Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย เป็นการชั่วคราว

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 309

05/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 23 มกราคม 2561

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ในแต่ละปีจะมีจำนวนคนต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเพื่อการกระตุ้นและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการดำเนินการมาตรการอื่น ๆ เช่น มีการให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการดึงดูดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เป็นต้น อันนำมาสู่ความมั่งคั่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศและประชาชนไทย ซึ่งพิจารณาจากสถิติการเดินทาง เข้า – ออก ราชอาณาจักรไทย

          เมื่อปี พ.ศ. 2552 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับกรณี พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ดวงตราประทับของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองประทับในหนังสือเดินทางเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผ่านเข้า-ออก ราชอาณาจักรไทย ทั้งที่ผู้ถือหนังสือเดินทางมิได้ผ่านเข้า – ออกราชอาณาจักรไทย เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตกรณีดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและปรับปรุงการบริหารงานและการปฏิบัติราชการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพและมีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

          โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 มีมติรับทราบและเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย อีกทั้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเร่งรัดดำเนินโครงการสารสนเทศที่เคยได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วเป็นรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 – 2546 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับไปประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อตรวจสอบ และติดตามการแก้ไขปัญหาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทยกับฐานข้อมูลในการตรวจลงตราของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศได้รับข้อมูลบุคคล (พร้อมรูปถ่าย) ที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองใช้ดวงตราประทับของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองประทับในหนังสือเดินทางเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผ่านเข้า – ออก ราชอาณาจักรไทย ทั้งที่ผู้ถือหนังสือเดินทางมิได้ผ่านเข้า – ออก เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว นั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่าคนต่างด้าวได้มีพฤติการณ์กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยช่องว่างของหลักเกณฑ์การพิจารณาและ อาจใช้การจ้างวานหรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิพำนักอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และอาจมีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาอนุญาตกระทำการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์เป็นการตอบแทน คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านมาตรการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย
เป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการทุจริตในกรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการทำงานหรือขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางเข้า – ออกของคนต่างด้าวได้โดยเสรีมากขึ้น

          ดังนั้น ในการศึกษาและการวางแนวทางหรือจัดทำมาตรการในการปูองกันแก้ไขปัญหา อาจเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมและปัญหาในด้านอื่น ๆ ของประเทศไทย คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 777-51/2559 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ประกอบการประชุมครั้งที่ 786-60/25598 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการปูองกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพ านักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว โดยมี พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ (กรรมการ ป.ป.ช.) เป็นประธานอนุกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขั้นตอนกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต พร้อมทั้งเสนอมาตรการความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในเรื่องดังกล่าว

ข้อเสนอแนะ

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วจึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

    1.1 เห็นควรให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อให้มีการดำเนินการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยทั้งระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบฐานข้อมูลคนต่างด้าวในเชิงการบูรณาการร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการควบคุม ตรวจสอบคนต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาและพำนักเพื่อการใด ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการจัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล

    1.2 เห็นควรให้รัฐบาลสั่งการให้มีการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Blacklist) ระหว่างกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลคนต่างด้าวที่ขอรับการพิจารณาอนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันที พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชราชอาณาจักรไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ใน
ราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่เกินกำหนดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทย

    1.3 เห็นควรให้ทบทวนนโยบายการพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และการให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา โดยกำหนดเป็นหลักการให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโดยนำสถิติข้อมูลคนต่างด้าว เช่น สถิติคนต่างด้าวแต่ละสัญชาติที่มีพฤติการณ์อยู่เกิน
กำหนดในราชอาณาจักรไทย สถิติการกระทำความผิดของคนต่างด้าวในราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการพิจารณาให้ความสำคัญระหว่างผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างรัฐและความมั่นคงภายในของประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิแต่ละประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการร่วมกัน เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ เดินทางเข้ามาและอาจกระทำพฤติการณ์อันมิชอบด้วยกฎหมายภายในราชอาณาจักรไทย

    1.4 เห็นควรให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าวในกลุ่มคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุประเภทการเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้ เช่น กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนัก เพื่อการศึกษาในประเทศไทยกลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักเพื่อการศึกษาต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย กลุ่มคนต่างชาติที่แต่งงานกับคนสัญชาติไทย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาท างานในประเทศไทย เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวางแผนแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวคนต่างด้าว

    1.5 เห็นควรให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามและประเมินผล โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

    1.6 เห็นควรให้รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทและแผนการประเมินผลร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเขียนแผนแม่บทเห็นควรให้นำข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปกำหนดไว้ในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนแม่บท
ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ ภายหลังจากได้มีการบังคับใช้แผนแม่บทดังกล่าวแล้วนั้น ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลต่อรัฐบาลเพื่อทราบ เป็นระยะเวลาทุก 6 เดือน 

2. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    2.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)

          2.1.1 เห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุจำเป็นครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามนัยมาตรา 35 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยกรณีที่เป็นการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี ให้มีเอกสารรับรองจากบุคคลสัญชาติ
ไทยที่เชื่อถือได้ เป็นบุคคลอ้างอิงหรือเป็นผู้ให้การรับรองวัตถุประสงค์ในการพนักอยู่ใน ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในแต่ละครั้ง เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสอบทานข้อมูลไปยังผู้ให้การรับรอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระบวนการตรวจสอบติดตามคนต่างด้าวภายหลังจากได้รับการพิจารณาอนุญาต ให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักร

          2.1.2 เห็นควรให้ดำเนินการแก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ประกอบคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ 138/2557 เรื่อง รายการเอกสารประกอบการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยให้มีการทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและระยะเวลาการขออนุญาตพำนักอยู่ต่อไปในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าว ตามเหตุแห่งความจำเป็นในแต่ละกรณี เพื่อให้มีความรัดกุมและปูองกันมิให้เกิดช่องว่างให้คนต่างด้าวกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น

               (1) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวมีการอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ และกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีเอกสารธนาคารค้ำประกัน (Bank guarantee) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย

               (2) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้กำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ

                (3) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้มีการคงบัญชีเงินฝาก จำนวน 800,000 บาท ตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา ภายหลังจากนั้นจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดยในการยื่นขอรับการตรวจลงตราในแต่ละครั้งให้แสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ ข้างต้น ให้มีการบังคับใช้ภายหลังจากคนต่างด้าวได้รับสิทธิในการพำนักอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยเป็นระยะเวลา ครั้งละ 1 ปี

          2.1.3 กรณีผู้ได้รับการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพื่อการใด ๆ เช่น เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เช่น ถูกตัดสิทธิการเข้าศึกษาต่อเนื่องจากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา และถูกตัดชื่อออกจากการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือถูกเพิกถอนสิทธิในการอนุญาตให้ทำงาน ก่อนครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เป็นต้น เห็นควรให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ รวมทั้งช่องทางในการดำเนินการพิจารณาเพื่อยกเลิกสิทธิในกลุ่มคนต่างด้าวข้างต้นต่อไป

          2.1.4 กรณีการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว กรณีการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา และกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวต่อไป ภายหลังครบกำหนดระยะเวลาอนุญาต โดยอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาต โดยคณะกรรมการดังกล่าวให้มีองค์ประกอบของผู้แทนซึ่งต้องมีความหลากหลายและมาจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตและการให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในการพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยมีความโปร่งใสและป้องกันปัญหาการกระทำทุจริต

          2.1.5 เห็นควรให้มีการบังคับใช้บทลงโทษตามมาตรา 81 กรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษให้มีการจำคุก รวมทั้งให้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์พำนักอยู่เกินกำหนด ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำสั่งดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานทางด้านความมั่นคง เป็นต้น สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้

          2.1.6 เห็นควรให้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับคนต่างด้าวที่กระทำความผิดในฐานความผิดลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองนอกจากต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Blacklist) เพื่อให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับกลุ่มคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด (Over Stay) ในราชอาณาจักร

          2.1.7 เห็นควรจัดให้มีการอบรมส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาการกระทำทุจริตแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยให้มีการเน้นย้ำถึงระเบียบและบทลงโทษของผู้กระทำความผิด และดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งให้มีการเผยแพร่พฤติการณ์และบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดในฐานกระทำการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ให้เป็นที่รับทราบต่อบุคลากรภายในหน่วยงานและบุคคลภายนอก

