Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 327

05/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 13 มีนาคม 2555

 

ความเป็นมา

 

          ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาพบว่าการทุจริตคอร์รัปชัน มักเกิดขึ้นเฉพาะในวงราชการ ได้แก่ การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการทุจริตในการให้สัมปทานหรือกิจการของรัฐ แต่ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาได้มีการทุจริตรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การทุจริตโดยการทำลายระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งการทุจริตทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทุจริตให้มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น กล่าวคือกลุ่มนักการเมืองกลุ่มทุนธุรกิจ ซึ่งเป็นเครือญาติและพวกพ้องของนักการเมืองและกลุ่มข้าราชการ โดยมีนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเป็นตัวการสำคัญ

          สำหรับ “การทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นการทุจริตรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะซับซ้อนและแยบยล เกิดขึ้นจากผู้กำหนดนโยบายสาธารณะตำรวจคือผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน การตรากฎหมาย ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม ออกกฎ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบ อนุมัติหรืออนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐขนาดใหญ่ หรือ Mega project และโครงการของรัฐบาลที่ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ทั้งนี้ มีเจตนาพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง กลุ่มทุนธุรกิจ เครือญาติและพวกพ้อง

          การทุจริตเชิงนโยบายนี้ ผู้กระทำการทุจริต ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักจะอ้างเหตุผลกับประชาชนว่า โครงการ  Mega project  หรือนโยบายที่ใช้เงินของรัฐจำนวนมหาศาล ได้ดำเนินการไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในขณะนั้น เกิดความเข้าใจผิดว่าการทุจริตของผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองขณะนั้น เป็นการดำเนินนโยบายของรัฐที่ถูกต้อง ชอบธรรม

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือเปล่าปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2542  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554  มาตรา 19 (7) (11) และ (13) ได้พิจารณาเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ การป้องกันนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ และข้าราชการให้ร่วมมือกับนักการเมืองทุจริตการเลือกตั้ง ขั้นตอนการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มิให้ปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และตรากฎหมาย ออกกฎ ข้อบังคับหรือมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และขั้นตอนการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมิให้ใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงหรือครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์การตรวจสอบทางการเมือง จึงกำหนดเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย เสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการ ป.ป.ช

 

ข้อเสนอแนะ

 

          สำหรับในส่วนของการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี มี 4 มาตรการ ได้แก่

          1. มาตรการพัฒนาระบบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุของรัฐให้เป็นมาตรฐานกลาง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

               1.1  ควรพิจารณา เพื่อขอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จัดทำแผนงาน/โครงการกำกับดูแลและติดตามประเมินผลการบริหารระบบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุของรัฐ เพื่อพัฒนากฎหมายของฝ่ายบริหารจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพระราชกฤษฎีกา และตราเป็นกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ “พระราชบัญญัติ” ภายในกำหนดเวลา 4 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาที่อยู่ในระหว่างการจัดทำในขณะนี้มีผลใช้บังคับแล้ว

               1.2  ในการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุของรัฐ จากพระราชกฤษฎีกาเป็น “พระราชบัญญัติ” ควรพิจารณาดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกรอบการปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานกลางขั้นต่ำ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งองค์การมหาชน สามารถนำหลักการของกฎหมายนี้ไปปรับใช้ โดยการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งภายในองค์กรหรือหน่วยราชการดังกล่าวของตนเองได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

          2.  มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

               ควรพิจารณา เพื่อขอให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณามาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ

               2.1 ควรพิจารณาออกกฎหมายลำดับรอง ในระดับกฎกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียดบทนิยามคำว่า “กิจการของรัฐ” และ “มูลค่าโครงการ” โดยควรปรับเพิ่มวงเงินมูลค่าโครงการ ตามดัชนีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพิจารณาจากค่าเงินบาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งแตกต่างจากปี พ.ศ. 2535  รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้แน่ชัดว่าลักษณะ “โครงการใหม่” กับ “โครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว” มีความแตกต่างกันอย่างไร

                2.2 ควรพิจารณา ควรพิจารณาเพื่อขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือกฎหมายร่วมทุนของรัฐและเอกชน ดังนี้

                             1) เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมกาiประสานงานตามมาตรา 22  ให้มีอำนาจและหน้าที่เพิ่มเติม (มาตรา 23)  ในเรื่องการแก้ไขสัญญาในกรณีที่มีความจำเป็น

