Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 606

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 18 พฤศจิกายน 2557

ความเป็นมา

          ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และพิจารณาเห็นว่าปัญหาการบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลให้จำนวนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน สถิติการจับกุมคดีลักลอบตัดไม้พะยูงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญในเวลานี้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ยังมีไม้พะยูงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก เพราะไม้พะยูงในประเทศเพื่อนบ้านได้ถูกลักลอบตัดไปเกือบหมดแล้ว ส่งผลให้ขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงข้ามชาติ ได้พุ่งเป้าหมายมาที่ไม้พะยูงในประเทศไทย เนื่องจากไม้พะยูงมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการจากต่างประเทศ ขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงข้ามชาติ จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลักลอบนำไม้พะยูงออกขายตลาดต่างประเทศให้ได้มากที่สุด โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการ ในการรับรอบตัดและขนส่งไม้พะยูงตลอดเวลา หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและเด็ดขาดในการป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดและค่าไม้พะยูงด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยยึดผลประโยชน์ของแผ่นดินเป็นที่ตั้ง แต่กลับปรากฏว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรากฏข้อมูลข่าวสารว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนกระทำการทุจริต โดยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง

          นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตเข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการค้าไม้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต รู้เห็นเป็นใจโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือมีผลประโยชน์กับขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการค้าไม้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามนัยพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ. ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ. ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ดังนี้

ข้อเสนอแนะ

  1. มาตรการเร่งด่วน

                   1.1 การกำหนดนโยบายบริหาร (แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ/บุคลากร)

                             1) รัฐบาลต้องตระหนักถึงคุณค่าของไม้พะยูงและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ อย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้การคุ้มครองป้องกันไม้พะยูงเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการในการปฏิบัติด้วย

                             2) รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการคุ้มครองและอนุรักษ์ไม้พะยูง ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้) รวมทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีไม้พะยูงอยู่ในเขตพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ 

                             3) รัฐบาลต้องกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีไม้พะยูงอยู่ในเขตพื้นที่ เร่งรัดจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงอย่างจริงจัง โดยให้จังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประยุกต์ใช้กฎหมายของแต่ละ หน่วยงานร่วมกัน พร้อมทั้งสนธิกำลังทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และกำหนดให้เป็น ตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งนี้ ต้องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้คุณให้โทษ แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับทั้งในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัด

                             4) รัฐบาลต้องกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจังหวัดและส่วนราชการที่รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด สำรวจและจัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งและจำนวนของไม้พะยูง ทั้งที่อยู่ในที่ดินของรัฐและในที่ดินเอกชนโดยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแล รักษา และป้องกันการนำไม้พะยูงที่ตัดจากป่ามาสวมตอ โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

                             5) รัฐบาลต้องกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำไม้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อคุ้มครอง ไม้พะยูงและเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด 

                             6) รัฐบาลควรจัดงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้ในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแม่ไม้ที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นพันธุ์ที่ดีเพื่อให้ได้กล้าไม้พะยูงที่มีคุณภาพ และเพาะพันธุ์กล้าไม้พะยูง เพื่อแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้พะยูงให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนเด็กเยาวชนและสถานศึกษาต่างๆ นำไปปลูกตามโครงการรณรงค์ฟื้นฟูไม้หายาก หรือไม้อนุรักษ์ในพื้นที่ป่าไม้ และควรมีการติดตามการเจริญเติบโตของกล้าไม้พะยูงอย่างต่อเนื่องด้วย

                             7) รัฐบาลต้องสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดมาตรการ สร้างแนวร่วม และเครือข่ายพิทักษ์ป่า ปลูกจิตำนึก และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปกป้อง และ รักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและประชาชนที่อาศัยอยู่รอบแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ทดแทนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะต้องเป็นรูปธรรม สามารถชี้ให้เห็นผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้

                   1.2 การประสำนความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

                             1) รัฐบาลควรเร่งเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าห้ามผ่านแดน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงโดยใช้วิธีการตัดไม้พะยูงในประเทศและลักลอบส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับมาเป็นไม้ผ่านแดนประเทศไทยไปยังประเทศที่สาม

                             2) รัฐบาลควรจัดเจรจา (ระดับทวิภาคี) หรือจัดประชุมระหว่างประเทศกับประเทศ เพื่อนบ้านและประเทศที่มีความต้องการไม้พะยูง หรือเกี่ยวข้องกับตลาดการค้าไม้พะยูง เพื่อนาประเทศที่มีส่วนได้เสียทั้งหมดมาร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และขอความสนับสนุนในการป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้และขนส่งไม้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ

                             3) รัฐบาลต้องผลักดันให้ไม้พะยูงอยู่ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่าง ประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและการค้า ระหว่างประเทศ โดยผลักดันเข้าสู่บัญชีหมายเลข 1 คือ เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่า และพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพาะพันธุ์

                   1.3 การกำกับติดตามและดำเนินคดีทางกฎหมาย

                             1) เห็นสมควรให้คณะกรรมการคดีพิเศษ รับคดีการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงซึ่งผู้กระทำความผิดมีอิทธิพลโยงใยเป็นเครือข่ายซับซ้อนเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้ และของกลางที่ยึดไว้ได้มีมูลค่าสูงไปพิจารณาเป็นคดีพิเศษ

                             2) ให้พนักงานฝ่ายปกครองเข้าควบคุมการสอบสวนการกระทำความผิดในคดี เกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการกระทำความผิดในคดีลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงทุกคดีเป็นกรณีพิเศษอย่างเคร่งครัด ไม่อาจใช้ดุลพินิจเลือกปฏิบัติเข้าควบคุมเฉพาะคดีที่เห็นว่าสำคัญได้ 

                             3) รัฐบาลควรมอบหมายให้จังหวัด โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ประสานและรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินคดีลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงทุกคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่และจัดทำฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิด รายการไม้ของกลาง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด อย่างเป็นระบบ

                             4) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ซักซ้อมและกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมมาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิด

                             5) รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ อย่างจริงจังและเคร่งครัด ในเรื่องการริบอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดของ ขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง โดยมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด แนวทางปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในขั้นตอนการสอบสวนและสำนวนคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ การลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงยังไม่ควรเสนอความเห็นสั่งคืนอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำ ความผิดก่อนที่จะมีการพิจารณาตัดสินในชั้นศาล 

                             6) รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด ร่วมกระทำความผิด มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ หรือให้การสนับสนุน ในคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับ การลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง และให้เร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ตัวบุคคลซึ่งเป็น ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจังและเคร่งครัด

                             7) ควรพิจารณากำหนดให้สินบนและรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสนำจับ และแก่ผู้ที่ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดในกระบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการ ปราบปรามผู้กระทำความผิดให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

  1. มาตรการระยะยาว

                   1) รัฐบาลควรเร่งกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการไม้พะยูงที่เป็นไม้ของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้ชัดเจน โดยต้องไม่ไปสร้างให้เกิดวงจรของการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงอีกต่อไป

                   2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ ปัจจุบัน โดยพิจารณาเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงให้เทียบเคียงกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ดังนี้

  1. รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามนัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ ดังนี้

                   1.1 มาตรการเร่งด่วน

                         1.1.1 การกำหนดนโยบายบริหาร (แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ/บุคลากร) โดยกำหนดให้การคุ้มครองป้องกันไม้พะยูงเป็นวาระแห่งชาติ การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการคุ้มครองและอนุรักษ์ไม้พะยูง การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีไม้พะยูงอยู่ในเขตพื้นที่เร่งรัดจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงอย่างจริงจัง สำรวจและจัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งและจำนวนของไม้พะยูงทั้งที่อยู่ในที่ดินของรัฐและในที่ดินเอกชนโดยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม การกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข การจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแม่ไม้ที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นพันธุ์ที่ดีเพื่อให้ได้กล้าไม้พะยูงที่มีคุณภาพ และการกำหนดมาตรการสร้างแนวร่วมและเครือข่ายพิทักษ์ป่า ปลูกจิตสำนึก และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

                         1.1.2 การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยการเร่งเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าห้ามผ่านแดน และการจัดเจรจา (ระดับทวิภาคี) หรือจัดประชุมระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีความต้องการไม้พะยูง หรือเกี่ยวข้องกับตลาดการค้าไม้พะยูง เพื่อหารือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และการผลักดันให้ไม้พะยูงอยู่ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย และการค้าระหว่างประเทศ

                         1.1.3 การกำกับติดตามและดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยการรับคดีการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงเป็นคดีพิเศษ การสอบสวนการกระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการกระทำความผิดในคดีลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงทุกคดีเป็นกรณีพิเศษ การจัดทำฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิด รายการไม้ของกลาง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ การกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง การริบอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดของขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง การกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด ร่วมกระทำความผิด มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ หรือให้การสนับสนุนในคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง รวมทั้งการให้สินบนและรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสนำจับ และผู้ที่ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดในกระบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง

                   1.2 มาตรการระยะยาว ได้แก่ การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการไม้พะยูงที่เป็นไม้ของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้ชัดเจน โดยไม่ต้องก่อให้เกิดวงจรของการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงอีกต่อไป รวมทั้งการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพิจารณาเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงให้เทียบเคียงกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

  1. รับทราบคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือกำหนดวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
 

Related