จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 387
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 1 กันยายน 2558
ที่มา/สภาพปัญหา
จากความต้องการแร่โลหะที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดในต่างประเทศ เช่น แร่เหล็ก และแร่แมงกานีส รวมทั้งแร่อุตสาหกรรมที่ขาดแคลนและอยู่ในพื้นที่หวงห้าม หรือแหล่งแร่ที่มีขนาดเล็ก เช่น แร่ฟลูออไรต์ และแร่ทรายแก้ว ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจที่ทำให้เกิดขบวนการลักลอบทำแร่ขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบทำแร่เหล็กพบว่ามีการลักลอบทำแร่ในเขตจังหวัดเลย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และลพบุรี แร่แมงกานีสมีการลักลอบทำแร่ในเขตจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เลย อุทัยธานี และสระแก้ว แร่ฟลูออไรต์ มีการลักลอบทำเหมืองแร่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย และแร่ทรายแก้วมีการลักลอบทำเหมืองแร่ในเขตจังหวัดระยอง และจันทบุรี ประกอบกับมีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับขบวนการทำแร่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้เปิดโปงถึงขบวนการลักลอบทำแร่เหล็ก มีข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของขบวนการลักลอบทำแร่ ข้อมูลจากการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนและลงโทษข้าราชการจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต รู้เห็นเป็นใจ และแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยให้มีการลักลอบทำแร่โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายทุนในขบวนการลักลอบทำแร่ โดยพบว่าระหว่างปีงบประมาณ 2552 – 2557 มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในอุตสาหกรรมแร่จำนวน 48 เรื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557) ประกอบกับคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณากรณีปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เกี่ยวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบทำแร่ในหลายพื้นที่ โดยอาจจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการลักลอบทำแร่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของสิ่งแวดล้อมและมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรอื่น ๆ อีกหลายด้าน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงการสูญเสียทรัพยากรแร่ ดังนั้นจึงควรพิจารณาศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงในประเด็นของการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเข้าใจบริบทของปัญหาในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ข้อเสนอแนะ
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 รัฐบาลต้องตระหนักคุณค่าของทรัพยากรแร่ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้การคุ้มครองป้องกันทรัพยากรแร่เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการสูญเสียทรัพยากรแร่กับสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะการพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ การเลือกที่จะเก็บทรัพยากรแร่ชนิดที่มีมูลค่าและขาดแคลนไว้ก่อน การจัดลำดับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Valueadded) เช่น การควบคุมการส่งแร่ออกนอกประเทศ การจำกัดการนำทรัพยากรแร่มาใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อใช้ประโยชน์ภายในประเทศเป็นหลัก การผลิตและส่งออกแร่ที่แปรรูปแล้ว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการส่งวัตถุดิบราคาถูกไปขายต่างประเทศ เป็นต้น
1.2 รัฐบาลควรตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ และกระบวนการดำเนินการในอุตสาหกรรมแร่ โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งเข้มงวดกวดขัน กำกับและติดตามการดำเนินในอุตสาหกรรมแร่อย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่อย่างจริงจังโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ปัญหาความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนอันอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ได้
1.3 รัฐบาลควรเร่งกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่เป็นของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้ชัดเจน โดยต้องไม่ไปสร้างให้เกิดวงจรของการลักลอบทำแร่อีกต่อไป
2.1 เร่งพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพยากรแร่ของประเทศให้ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งอาจจะเป็นช่องว่างก่อให้เกิดการทุจริต เช่น กระบวนการและระยะเวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาตต่าง ๆ การมอบอำนาจ การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ เป็นต้น
2.2 ควรปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติในการพิจารณาให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ เพื่อให้มีการควบคุมทรัพยากรแร่บางชนิดที่มีมูลค่าและขาดแคลนเป็นกรณีพิเศษ อาทิ การไม่อนุญาตให้ส่งออกแร่ที่เสี่ยงต่อการทำแร่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายออกนอกราชอาณาจักร การพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรในลักษณะพิเศษ เช่น การทำเหมืองแร่ที่ไม่ต้องใช้วัตถุระเบิดเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตทำเหมืองแร่ การกำหนดให้มีการประมูลเพื่อขออนุญาตประทานบัตร หรือครอบครองแร่กรณีพิเศษในพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบทำแร่ หรือเคยมีการลักลอบทำแร่แล้วยังเหลือแร่ที่มีศักยภาพ เป็นต้น
