Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 462

03/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 12 กันยายน 2560

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน ประกอบการสอบสวนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับกรณีการทุจริตในกระบวนการ เบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการซึ่งพบว่ามีการกระทำในลักษณะของการทุจริต จำแนกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติมีพฤติกรรมตระเวนใช้สิทธิรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลต่าง ๆ หลายแห่ง ทุก 1 - 3 สัปดาห์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเกินความจําเป็นและกลุ่มบริษัทยามี พฤติกรรมการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ  เพื่อสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาของบริษัท เป็นผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จําเป็นจํานวนมาก

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการ เบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุง การปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ราชการ ตามมาตรา 14 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 

ข้อเสนอแนะ

          เพื่อให้การป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 19 (11) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยเสนอให้มีมาตรการ ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะเชิงระบบ

          1.1 ผลักดันให้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use หรือ RDU) ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                1.1.1 ให้สถานพยาบาลของรัฐทุกสังกัด รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนซึ่งเข้าร่วม โครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ นำหลักเกณฑ์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU) ที่เป็นมาตรฐานกลางซึ่งเกิดจากการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไปใช้บังคับอย่างเป็นรูปธรรม

                1.1.2 ให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ใช้หลักเกณฑ์ของ การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU) เป็นหนึ่งในมาตรฐานการพัฒนาและรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

                1.1.3 ให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การใช้ยา อย่างสมเหตุผลด าเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบการกำกับ ดูแล ตรวจสอบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม

                1.1.4 จัดให้มีกลไกการให้ข้อมูลวิชาการด้านยาที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลของโรค เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (evidence base) และการรักษา ตลอดจนราคากลางของยา โดยข้อมูลต้องเข้าถึงง่าย เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ

          1.2 จัดให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยา ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและ สามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที (real time) ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร หรือเป็นองค์กรมหาชนตามข้อเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็ได้

                 ในระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้าน สุขภาพและยา ให้กรมบัญชีกลางจัดให้มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก โดยอาจ มีการจำกัดวงเงิน หรืออาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก เช่น จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาต่อปี ค่ารักษาต่อปี ภูมิลำเนาของผู้ป่วย เป็นต้น โดยหากการรักษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้กรมบัญชีกลางทำการตรวจสอบโดยละเอียด และกรมบัญชีกลางควรจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลว่า แต่ละโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใดให้สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบโดยเปิดเผยด้วย

         1.3 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา

               1.3.1 ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล

               1.3.2 ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุน (cost) มาตรฐาน (standard) ระยะเวลาในการส่งมอบ (time) การให้บริการ (service) และราคา (price) ประกอบการตัดสินใจ

               1.3.3 ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกำหนดคุณสมบัติของบริษัทคู่ค้าใน TOR ให้บริษัทคู่ค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 มาตรา 123/8 และมีระบบอบรมเกณฑ์จริยธรรมฯ แก่พนักงาน โดยให้เป็นคะแนนบวกใน price performance

               1.3.4 ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อใช้กลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนา ระบบยาแห่งชาติกำหนด

         1.4 ให้เพิ่มความเข้มงวดของระบบตรวจสอบภายใน ทั้งในระดับสถานพยาบาลและระดับ หน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาล

2. ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ

          2.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด

          2.2 การผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา

                2.2.2 ให้กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ บังคับใช้เกณฑ์จริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ประชาสัมพันธ์ และปลูกฝังให้บุคลากรและภาคประชาชน มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเสนอขายยาอย่างเหมาะสม

                2.2.2 ให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีเกณฑ์จริยธรรม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายยา และการสั่งจ่ายยาในจรรยาบรรณวิชาชีพ

                2.2.3 ให้เกณฑ์จริยธรรมเป็นกลยุทธ์เสริมสร้างธรรมาภิบาลระบบจัดซื้อและควบคุม ค่าใช้จ่ายด้านยาของสถานพยาบาล

          2.3 การปลุกจิตสำนึกบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
                2.3.1 ให้หน่วยงานต้นสังกัดประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรม ให้บุคลากรรับทราบ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการปฏิบัติตนตามเกณฑ์จริยธรรม

                2.3.2 ให้สถานพยาบาลประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรม การส่งเสริมการขายยา และการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้ประชาชนได้รับทราบ ในรูปแบบของสื่อที่มีความเข้าใจง่าย สร้างเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยบุคลากรในสถานพยาบาลและประชาชน ทำการเฝ้าระวังและตรวจสอบ การส่งเสริมการขายยา และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงมีช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งข้อมูล การกระทำผิดให้แก่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรง 

                2.3.3 ให้กรมบัญชีกลางประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้ผู้ใช้สิทธิมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่ใช้สิทธิของตนโดยไม่สุจริต

          2.4 การสร้างมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของภาคเอกชน เพื่อป้องกันการส่งเสริม การขายยาที่ไม่เหมาะสม

               ให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

               อนึ่ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นมุ่งเสนอต่อสถานพยาบาลของทางราชการ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และการรักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น เป็นประโยชน์ อาจนำไปใช้กับสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการในระบบโครงการประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยก็ได้

มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ดังนี้

          1. รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และผลการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้

               1.1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเชิงระบบ เช่น ผลักดันให้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use หรือ ROU) จัดให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาที่เชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสมและเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้ และกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา รวมทั้งข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา และการสร้างมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของภาคเอกชนเพื่อป้องกันการส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสม

               1.2 กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นชอบตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมีข้อสังเกตในบางประเด็น เช่น กรณีที่ให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศฯ เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการนั้น กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถรับรู้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ในทันทีซึ่งจะป้องกันผู้ใช้สิทธิทุจริตโดยการเวียนรับยาซ้ำตามโรงพยาบาลต่าง ๆ (ช็อปปิ้งยา) ได้

          2. ให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เร่งรัดการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ใช้สิทธิข้าราชการให้แล้วเสร็จโดยเร็วและสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในเดือนธันวาคม 2560


 

Related