จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 766
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 1 กันยายน 2563
ที่มาและความสำคัญ
ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ และนำมาเปรียบเทียบถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การทุจริตในแต่ละปี เพื่อที่จะวัดระดับความรุนแรงของการคอร์รัปชันในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ นักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศมักจะนำดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) มาใช้ประกอบการประเมินความน่าสนใจและการตัดสินใจที่จะลงทุนในแต่ละประเทศ โดยมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยง (risks) ต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจ
สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยกำหนดเป็นเป้าหมายตามแผนและยุทธศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ดังนี้
1.1 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) โดยกำหนดให้ดัชนีการรับรู้การทุจริต(CPI) เป็นเป้าหมายในการดำเนินการของแผนแม่บทฯ ซึ่งได้กำหนดให้ประเทศไทยมีอันดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี พ.ศ. 2580 อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของโลก และ/หรือ ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 73 คะแนน
1.2 แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้กำหนดเป้าหมายรวม ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในปี 2579
1.3 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยเพิ่มคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตให้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
1.4 ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) กำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ชาติ “ระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สูงกว่าร้อยละ 50”
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนการดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ระยะที่ 3 ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI)
พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ซึ่งได้มีเสนอแนะใน 7 ประเด็น โดยเห็นควรกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังนี้
1) การจัดการเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (MANAGE CONFLICTS OF INTEREST)
ควรลดความเสี่ยงในการใช้อิทธิพลในกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ โดยการควบคุมและตรวจสอบสถานะทางการเงินและผลประโยชน์อื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐให้รัดกุมขึ้น และควรจัดการการแสวงหาประโยชน์ของอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ การกำหนดระยะเวลาการเว้นวรรคดำรงตำแหน่งของอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งสร้างความมั่นใจว่าได้มีการนำกฎและระเบียบต่าง ๆ มาบังคับใช้และลงโทษอย่างเหมาะสม
2) การควบคุมการใช้จ่ายเงินทางการเมือง (CONTROL POLITICAL FINANCING)
ควรปรับปรุงและบังคับใช้ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทางการเงินอย่างเหมาะสม รวมทั้งพรรคการเมืองควรเปิดเผยแหล่งที่มาทางการเงิน เพื่อที่จะป้องกันการใช้จ่ายเงินทางการเมืองเกินความจำเป็น เพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมือง
3) การเสริมสร้างความโปร่งใสในระบบการเลือกตั้ง (STRENGTHEN ELECTORAL INTEGRITY)
ควรจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ป้องกันการแทรกแซงการซื้อสิทธิ ซื้อเสียง และการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพื่อที่จะส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ และสามารถต่อต้านปัญหาการทุจริต
4) การควบคุมการโน้มน้าวชักจูง (REGULATE LOBBYING ACTIVITIES)
ควรส่งเสริมให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วม การเปิดเผย และทำความเข้าใจถึงที่มาของการกำหนดนโยบายสาธารณะ และควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
5) การป้องกันการให้สิทธิพิเศษแก่คนบางกลุ่ม (TACKLE PREFERENTIAL
TREATMENT)
ควรสร้างกลไกเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การให้บริการสาธารณะและการจัดสรรทรัพยากรไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะต้องจัดสรรประโยชน์ให้ทั่วถึงกับทุกภาคส่วน
6) การเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน (EMPOWER CITIZENS)
ควรปกป้องเสรีภาพของประชาชนและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งอิสระในการแสดงความเห็น การแสดงออกทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และปกป้องภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้แจ้งเบาะแส และสื่อมวลชนในการติดตามตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวการทุจริต
7) เพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจสอบถ่วงดุล (REINFORCE CHECKS AND BALANCES)
ควรส่งเสริมและสนับสนุนระบบการบริหารราชการโดยใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในการพิจารณาคดี และรักษาระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ
2. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์ 9 แหล่งข้อมูล
จากการวิเคราะห์ประเด็นคำถามทั้ง 9 แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) สามารถจัดเป็นประเด็นของข้อเสนอแนะได้ 5 ประเด็น ดังนี้
1) ประเด็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต
1.1) สนับสนุนงบประมาณ อัตรากำลัง ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ให้แก่หน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย
1.2) มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. ในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI)
1.3) มอบหมายสำนักงาน ป.ป.ท. ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ความคืบหน้าในการดำเนินการที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและสำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ เป็นระยะ
1.4) มอบหมายกรมประชาสัมพันธ์ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาระบบหรือกระบวนการในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กระบวนการทำงาน ผลการดำเนินงาน ข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจะต้องกำหนดวิธีการติดตามและประเมินผลเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
1.5) ผลักดันให้มีการออกกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ พ.ศ. ....”
1.6) ผลักดันให้มีการออกกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....” และร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ...
1.7) นอกเหนือจากแหล่งข้อมูล IMD ซึ่งมีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เป็นเครือข่าย และแหล่งข้อมูล WEF ซึ่งมีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเครือข่าย รัฐบาลควรพิจารณามอบหมายให้มีหน่วยงานหลัก เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งเสริม การรับรู้และยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ของแต่ละแหล่งข้อมูล ดังนี้
1.7.1) แหล่งข้อมูล Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF (TI)) เห็นควรมอบหมายสำนักงาน ป.ป.ท.