2.3 ควรปรับปรุงการจัดเก็บค่าภาคหลวงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ และเป็นการกระจายรายได้ หรือผลประโยชน์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากค่าภาษี ค่าภาคหลวงที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ ชุมชน ท้องถิ่นและสาธารณะพึงจะได้รับ โดยนำเอาต้นทุนทางธรรมชาติเข้ามาพิจารณาร่วมในการประเมินความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการทำเหมืองแร่ทุกชนิด
2.4 ให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความลักลั่นในการปฏิบัติงานตามอำนาจ หน้าที่ระหว่างกระทรวง มหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันให้ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ระหว่างพนักงานฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ) และพนักงานสอบสวน (เจ้าหน้าที่ตำรวจ) เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองป้องกันทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
3.1 กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจและจัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งและจำนวนของทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ในที่ดินของรัฐและในที่ดินเอกชน ตามศักยภาพแร่ของแต่ละพื้นที่ซึ่งต้องมีการประเมินเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการบริหารทรัพยากรแร่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าอย่างยั่งยืน และเป็นการให้ประชาชนช่วยดูและรักษาและป้องกันทรัพยากรแร่ในพื้นที่
3.2 ปรับโครงสร้างหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบสัมปทานเหมืองแร่ ให้สามารถประสานการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร อาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ และอาชญาบัตรพิเศษ ให้บูรณาการด้านการพิจารณาอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ให้มีความถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส รวดเร็ว มีระยะเวลากำหนดชัดเจน และควรพิจารณาแนวทางในการดำเนินการแบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้เสร็จสิ้นในหน่วยงานรับผิดชอบหลักหน่วยงานเดียว เนื่องจากการควบคุมระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงานทำได้ยาก โดยผลักดันให้มีการดำเนินการแบบคู่ขนานกันไป เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่
3.3 ควรมอบหมายให้จังหวัด โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ประสานและรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินคดีลักลอบทำแร่ทุกคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่และจัดทำฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิดรายการของกลางและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ
3.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบทำแร่ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกระบวนการในการทำเหมือง รวมทั้งให้มีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการด้วย เช่น การตรวจสอบต้นทางการผลิตแร่ และแหล่งที่มาของแร่จากประทานบัตร ใบอนุญาตครอบครองแร่ ใบอนุญาตให้ขายแร่อันเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมือง หรือหนังสืออนุญาตให้ครอบครองแร่เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย โดยตรวจสอบปริมาณการผลิตแร่ ปริมาณสำรองแร่ของแต่ละประทานบัตร และปริมาณแร่คงเหลือในประทานบัตรว่าสอดคล้องกับรายงานการทำเหมืองและรายงานของวิศวกรควบคุมหรือไม่ ใบอนุญาตครอบครองแร่ มีแร่คงเหลือถูกต้องตามบัญชีแสดงแร่คงเหลือหรือไม่ เป็นต้น
3.5 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแร่ และวิธีการพิจารณาตรวจสอบทรัพยากรแร่ในเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชนในท้องถิ่น พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำโครงการมวลชนสัมพันธ์โดยให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในการดูแลรักษาทรัพยากรแร่ในพื้นที่
3.6 ให้คณะกรรมการคดีพิเศษ รับคดีการลักลอบทำแร่ ซึ่งผู้กระทำความผิดมีอิทธิพลโยงใยเป็นเครือข่ายซับซ้อนเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้ และของกลางที่ยึดไว้ได้มีมูลค่าสูงไปพิจารณาเป็นคดีพิเศษ
3.7 ต้องกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด ร่วมกระทำความผิด มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ หรือให้การสนับสนุนในคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแร่และให้เร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ตัวบุคคลซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย
3.8 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรแร่อย่างจริงจังและเคร่งครัด
3.9 ให้สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการรณรงค์สร้างแนวร่วมและเครือข่ายพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รณรงค์ปลูกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และดำเนินการมวลชนสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ในพื้นที่ และให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรแร่ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดต่าง ๆ จะสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
มติคณะรัฐมนตรี