วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 27 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
ด้วยปรากฏข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และการทุจริตในสหกรณ์อื่น ๆ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก โดยการทุจริต เกิดจากการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการตรวจสอบ กำกับดูแลที่เพียงพอจากหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์แล้ว หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล กลับปล่อยปละละเลยไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งปัญหาอย่างทันท่วงที จนพบการทุจริตในสหกรณ์ที่มีมูลค่าความเสียหาย เป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์ จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลสหกรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ตามนัย มาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ข้อเสนอแนะ
1. การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลสหกรณ์ต้องแก้ไขที่โครงสร้างการกำกับดูแล โดยแก้ไขกฎหมายสหกรณ์และเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์
2. สหกรณ์ที่มิได้ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับการดำเนินการของสถาบันการเงิน ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือที่ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับการดำเนินการของสถาบันการเงิน ให้มีองค์การหรือหน่วยงานอิสระเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์เหล่านี้ โดยให้องค์การหรือหน่วยงานอิสระดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
4. องค์การหรือหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ข้างต้น ต้องมีความเป็นเอกภาพ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ดำเนินการภายใต้หลักการของความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นมืออาชีพซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีมาตรฐานระดับเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
5. ให้องค์การหรือหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล ตรวจสอบ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือสหกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการของสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์แต่ละประเภท รวมทั้งมีอำนาจในการกล่าวโทษดำเนินคดีสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกรณีกระทำผิดตามกฎหมายด้วย
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนี้
1.รับทราบผลการพิจารณาและผลการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลสหกรณ์ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผลการพิจารณาในภาพรวม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนซึ่งมีอยู่จำนวนมากอาจส่งผลต่องานในหน้าที่หลักซึ่งกระทบต่อหลายหน่วยงาน รวมถึงระบบการเงินของประเทศด้วย และในกรณีการให้มีหน่วยงานอิสระในการกำกับดูแลสหกรณ์ เห็นควรให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์การหรือหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ด้วย เป็นต้น ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลสหกรณ์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ภายใน 1 ปี
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ที่มาและความสำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ...
มาตรการฉบับประชาชน เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน
มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบ/เสนอ ครม.ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment : EIA) มติ...
มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มาและความสำคัญ ปัญหาเกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย” มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน...
มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษาการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองในด้านการก่อสร้างอาคารมากขึ้น โดยเฉพาะ...
การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม ที่มาและความสำคัญ ด้วยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปีพ.ศ. 2565 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้เคยตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา และคด...