1.7.2) แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Service (EIU) เห็นควรมอบหมายสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลัก
1.7.3) แหล่งข้อมูล Global Insights Business Conditions and Risk Indicators (GI) เห็นควรมอบหมายกรมการค้าต่างประเทศ
1.7.4) แหล่งข้อมูล Political and Economic Risk Consultancy (PERC) เห็นควรมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.7.5) แหล่งข้อมูล The PRS Group International Country Risk Guide (ICRG) (PRS) เห็นควรมอบหมายหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย JFCCT (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand)
1.7.6) แหล่งข้อมูล World Justice Project Rule of Law Index (WJP) เห็นควรมอบหมายกระทรวงยุติธรรม
1.7.7) แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Project (VDEM) เห็นควรมอบหมายสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานหลัก
1.8) การยกระดับใน 9 แหล่งข้อมูล ดังนี้
1.8.1) แหล่งข้อมูล Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF (TI))
(1) ต้องบังคับใช้กฎหมายและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตอย่างจริงจัง
(2) จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการดำเนินการของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำการทุจริต เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(3) ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกับสื่อมวลชน ดำเนินการเผยแพร่สื่อสารผลการดำเนินคดีและการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดฐานทุจริต ให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
1.8.2) แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Service (EIU)
(1) จัดทําและพัฒนาระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในทุกประเภท เพื่อให้องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ตลอดจนสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
(2) จัดทำเอกสารงบประมาณและเผยแพร่ข้อมูลที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ยังขาดอยู่หรือยังเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์สากล ที่ไม่เพียงพอให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น รายงานทบทวนกลางปี โดยจัดทําคําแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ และขึ้นเว็บไซต์
(3) กำหนดแนวทางการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดหลักการตรวจสอบความโปร่งใส และให้สาธารณชนตรวจสอบได้
(4) การแต่งตั้ง โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเป็นไปตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และกระบวนการมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
1.8.3) แหล่งข้อมูล Global Insights Business Conditions and Risk Indicators (GI) และแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD)
มอบหมายให้กระทรวงพานิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขออนุมัติ อนุญาต โดยเฉพาะกรณีการนำเข้าและส่งออก และกรณีที่เกี่ยวกับสินบนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
1.8.4) แหล่งข้อมูล Political and Economic Risk Consultancy (PERC)
องค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด ต้องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง
1.8.5) แหล่งข้อมูล The PRS Group International Country Risk Guide (ICRG) (PRS) และแหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Project (VDEM)
จัดทำมาตรการป้องกันในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจ ภาคเอกชน ที่เอื้อผลประโยชน์ระหว่างกัน
1.8.6) แหล่งข้อมูล World Economic Forum Executive Opinion Survey (WEF)
มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนำเข้า–ส่งออก การสาธารณูปโภค การชำระภาษี การทำสัญญาและการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดให้ประชาชนผู้รับบริการสามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนผ่านช่องทางหรือระบบที่มีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งนี้ ช่องทางหรือระบบดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และมีความสะดวกรวดเร็ว และมีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
1.8.7) แหล่งข้อมูล World Justice Project Rule of Law Index (WJP)
เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ดังนี้
(1) เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐบาล
(2) เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายตุลาการ ได้แก่ ศาล (ศาลทุกศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์ ศาลฎีกา) ศาลปกครอง ศาลทหาร รวมถึงศาลชำนัญพิเศษ อาทิ ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลเยาวชนและครอบครัว)
(3) เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายทหาร และตำรวจ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(4) เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา
ซึ่งการไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง นั้น ต้องครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายอื่น ๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่นนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นด้วย
1.9) พิจารณาดำเนินการตามแนวทางของประเทศที่มีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เกินร้อยละ 50 (สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม
2) ประเด็นเกี่ยวกับสินบน
2.1) รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนศึกษานวัตกรรมการต่อต้านการติดสินบนและนำระบบมาปรับใช้ เช่น มาตรฐาน ISO 37001 ระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน (Anti - Bribery Management Systems) ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการเพื่อต่อต้านการติดสินบน โดยองค์การมาตรฐานสากล (International Organization for Standardization : ISO) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์การ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดสินบน และสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2.2) กำหนดเป็นเงื่อนไขของผู้ว่าจ้าง (Term of Reference : TOR) ให้บริษัทเอกชนที่จะเข้าประกวดราคากับหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีมาตรฐานระบบการบริหารจัดการองค์การเพื่อต่อต้านการติดสินบน เช่น มาตรฐาน ISO 37001 เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดสินบนทุกรูปแบบในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
2.3) ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน พิจารณาทบทวนกฎหมายให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในประเด็น การอนุมัติ อนุญาต การนำเข้า - ส่งออก การชำระภาษีประจำปี เป็นต้น
2.4) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานและติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์และเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ และมีมาตรการบังคับหรือลงโทษ หากหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเผยแพร่ผลการดำเนินการให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยให้มีการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ
2.5) ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption (CAC)) เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
3) ประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
3.1) ผลักดันให้มีการออกกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....”
3.2) มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นมาตรฐานกลางในการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมแห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (4) “คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ”
4) ประเด็นการตรวจสอบและการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ
4.1) รัฐบาลต้องกำหนดโยบายปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด โดยให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย
4.2) มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักประสานกับสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม จัดทำแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดฐานทุจริตทั้งทางอาญาและทางวินัยให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
4.3) มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมพัฒนาระบบ/กระบวนการและมาตรการ ในการให้คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ
5) ประเด็นความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ในระบบงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
มอบหมายกระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงบประมาณ จัดทำข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เผยแพร่ข้อมูลที่แสดงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์สากลให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น รายงานทบทวนกลางปีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ พร้อมทั้งจัดทําคําแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวบนเว็บไซต์
มติคณะรัฐมนตรี
กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้เสนอความเห็นและข้อสังเกตเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย