Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการตั้งครรภ์แทน

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 192

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 8 กันยายน 2558

ความเป็นมา

           ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการตั้งครรภ์แทนให้แก่สามีภรรยาชาวต่างประเทศ โดยผู้หญิงไทยเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน ซึ่งเมื่อเด็กที่คลอดออกมาเป็นดาวน์ซินโดรมก็ถูกปล่อยไว้ให้เป็นปัญหาสังคม หรือกรณีการตั้งครรภ์แทนให้กับชายชาวญี่ปุ่นซึ่งมีน้ำเชื้อเพียงคนเดียว แต่มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจำนวน 9 คน รวมถึงกรณีเด็กบางคนที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนแล้วถูกพาออกนอกประเทศ โดยนำไปดูดไขสันหลังเพื่อใช้ทำสเต็มเซลล์และทำให้เด็กต้องตาย วิธีการและขั้นตอนเหล่านี้อาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการตั้งครรภ์แทน หากเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นไปในเชิงพาณิชย์ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ประเทศไทย

           คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการตั้งครรภ์แทน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงาน โครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ดังนี้

 ข้อเสนอแนะ

  1. ด้านนโยบาย

               เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เรียบร้อยแล้ว เห็นควรให้รัฐบาลกำกับดูแล และติดตาม การบังคับใช้กฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด แล้วต้องศึกษาหาแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยศึกษาจากข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหา ที่เกิดภายหลังการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป

               ในส่วนของจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน เห็นควรให้มีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อการคุ้มครองและป้องกันปัญหาในด้านศีลธรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

  1. ด้านกำกับติดตามและดำเนินคดีความ

               2.1  ให้แพทยสภา โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เข้มงวดในการออกหนังสือรับรอง ให้กับสถานพยาบาล โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยไม่พิจารณาเพียงแต่ความพร้อม ของเครื่องมือและวิธีการให้บริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ของสถานพยาบาลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และคุณสมบัติของแพทย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาลด้วย

               2.2  ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มความเข้มงวดต่อการตรวจสอบสถานพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถทำบุญได้โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และมาตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ของสถานพยาบาลต่าง ๆ หรือเมื่อได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสถานพยาบาล ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องดำเนินการทันที หรือเมื่อพบการกระทำความฝืนมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แล้ว ต้องลงโทษสถานพยาบาลอย่างเข้มงวดจริงจัง

               2.3  ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างแพทย์สภา (โดยผ่านทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้เกิดการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์จากสถานพยาบาลที่กระทำผิดกฎหมาย และประสานข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้การลงโทษต่อสถานพยาบาลที่ผิดกฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว รวมทั้งให้มีการร่วมมือกันออกตรวจตราควบคุมดูแลสถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอด้วย

               2.4  ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแพทย์ผู้ดำเนินการอุ้มบุญปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างเคร่งครัด

               2.5  ให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มเครือข่ายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ อาจใช้เป็นช่องทางในการพาเด็กออกนอกประเทศได้

               2.6  ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหากรณีหญิงรับจ้างตั้งครรภ์แทน เพื่อป้องกันปัญหาจากการรับจ้างตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญอย่างยั่งยืนต่อไป

               2.7  ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้มงวดกวดขันกับโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งที่สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หรือทำการอุ้มบุญได้ ในเรื่องเกี่ยวกับการทำเวชระเบียนของผู้มารับบริการ (ผู้ป่วย) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอุ้มบุญอย่างละเอียดรอบคอบ ได้แก่ บิดามารดาที่แท้จริง หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนหรือการอุ้มบุญ

  1. ด้านการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพ

               แพทยสภาในฐานะหน่วยงานควบคุม ดูแล การปฏิบัติงานของแพทย์ ต้องเข้มงวดในเรื่องจริยธรรมของแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นกรณีพิเศษ และมีบทลงโทษต่อแพทย์ผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างรวดเร็วและจริงจัง เพื่อเป็นแบบอย่างไม่ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นอีก และเกรงกลัวต่อการกระทำความผิดดังกล่าว

มติคณะรัฐมนตรี

           คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการตั้งครรภ์แทน ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในภาพรวม ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะได้แจ้งผลการพิจารณามีผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

 

 

Related