    2.2 กระทรวงมหาดไทย

          2.2.1 ในขั้นตอนกระบวนการเพื่อการพิสูจน์สถานะความเป็นคู่สมรสระหว่างคนต่างด้าวกับคนสัญชาติไทยควรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดระยะเวลาที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะยื่นจดทะเบียนสมรสกับคนสัญชาติไทย

          2.2.2 ให้มีการตรวจสอบกรณีเอกสารใบรับรองความโสด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการใช้ยื่นประกอบการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทย โดยให้มีการประสานงานร่วมกับ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศในการดำเนินการเพื่อให้มีช่องทางการตรวจสอบข้อมูลของคนต่างด้าว ก่อนการดำเนินการพิจารณาอนุญาตจดทะเบียนสมรส

          2.2.3 ให้มีการตรวจสอบย้อนหลังกรณีการดำเนินการจดทะเบียนสมรสระหว่าง คนต่างด้าวและคนสัญชาติไทยทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเชิงพื้นที่ในจังหวัด เขต หรืออำเภอ ที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการกระทำทุจริตและการตรวจสอบเชิงพื้นที่ ซึ่งมีสถิติการดำเนินการจดทะเบียนสมรสของคนต่างด้าวที่มีแนวโน้มสูง โดยหากพบเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้มีการดำเนินการเพิกถอนทันที และให้มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง คนสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่ร่วมกระทำความผิดด้วย

          2.2.4 ให้มีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวโดยดำเนินการขึ้นทะเบียน ประวัติ พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวในกลุ่มที่พำนักอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ประจำประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันสำหรับเป็นข้อมูลในการควบคุม ตรวจสอบโดยหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของประเทศไทย

    2.3 กระทรวงศึกษาธิการ

          2.3.1 เห็นควรให้มีการดำเนินการควบคุมและตรวจสอบสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเปิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการรองรับนักศึกษาต่างชาติโดยที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริงโดยหากพบว่าเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นสถาบันการศึกษาที่มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ให้มีการด าเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษาทันที

          2.3.2 เห็นควรให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทยทั้งระบบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติในแต่ละสถานศึกษา ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทางเข้ามาเพื่อการศึกษาในประเทศไทยของนักศึกษาต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้

          2.3.3 เห็นควรให้มีการดำเนินการควบคุมตรวจสอบสถานะและข้อมูลของครู/อาจารย์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาของเอกชน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนของเอกชน และสถาบันสอนภาษา โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ ส านักงานตรวจคนเข้าเมืองกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันก าหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการปูองกันแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อเป็นช่องทางในการเข้ามาพ านักในประเทศไทยโดยมิชอบ

    2.4 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นควรให้มีการดำเนินการจัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของ พระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ เช่น จำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติในมหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทางเข้ามาเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้

    2.5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ เห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินธุรกิจ ของบริษัทรับจัดทำวีซ่า และบริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยว มิให้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าว ให้สามารถเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทยและพำนักอยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น บริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยวจะต้องรับรองว่านักท่องเที่ยวที่บริษัทฯ นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องเดินทางกลับออกไปเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้วด้วย เป็นต้น รวมทั้งให้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด

    2.6 กระทรวงแรงงาน เห็นควรให้เร่งรัดการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยระหว่าง กระทรวงแรงงาน กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว 


มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ดังนี้

  1. รับทราบผลการพิจารณาและผลการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สรุปได้ ดังนี้

                   1.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย (1) จะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงมาตรการ/แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าเมืองของคนต่างด้าวเพื่อให้การบริหารจัดการและคัดกรองคนเข้าเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ (2) จะจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่ขออนุญาตพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวและจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลดังกล่าวกับหน่วยงานอื่นเพื่อประโยชน์ในการคัดกรองคนต่างด้าวที่จะขออนุญาตพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองนำมาตรการดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณากำหนดระเบียบ กฎหมายในการปฏิบัติการและการบูรณาการการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนเข้าเมืองต่อไป

                   1.2 สำหรับข้อเสนอแนะต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในประเด็นการจัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ นั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

  1. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเร่งรัดการพิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวในประเด็นเกี่ยวกับการจัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

  2. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เห็นควรนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณากำหนดไว้ในแผนแม่บทการดำเนินการ ประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าว การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองคนต่างด้าวที่จะขอพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวดังกล่าว ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
 

Related