Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 423

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 8 มกราคม 2562

ที่มา/สภาพปัญหา

           การติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างทั่วไปแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตเมืองสำคัญ ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เป็นต้น ซึ่งป้ายโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นได้ทั้งในส่วนของพื้นที่เอกชน คือ ติดตั้งตามอาคารพาณิชย์ ดาดฟ้าอาคาร บ้านเรือน หรือแม้แต่ในพื้นที่บนทางสาธารณะ เช่น บาทวิถี ริมถนน เกาะกลางถนน ซึ่งเป็นบริเวณที่กฎหมายห้ามไม่ให้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาทุกประเภท ดังปรากฏเป็นข้อห้ามในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รวมทั้ง การออกกฎกระทรวง ประกาศ และข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่ออกตามพระราชบัญญัติเหล่านั้น ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับ ควบคุมดูแลหลายหน่วยงานตามแต่ละพื้นที่ แต่ปัญหาการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะก็ยังคงปรากฏอยู่ทั่วไป

           ป้ายโฆษณาที่พบเห็นนั้น นอกจากจะทำให้บ้านเมืองดูไม่สะอาดและขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังส่งผลกระทบที่หลากหลายตามมา อาทิ ทำให้ประชาชนที่สัญจรในบริเวณนั้นได้รับอันตรายหรือสุ่มเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายอันเกิดจากป้ายที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความมั่นคงแข็งแรง หรือติดตั้งรุกล้ำออกมานอกแนวร่นของอาคาร กีดขวางทางเดิน บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ การเดินเท้าของประชาชนบนบาทวิถี หรือแม้แต่การติดตั้งป้ายโฆษณาที่มีความเข้มของแสงสูงเกินมาตรฐานหรือเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้รบกวนสมาธิต่อผู้ขับขี่อันก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้

           จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมานั้น ประเด็นสำคัญของปัญหาในเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นข้อห้ามไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนถือว่ากระทำผิดกฎหมาย หากแต่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

           ดังนั้น เพื่อให้มีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะและการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด และเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 รวมทั้ง หากสามารถจัดการหรือป้องกันปัญหาป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะได้ นอกจากบ้านเมือง
จะเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยจากอันตราย ลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้แล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนหรือนานาชาติรับรู้ถึงความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยได้รับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ที่สูงขึ้น

ข้อเสนอแนะ

           สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. มาตรการระยะเร่งด่วน

               มาตรการทางการบริหาร (ควรดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน)

               1.1  ผู้บริหารในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในสังกัดตามสายการบังคับบัญชาในการกำกับดูแลเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ หากเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลเรื่องดังกล่าวละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ที่ติดตั้งป้ายโฆษณา ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรืออาญาตามแต่กรณี

               1.2  ป้ายโฆษณาทุกประเภทต้องมีเลขทะเบียนควบคุมเป็นระบบเดียว ซึ่งสามารถบ่งบอกว่าหมายเลขนั้น หน่วยงานใดเป็นผู้ออกใบอนุญาตหรือกำกับดูแลป้ายโฆษณาในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้มงวดในการกำกับดูแลและจัดระเบียบป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการดำเนินการกับผู้ที่ติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมายและหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตผิดกฎหมายด้วย

               1.3  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแจ้งเบาะแสป้ายโฆษณาหรือสิ่งอื่นใดที่รุกล้ำทางสาธารณะหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ อีกทั้ง หน่วยงานนั้นจะต้องมีแนวทางการจัดการที่ชัดเจนและรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วย

               1.4  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการติดป้ายโฆษณา โดยไม่มีค่าธรรมเนียมหรือค่าขออนุญาต โดยรวมเป็นศูนย์กลางในสถานที่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และให้มีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและลดโอกาสในการที่เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์

               1.5  ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐจัดจ้างให้ภาคเอกชนดำเนินการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดขนาดมาตรฐานของชื่อหรือสัญลักษณ์ของบริษัทเอกชนที่ปรากฏบนป้ายโฆษณา ให้มีขนาดตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดหรือดึงดูดความสนใจได้เทียบเท่ากับข้อความประชาสัมพันธ์หรือข้อความรณรงค์ที่ปรากฏบนป้ายนั้น ๆ เพื่อป้องกันการโฆษณาแฝงของภาคเอกชนที่อาจเกิดขึ้น

               มาตรการทางกฎหมาย (ควรดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี)

               1.6  กำหนดนิยามของคำว่าป้ายโฆษณาให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดลักษณะ รูปแบบ และขนาดของป้ายโฆษณาให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการควบคุมดูแลเรื่องป้ายโฆษณาในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

               1.7  กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มของแสงบนป้ายโฆษณาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งกำหนดให้ป้ายโฆษณาที่มีแสงสว่างในตัวเองต้องมีระบบการปรับความเข้มของแสงอัตโนมัติตามแสงธรรมชาติ

               1.8  ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบัน โดยกำหนดกรอบเป็นช่วงอัตรา และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตน โดยพิจารณาทั้งจากขนาดของป้าย พื้นที่ที่ติดตั้งป้าย แล้วกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงที่จะเป็นรายได้ของรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาดูแลรักษาพื้นที่นั้น ๆ อย่างเหมาะสม

               1.9  ปรับบทลงโทษเป็นลักษณะของอัตราก้าวหน้า คือ ปรับในอัตราที่สูงขึ้นตามจำนวนครั้งที่กระทำความผิด ซึ่งหากกระทำผิดเกินจำนวนครั้งที่กำหนดให้ระงับสิทธิในการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะทุกกรณี

               1.10  กรณีไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากป้ายโฆษณานั้นเป็นผู้ติดตั้ง เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าถูกกลั่นแกล้งหรือไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว

  1. มาตรการระยะยาว (ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง)

               2.1  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดเวทีเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่สมาคมโฆษณา สมาคมคอนโดมิเนียม หรือสมาคมภาคธุรกิจเอกชนอื่น ๆ ในพื้นที่นั้นซึ่งมีความประสงค์จะติดตั้งป้ายโฆษณาในบริเวณดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือและเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเจ้าของป้ายโฆษณา ได้มีการรับทราบและมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

               2.2  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ เพื่อความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง

มติคณะรัฐมนตรี

           คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ดังนี้

  1. รับทราบมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ

  2. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
 

 

Related