผู้มีอิทธิพลและผู้มีอำนาจแฝง
1.1) รัฐบาลต้องมีการใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้มีการจำกัดสิทธิของบุคคลในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา 34 ถึง มาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 มาบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งไม่มีผลกระทบกับบุคคลที่ถือครองที่ดินในปัจจุบัน
1.2) ให้รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้ที่ใช้อิทธิพลในการออกเอกสารสิทธิ มีการลงโทษสำหรับ ผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย
1.3) ในพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งที่ดินมีราคาสูง เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงราย หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน กรมที่ดินควรมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อให้การออกเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นไปโดยถูกต้อง
2. ด้านกฎหมาย
2.1) ให้ยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) โดยให้มีการแก้ไข มาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้ผู้ที่มีหลักฐาน แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่อยู่ในการครอบครอง และที่กรมที่ดินยังมิได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อกรมที่ดินภายในระยะเวลา 180 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ตามหลักฐานแบบแจ้ง การครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และพนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ต่อเมื่อศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้นั้นได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ทั้งนี้ หากไม่นำหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่อยู่ในการครอบครองมายื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มาขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และให้ถือว่าเป็นการยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) มาทำการพิสูจน์สิทธิเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว
2.2) เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ ตามมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบโดยเคร่งครัด ถ้าไม่ปฏิบัติ ถือว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และมีความผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
3. ด้านนโยบายและการบริหารราชการ
3.1) รัฐบาลควรกำหนดนโยบายการดำเนินการในเรื่องการออกเอกสารสิทธิที่ดินและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ชัดเจน โดยกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติที่แต่ละรัฐบาลเมื่อเข้ามาบริหารประเทศต้องดำเนินการตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ได้กำหนดไว้แล้ว
3.2) ให้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสารบบการบริหารงานที่ดินบนฐานข้อมูลเดียว และเผยแพร่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศ (web site) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ได้แก่ กระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ข้อมูลเอกสารสิทธิในที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลการตรวจสอบการเพิกถอน แก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลที่ดินของรัฐทุกประเภท แผนที่ภาพถ่าย ทางอากาศ เป็นต้น
3.3) ให้แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โดยเพิ่มผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรับผิดชอบแนวเขตที่ดินของรัฐ เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และให้กำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลลงบนเว็บไซต์ (Web site) ทั้งนี้ ให้หน่วยงานดังกล่าว รับรองความถูกต้องของการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่มีผู้แทนของหน่วยงานนั้น เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน
3.4) ให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะล และชายฝั่งร่วมกันจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าไม้ เพื่อให้การปฏิบัติงาน ดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน
4. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
4.1) ควรมีการเปิดเผยและเผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศทุกชั้นปีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไปยังสาธารณะ ยกเว้นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการลดภาระหน้าที่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินลง
4.2) ควรมีการส่งเสริมให้มีการสร้างทัศนคติและปลูกจิตสำนึกให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากการทุจริต ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องสร้างระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านการทุจริต โดยปรับฐานความคิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม
4.3) ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดให้มีศูนย์ข้อมูลการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก
5. ด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ
5.1) ให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐตามกฎหมายเร่งจัดทำแนวเขตที่ดิน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นปัจจุบัน โดยให้กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จที่แน่นอน
5.2) รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณใหหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภทจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน พร้อมทั้งดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กรมที่ดินประสานงาน ดูแลเรงรัด ควบคุมและติดตามการดำเนินงานใหเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ แต่ถ้าความปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ต้องมีสภาพบังคับให้รายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยทันที ทั้งนี้ ต้องเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานไปยังสาธารณะเป็นประจำทุกปี
5.3) ให้ปรับปรุงบทบาท และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐระดับจังหวัด ให้สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งโอนภารกิจอำนาจ หน้าที่ สำนักแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อย่างแท้จริง
5.4) ให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐต้องรายงานผลการปฏิบัติงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย ความคืบหน้าในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และหากที่ดินของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหน่วยงานลดลง ต้องดำเนินการชี้แจง พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางป้องกันเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาโดยทันที พร้อมทั้งต้องรายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวไปยังสาธารณะเป็นประจำทุกปี
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 รับทราบผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะ เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว และมีข้อสังเกตเพิ่มเติม เช่น (1) กรณีให้นำบทบัญญัติมาตรา 34 ถึง มาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (เกี่ยวกับการกำหนดสิทธิในที่ดิน) ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 มาบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งไม่มีผลกระทบกับบุคคลที่ถือครองที่ดินในปัจจุบันนั้น เห็นว่าการนำบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินมาใช้บังคับอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการลงทุนและการพัฒนาประเทศตลอดจนประชาชนทั่วไป จึงควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ได้เปลี่ยนแปลงไป (2) การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ชัดเจน หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภทควรเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินที่ชัดเจน พร้อมทั้งดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป