วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 21 กรกฎาคม 2558
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 รัฐบาลมีแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ประกอบกับมีแนวนโยบายในการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์การค้าและพิธีการศุลกากรให้สะดวก ลดขั้นตอนต่าง ๆ หรือยกเลิกขั้นตอนบางเรื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวนโยบายในการส่งเสริม การบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยการยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการของรัฐ และการให้ริการถึงตัวบุคคลผ่านระบบศูนย์ริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งมีระบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริต ด้วยเห็นว่าระบบดังกล่าวจะช่วยลดโอกาสในการกระทำการทุจริต และเพิ่มช่องทางที่จะสามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเกิดความประหยัดจากการลดขั้นตอนการดำเนินงานและจำนวนเอกสารที่ใช้ในกระบวนการติดต่อดำเนินการ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่รับบริการต่าง ๆ ของรัฐได้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาล ที่ต้องการปฏิรูปการบริหารราชการ ลดปัญหาการทุจริต เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างยั่งยืน ทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนคนไทย
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) ดังนี้
1) มาตรการเร่งด่วน
รัฐบาลควรส่งเสริมโครงการบูรณาการงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ หรือ “Thailand Gateway” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุผล โดยนำร่องในโครงการเกี่ยวกับการนำเข้า - ส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ส่งผลกระทบต่อยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ประกอบด้วย ยางพารา ข้าวทั่วไป ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเลแช่แข็ง ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องทำความเย็นและตู้แช่แข็ง เพื่อให้ทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนธันวาคม 2558 โดยอาจบรรจุโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง “บูรณาการการทำงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ”
2) มาตรการระยะยาว
รัฐบาลควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐ โดยเฉพาะในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E - Payment) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่รับบริการอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทาง ในการติดตามตรวจสอบให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558
1. รับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริต ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ดังนี้
1.1 มาตรการเร่งด่วน ส่งเสริมโครงการบูรณาการงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพของสำนักงาน ก.พ.ร. และสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุผล โดยนำร่องในโครงการเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก [โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ส่งผลกระทบต่อยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ประกอบด้วย ยางพารา ข้าวทั่วไป ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเลแช่แข็ง ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องทำความเย็นและตู้แช่แข็ง] เพื่อให้ทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนธันวาคม 2558 โดยอาจบรรจุโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องบูรณาการการทำงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ
1.2 มาตรการระยะยาว ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐโดยเฉพาะในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่รับบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดตามตรวจสอบให้สามารถทำได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต
2. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อมาตรการในการป้องกันการทุจริตและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบ/เสนอ ครม.ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment : EIA) มติ...
มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มาและความสำคัญ ปัญหาเกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย” มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน...
มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษาการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองในด้านการก่อสร้างอาคารมากขึ้น โดยเฉพาะ...
การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปีพ.ศ. 2565 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้เคยตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา และคด...
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ที่มาและความสำคัญ ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้ขอรับคำแนะนำหรือแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ช. ในการวางมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายของกิจการร้านสงเคราะห์ผู้ต้อง...
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อหนัง...
มาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายในที่ดินของรัฐ นอก...
มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขุดดินโดยมิชอบด้ว...