Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 7155

05/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 7 เมษายน 2558

ที่มา/สภาพปัญหา

           ในช่วงกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ปี 2505 - 2552 ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 72 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยประมาณ 0.5 ล้านไร่ต่อปี ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 175 ล้านไร่ แต่ในปี 2552 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 30.46 ของพื้นที่ประเทศ หรือ 44.35 ล้านไร่ และปัจจุบันยังคงมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มของปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านความมั่นคงในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้มีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินงานของรัฐ ที่ผ่านมาขาดความเป็นเอกภาพ นโยบายขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง ความขาดแคลนทรัพยากรทางการบริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้และเทคโนโลยี กฎหมายมีบทลงโทษต่ำ และขาดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตหรือเกรงกลัวอิทธิพลทำให้เกิดการ ละเลยต่อการบังคับใช้กฎหมาย

           เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศที่มีผลกระทบในวงกว้าง คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านความมั่นคง จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 44 - 1/2555 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2555 เห็นชอบให้ศึกษา “มาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้” ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ “เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาลหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้สำนักมาตรการป้องกันการทุจริต (ชื่อสำนักในขณะนั้น) ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำในเขตจังหวัดน่าน ตามข้อมูลที่สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบพบข้อเท็จจริงในพื้นที่ตามที่สื่อมวลชนได้มีการเสนอข่าวการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อจัดทำเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตด้วย

           คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านความมั่นคงจึงได้นำข้อมูลของสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ดังกล่าวมาใช้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการศึกษา และทำการศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ ศึกษาเอกสาร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งแบบสอบถาม ตลอดจนสอบข้อมูลความเห็นจากหน่วยงาน จังหวัดเจ้าหน้าที่ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ “มาตรการป้องกันการทุจริตและบุกรุกพื้นที่ป่าไม้”

 

ข้อเสนอแนะ

           คณะกรรมการป.ป.ช. ได้เสนอเรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะประกอบด้วย มาตรการด้านนโยบาย มาตรการด้านบริหารจัดการ และมาตรการด้านกฎหมาย ดังนี้

  1. มาตรการด้านนโยบาย

               1.1  กำหนดให้ "การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้"เป็นวาระแห่งชาติ และให้คงเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศไว้ในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2528 ที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ 2 ประการ คือ ป่าเพื่อการอนุรักษ์ กำหนดไว้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายาก และป้องกันภัยธรรมชาติ อันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัยและนันทนาการของประชาชนในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ และป่าเพื่อเศรษฐกิจ กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และป่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ

               1.2  รัฐบาลต้องควบคุมไม่ให้มีการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันรวมถึงพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ในพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง

               1.3  รัฐบาลต้องขอความร่วมมือภาคเอกชนไม่ให้มีการสนับสนุนหรือส่งเสริมการปลูกหรือรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตผลอื่นใดที่ผลิตในพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่หวงห้ามของรัฐที่ถูกบุกรุก

               1.4  ยุติโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศของกรมที่ดิน หากจะดำเนินการต่อ ต้องให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

               1.5  ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการจัดทำระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด คือ 1 : 4,000 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2550 ข้อ 10 และ ข้อ 13 ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จ

               1.6  ผลักดันให้มีการนำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศที่ ทส. กำลังดำเนินการมาขยายผล ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำฐานข้อมูลแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงของทุกหน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน รวมถึงป่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ด้วย ในมาตราส่วนเดียวกัน คือ 1 : 4,000 เป็นการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าไม้แต่ละประเภทในความรับผิดชอบของหน่วยงานตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงให้ชัดเจนทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ที่ถูกบุกรุกและต้องกำหนดแนวเขตพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นปัญหาในเรื่องสิทธิในที่ดินรอการพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจนเช่นกัน

               1.7  รัฐบาลต้องสนับสนุนและเร่งรัดการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ (Reshape) ที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและสื่อมวลชน มีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้ยอมรับแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ถูกบุกรุกให้ชัดเจนร่วมกัน

               1.8  รัฐบาลต้องเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิครอบครองในที่ดินป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี พร้อมทั้งกำหนดแนวทางดำเนินการรับรองสิทธิและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ

               1.9  รัฐต้องกำหนดนโยบายการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยส่งเสริม และเผยแพร่แนวความคิดเกี่ยวกับป่าชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นในทุกชุมชนที่มีพื้นที่ป่าไม้ เป็นการให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลตามแนวพระราชเสาวนีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแนวกันชนรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าไม้และที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์

               1.10  ทบทวนนโยบายการจัดการกับพื้นที่ป่าไม้ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ใหม่ โดยให้ ส.ป.ก.ดำเนินการ ดังนี้         

                       1) เร่งรัดการจัดสรรแบ่งแปลงที่ดินในพื้นที่ สป.ก. ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวต้องส่งมอบที่ดินส่วนที่ยังจัดสรรแบ่งแปลงไม่แล้วเสร็จคืนแก่ กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯเพื่อให้มีการฟื้นฟูสภาพป่า และประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ แล้วแต่กรณีต่อไป

                       2) ดูแลราษฎรที่ทำกินบนที่ดินที่ได้จัดสรรแบ่งแปลง ไว้แล้วโดยพัฒนาการเกษตร แหล่งน้ำ การตลาด และหน้าที่อื่นที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้ราษฎรที่อยู่ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรแบ่งแปลงแล้ว สามารถดำรงชีพได้โดยไม่ต้องขายสิทธิให้ใคร

                       3) สำรวจว่าราษฎรที่ได้รับการจัดสรรได้ทำกินบนที่ดินแปลงนั้นตามเงื่อนไขในการปฏิรูปที่ดินหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด หากไม่ทำกินถือว่าสิทธิที่ได้รับหมดไป ต้องทำการเพิกถอนสิทธิ เพื่อจัดสรรแบ่งแปลงให้ราษฎรรายอื่นต่อไป

                       4) ให้ ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ร่วมกันเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ยังมีสภาพป่า เพื่อเร่งคืนให้กรมป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

               1.11  รัฐบาลต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ ดังนี้

                       1) รวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าด้วยกันเพื่อให้การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้มีเอกภาพ

                       2) จัดตั้งสำนักงานป่าไม้จังหวัด สำนักงานป่าไม้อำเภอให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เพื่อดูแลรับผิดชอบในพื้นที่โดยตรง และมีความใกล้ชิดกับพื้นที่ และประชาชน เหมือนก่อนการปฏิรูประบบราชการ ปี พ.ศ. 2545

                       3) ต้องสร้างขวัญและกำลังใจอีกทั้งหลักประกันให้เจ้าหน้าที่สามารถปกป้องผืนป่าได้อย่างไม่หวั่นไหว หนักแน่น มั่นคง โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ พิจารณาทบทวนเรื่องต่าง ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจการดูแลผืนป่า จำนวนร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศอย่างแท้จริง ได้แก่ เรื่องโครงสร้างของหน่วยงาน อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ทั้งที่เป็นข้าราชการและลูกจ้าง เบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนอื่นของแต่ละหน่วยงานที่ต้องลาดตระเวนในพื้นที่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการลาดตระเวนแต่ละเดือน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน อาทิ รถยนต์ อาวุธปืน และเครื่องแสดงระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (Global Positioning System : GPS) ฯลฯ ส่งเสริมให้มีหลักประกันสวัสดิการและความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและสิ่งจูงใจในการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกในการทำงาน เพื่อให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจที่ดีมีความหนักแน่น เช่น เงินรางวัลสำหรับการชี้เบาะแส หรือการนำจับ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งที่เป็นข้าราชการและลูกจ้าง โดยให้ความรู้ ทักษะ ทั้งด้านเทคนิคเกี่ยวกับป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้านกฎหมาย และอื่น ๆ ที่จำเป็นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

  1. มาตรการด้านบริหารจัดการ

               2.1  ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) นำมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้นี้ ไปพิจารณากำหนดเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

               2.2  ให้มียุทธศาสตร์การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในระดับชาติ โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำยุทธศาสตร์และแผนป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ร่วมกัน โดยจัดลำดับความสำคัญของผืนป่า ตามสภาพลุ่มน้ำที่ต้องมีการเฝ้าระวังการบุกรุก และให้มีการระดมหรือสนธิกำลังเพื่อ "ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้" ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน เช่น กรณีพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการลักลอบตัดไม้พะยูงหรือพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกบุกรุกเพื่อทำรีสอร์ท ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้มียุทธศาสตร์การแก้ไขการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และลุ่มน้ำร่วมกัน

               2.3  ให้จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าจัดทำยุทธศาสตร์ในการป้องกันการบุกรุก การฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ของจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดโดยรวม ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับยุทธศาสตร์การป้องกันการบุกรุกการฟื้นฟูและการดูแลรักษาป่าไม้ของจังหวัด

               2.4  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาป่าไม้ดำเนินการปรับปรุงป่าเสื่อมโทรมที่ยังสามารถฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพป่าสมบูรณ์ได้อย่างเร่งด่วน

               2.5  องค์กรรับผิดชอบ

                     1) ในส่วนกลางให้มีศูนย์กลางการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้โดยรวม เน้นการบริหารจัดการผืนป่า และลุ่มน้ำ อาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างจริงจัง ประกอบด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าไม้โดยตรงอย่างน้อย 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

                     2) ในส่วนภูมิภาคให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบการบริหารจัดการป่าไม้ของจังหวัดโดยกำหนดให้ชุมชนในพื้นที่ทุกภาคส่วนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมเป็นคณะกรรมการรับผิดชอบการบริหารจัดการป่าไม้ของจังหวัดอย่างแท้จริง

               2.6  จัดทำระบบฐานข้อมูลผืนป่า และลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้เป็นระบบเดียวกัน ใช้ร่วมกันทุกหน่วยงาน และเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               2.7  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดเผยแพร่ข้อมูลแผนที่ป่าไม้ทุกประเภททุกแห่งทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงและสามารถสืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ต และรณรงค์ให้ประชาชนไม่ให้การสนับสนุนการประกอบกิจการใด ๆ ที่กระทำในป่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               2.8  สร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ โดย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต้องชี้แจงทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ เรื่องเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจขั้นตอนการทำงานของภาครัฐในเรื่องการดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 กรณี ดังนี้

                     1) ขั้นตอนการดำเนินการ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ. 2507 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนที่ต้องมีการไล่รื้อผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ต้องมีการจัดทำบัญชีและประกาศให้ทราบทั่วกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

                     2) คดีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ที่มีการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการแล้ว แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าขาดเจตนาบุกรุกหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าไม้นั้น ๆ ต้องเผยแพร่ข้อมูลและชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกและต่อสาธารณะ ว่าการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว มิได้หมายถึงผู้นั้นมิได้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ดังนั้น หน่วยงานนั้น ๆ จึงยังสามารถดำเนินการต่อผู้บุกรุกตามที่กฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ ให้อำนาจไว้ได้

               2.9  การดำเนินการกับผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ส่วนที่เป็นบ้านพักตากอากาศหรือแหล่งท่องเที่ยว ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสนอไว้แล้วดังนี้

                     1) กรณีที่เป็นผู้ที่บุกรุกเข้าแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้ โดยเจตนาชัดเจน ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แล้ว ถือว่าเป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้โดยไม่สุจริต รัฐต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่มีการให้สิทธิใด ๆ แก่บุคคลดังกล่าว ทั้งที่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

                     2) กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุกรุกตาม (2.6.1) โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ หรือ จ้างวาน หรือส่งเสริมให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะรับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตนถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ไม่สุจริตด้วย รัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียบขาดเช่นเดียวกัน

                     3) กรณีราษฎรที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินอยู่ก่อน หรือภายหลังการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก และมีการโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่นหรือที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินแม้หน่วยงานของรัฐจะได้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยการยึดพื้นที่คืนแล้วก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการโดยสุจริต ควรจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 15 ปี ในกรณีทั่ว ๆ ไป หรือ 10 ปี หรือน้อยกว่าในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศ โดยทั้งสองกรณีจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขมิให้ก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติมและให้ปลูกต้นไม้และปลูกป่าตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควรกำหนดให้เต็มพื้นที่ และไม่ให้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่อระบบนิเวศ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข จะต้องให้ออกไปจากพื้นที่ทันที เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำการฟื้นฟูรักษาป่า อีกทั้งยังมีอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาสภาพป่าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้มีผู้บุกรุกพื้นที่ป่ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงต้องแก้ไขปัญหาโดยวิธีที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ด้วย ทำให้รัฐได้พื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีกมากทั้งยังเป็นกุศโลบายในการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยวิธีการที่ประหยัดงบประมาณและบุคลากรภาครัฐ

               2.10  ดำเนินการกับเกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้โดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชเศรษฐกิจ โดยนำแนวการให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 0097/2536 เรื่อง การเก็บหาผลปาล์มน้ำมันและกรีดยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาปรับใช้ กล่าวคือ ให้กรมป่าไม้ปฏิบัติต่อเกษตรกรผู้บุกรุกเช่นเดียวกับผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในป่าสงวนแห่งชาติได้ในกรณีตามมาตรา 16 (1) และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และเกษตรกรที่ประสงค์จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องขออนุญาตเก็บหาของป่า ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 และต้องเสียค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าสำหรับของป่าตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้กับกรมป่าไม้

               2.11  ให้กรมสรรพากรตรวจสอบว่าผู้ประกอบการในพื้นที่ป่าไม้มีการชำระภาษีเงินได้ถูกต้องหรือไม่

               2.12  การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าไม้ หรืออยู่ในพื้นที่ป่าไม้ คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 10 (3) ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทุกครั้ง

               2.13  ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่มีความรักและหวงแหนพื้นที่ป่าไม้ ช่วยกันป้องกันและดูแลรักษาป่าให้ยั่งยืน

               2.14  ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในอดีตอย่างเร่งด่วน โดยเร่งรัดทำการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในขณะนั้นทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง และดำเนินการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในช่วงระหว่างเวลาที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง

               2.15  กรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าไม้ หรือภายหลังจากการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐไว้ชัดเจนแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา

  1. มาตรการด้านกฎหมาย

               3.1  เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ให้สูงขึ้น

               3.2  กรณีที่มีผู้จ้างวาน สั่ง ใช้ หรือให้การสนับสนุนอื่นใดให้ผู้อื่นตัดไม้ ทำลายป่า หรือบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อการใด ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด หรือเพื่อทำบ้านพักตากอากาศ ต้องมีการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานะผู้ใช้และผู้สนับสนุนให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 และมาตรา 86 อย่างจริงจัง และให้มีการประกาศให้บุคคลทั่วไปได้ทราบถึงเขตพื้นที่หวงห้ามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมป่าไม้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ให้ทราบทั่วกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทุนที่ให้การสนับสนุนชาวบ้านทำการเกษตร และแจ้งรายชื่อ เกษตรกร ที่บุกรุกป่าให้นายทุนดังกล่าวทราบ เพื่อป้องกันมิให้มีการส่งเสริมให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น อันจะเข้าข่ายการเป็นผู้สนับสนุนซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย

               3.3  ดำเนินการกับทรัพย์ของกลางที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2507 มาตรา 64 ทวิ และ 64 ตรี โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้ริบของกลางที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้ในการกระทำความผิดได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ทวิ และบทยกเว้นให้คืนทรัพย์ของกลางได้ ตามมาตรา 64 ตรี อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาใช้ในการกระทำความผิดได้อีก

               3.4  ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่าไม้ ให้มีการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลตามแนวพระราชเสาวนีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแนวกันชนรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าไม้และที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ

               3.5  ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบสวนคดีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มข้น โปร่งใสมากขึ้น

               3.6  ต้องมีมาตรการทางกฎหมายห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดให้มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือบริการอื่นใดของรัฐในพื้นที่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ หรือยังไม่มีข้อยุติเรื่องสิทธิในที่ดินว่าบุกรุกพื้นที่ป่าไม้หรือไม่ ทั้งในการให้บ้านเลขที่ น้ำประปา ไฟฟ้า การส่งเสริมอาชีพ การจดทะเบียนสถานประกอบการพร้อมทั้งให้มีมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่จัดทำบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือบริการอื่นใดในพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และให้มีมาตรการควบคุมการออกเลขที่บ้านเพื่อป้องกันมิให้มีการอ้างสิทธิการขอรับบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือบริการอื่น ๆ ด้วย

               3.7  ต้องมีมาตรการทางกฎหมายลงโทษผู้ซื้อ และผู้ขายสิทธิในที่ดินที่เป็นเขตหวงห้ามของรัฐทุกประเภท เพื่อให้มีรายละเอียดชัดเจนและไม่กระทบต่อผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิโดยชอบก่อนประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้

               3.8  ควรมีกฎหมายจัดตั้งกองทุนหรือสนับสนุนงบประมาณเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้แก่ชุมชนในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ลักษณะกองทุนหมุนเวียน โดยให้กระทรวงการคลังและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันพิจารณา และควรนำรายได้จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้มาใช้เพื่อกิจการของกองทุน

 

มติคณะรัฐมนตรี

  1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และรับทราบคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
    ในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งตามหนังสือเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

  2. ต่อมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 รับทราบสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

 

 

Related