                             2) เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและเอกชน

                             3) เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของโครงการตั้งแต่เริ่มเสนอโครงการ การคัดเลือกโครงการ การติดตามประเมินผลและผลลัพธ์ของโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส  ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

                             4) เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีหน่วยงานกลาง เช่น คณะกรรมการวิศวกรรมสถาน เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำทางวิชาการแก่หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การเสนอโครงการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเพื่อเป็นการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมของบริษัทที่ปรึกษาโครงการและบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินด้วย และควรให้มีบทลงโทษแก่ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำดังกล่าว กรณีเกิดข้อผิดพลาดของโครงการในภายหลัง เช่น การเพิกถอนใบอนุญาต กรณีที่พบว่าบุคคลในคณะกรรมการกลางร่วมกันทุจริตในการให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นต้น

                             อนึ่ง ในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ. ศ. ….  ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

                             คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรนำความเห็นและข้อเสนอแนะนี้ไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้การกำหนดกรอบหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ มีระบบการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ารถโปร่งใส สอดคล้องกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

          3. มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

                   3.1 ควรพิจารณาเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อัยการสูงสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการจัดประชุมร่วมกันกับคณะรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ในระยะเริ่มต้นที่คณะรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบเจตนารมณ์ของบทบาท แห่งรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเพื่อรับทราบข้อมูล คำชี้แจง ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะหลักการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี และหลักการกำหนดมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                   3.2 กรณีมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารราชการของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะแบบสองมาตรฐาน ในลักษณะเพื่อประโยชน์ให้แก่ตนเอง เครือญาติหรือพวกพ้องอย่างไม่เป็นธรรม

                   คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายหน่วยงานทางกฎหมาย ร่วมกับองค์กรทางวิชาการหรือองค์กรที่มีความเป็นกลางจัดให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สามารถเปิดเผยได้ และอธิบายหลักการใช้อำนาจรัฐ หลักนิติธรรมและหลักคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่อสื่อสาธารณะอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานทางคุณธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

                   3.3 ควรพิจารณาให้การสนับสนุนการตรากฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อรองรับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 56 และมาตรา 57

                   3.4  ควรพิจารณา ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการจัดทำระบบการเปิดเผยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายสารสนเทศอยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนของรัฐขนาดใหญ่และโครงการของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากของรัฐบาลทุกโครงการ โดยเฉพาะเป็นโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้ระบุถึงรายละเอียดของโครงการ (มีภาพประกอบ) ความเห็นของสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุม ความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือยาวความเดือดร้อนหรือความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว และความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 56 และมาตรา 57

          4. มาตรการป้องกันข้าราชการประจำผู้มีอิทธิพลมีใครเข้าไปครอบงำการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของฝ่ายข้าราชการประจำ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

                   4.1 ควรเสนอให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.พ. ให้ดำเนินการ จัดให้มี หรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม โดยให้มีกฎ ก.พ. เพื่อควบคุมข้าราชการผู้มีอิทธิพลไม่ให้เข้าไปครอบงำการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของฝ่ายข้าราชการประจำ

                   4.2 ควรให้มีองค์กรหรือคณะกรรมการกลางของข้าราชการพลเรือนสามัญ ทำหน้าที่ในการพิจารณาบรรจุ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของส่วนราชการในระดับกระทรวง ทบวง กรม เพื่อป้องกันข้าราชการประจำผู้มีอิทธิพลอาศัยอำนาจทางการเมืองเข้าไปครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำ

 

มติคณะรัฐมนตรี

 

          คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีมติให้กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ไปพิจารณาศึกษาโดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าสามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้แค่ไหน เพียงใด ที่จะไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้

               1. มาตรการพัฒนาระบบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุของรัฐให้เป็นมาตรฐานกลาง มอบกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก

               2. มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ มอบกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก

               3. มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี มอบสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลัก

               4. มาตรการป้องกันข้าราชการประจำผู้มีอิทธิพล มิให้เข้าไปครอบงำการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของฝ่ายราชการประจำ มอบสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลัก

               ทั้งนี้ ให้นำผลการพิจารณาศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยชี้แจงให้ชัดเจนว่า มีมาตรการใดบ้างที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีใด

 

Related