Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกันภัย

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 1036

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 9 มกราคม 2561

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

          ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการบริหารโดยยึดหลักความมั่นคงทางการเงิน
เป็นสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการกำกับดูแลธุรกิจที่ดีเพื่อรักษาความมีประสิทธิภาพ ความมั่นคงและความเสมอภาคในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งในปัจจุบันสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม มีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการที่สลับซับซ้อนของธุรกรรมการเงินส่งผลให้สถาบันการเงินทุกแขนงมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศหรือไขว้สาขากันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจประกันภัยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันบทบาทของการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนั้นย่อมจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

          สำหรับประเทศไทย เดิมกำหนดให้กรมการประกันภัย เป็นองค์กรส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2545 อันมีอำนาจหน้าที่และภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการประกันภัย โดยการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัทประกันภัย ทั้งการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย ตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ไม่ว่าจะเป็นในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยที่บทบาทของกรมการประกันภัยนั้น ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจประกันภัยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกรมการประกันภัยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ไว้อย่างชัดเจนว่า กรมการประกันภัยจะเป็น องค์กรนำในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย ให้มีขีดความสามารถพร้อมแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นธรรมต่อประชาชน

          อย่างไรก็ดี จากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors – IAIS) ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance Core Principles – ICP) อันแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยทั่วโลก และในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 10 ของ IAIS ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 นั้น ได้มีการกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย คือ การเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการตามหน้าที่ โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและ ภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการกำกับ ดูแล ธุรกิจประกันภัย ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันกันอย่างมาก จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัว ให้การประกอบธุรกิจประกันภัยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อรองรับการแข่งขันดังกล่าว ในขณะเดียวกันบทบาทของการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

          ในต่างประเทศ องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ส่วนมากก็จะมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ มีผู้บริหารที่มีความรู้หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการประกันวินาศภัย ด้านการประกันชีวิต ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการบัญชีและการเงินหรือแม้แต่ด้านการคลัง ซึ่งเมื่อมาทำหน้าที่ผู้บริหารที่กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจึงมีมุมมองที่กว้างไกล ครอบคลุม และเป็นองค์กรที่มี ความคล่องตัวสูง มีงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการของตัวเอง ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญยิ่งในการดึงดูดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากทุกฝ่าย

          ในขณะที่กรมการประกันภัย เป็นเพียงหน่วยงานราชการของรัฐ มีโครงสร้างการบริหารแบบดั้งเดิม โดยจัดลำดับของอำนาจหน้าที่และการควบคุมแบบบังคับบัญชาตามลำดับชั้น อยู่ภายใต้อำนาจการบริหาร ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ถูกแทรกแซงได้ง่ายจากฝ่ายการเมือง อันส่งผลต่อการยอมรับของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้เอาประกันภัยและองค์กรระหว่างประเทศ ในด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับระหว่างประเทศ ขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานที่เต็มไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ทำให้ขาดความคล่องตัว การขาดการประชาสัมพันธ์และขาดแคลนงบประมาณในการจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี นักคณิตศาสตร์ประกันภัยและผู้สอบบัญชีในการวิเคราะห์สภาพตลาด ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของบริษัทประกันภัยและกำหนดมาตรการแทรกแซงเพื่อปกป้องผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยได้อย่างทันท่วงทีและเป็นระบบ อีกทั้งจากการที่กรมการประกันภัยเป็นหน่วยงานราชการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงเล็กน้อย เช่น การพิจารณาเพื่อกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐาน เป็นต้น แต่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในส่วนการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งส่งผลถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทประกันภัย ทั้งในเรื่องการดำรงเงินกองทุน การเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใสในการบริหารงานและการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกิจการอีกด้วย รวมทั้งในส่วนของการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย ซึ่งขาดมาตรฐานทั้งในเรื่องความรู้ ความเป็นมืออาชีพและการยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม ทำให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เจริญก้าวหน้ารวดเร็วและการแข่งขันกันอย่างรุนแรงของธุรกิจประกันภัยที่กำลังเกิดขึ้น

          จากปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนสถานะของกรมการประกันภัยให้เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารที่ตอบสนองต่อการแข่งขันและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทำให้รัฐได้มีการตรา “พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550” เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” กำหนดโครงสร้างการบริหารรูปแบบคณะกรรมการอันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาและมีความเป็นอิสระ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพยากร มีงบประมาณ มีการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมกับบทบาทและภารกิจมีกระบวนการที่โปร่งใส ทันสมัยและรวดเร็วในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ อันเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ...”  

          “...พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้อำนาจเกี่ยวกับการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดก็ได้ (มาตรา 17 และ 18) กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 19) สำนักงานมีอำนาจและหน้าที่ในการรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับส่งเสริมและพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยตามนโยบายและมติของคณะกรรมการ ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยเพื่อส่งเสริม พัฒนาและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัย ถือกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน  จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน ลงทุนหาผลประโยชน์ในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด เรียกเก็บและรับเงินสมทบ เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินงาน จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน (มาตรา 20) 

           สำหรับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ แม้รัฐจะได้ออกกฎหมาย กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย มีแนวทางในการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายที่ด้อยกว่าในด้านความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยและในการเจรจาต่อรองทำสัญญาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาผู้เอาประกันภัยมักจะประสบปัญหาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือเรียกร้องเงินตามสัญญาประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยมักประวิงเวลาไม่เข้ามารับผิดชอบต่อผู้เสียหายโดยเร็ว อีกทั้งประชาชนมีความรู้สึกว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยก็เพิกเฉยหรือปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชนที่ได้รับความเสียหายตามความเหมาะสมถูกต้องเท่าที่ควร การที่หน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลยไม่กำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ของตนอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมได้

ข้อเสนอแนะ

          เพื่อให้ระบบการประกันภัยของประเทศเป็นระบบที่โปร่งใส เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความเชื่อถือของประชาชนโดยทั่วไปว่าการทำประกันภัยจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใสเป็นธรรมในสังคม ป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรมีมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกันภัยต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

          1. คณะกรรมการกำกับและส่งเสิรมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับผู้เอาประกันภัยขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประธาน มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับผู้เอาประกันภัยโดยตรง ซึ่งจะแยกเป็นคณะอนุกรรมการอิสระที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับผู้เอาประกันภัยมาจากหลากหลายภาคีและต้องมีตัวแทนจากภาคีผู้บริโภคสำหรับผู้เอาประกันภัยจำนวนกึ่งหนึ่ง เพื่อจะแยกแนวคิดในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคกับแนวคิดในการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลความมั่นคงทางด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น

          2. จัดทำชุดประชาสัมพันธ์ โดยมีเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระดับรากหญ้าเข้าใจง่าย ซึ่งเนื้อหาในชุดประชาสัมพันธ์ควรประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย รูปแบบ โครงสร้างและมาตรฐานของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ตลอดจนประเด็นปัญหาที่ประชาชนมักพบบ่อย ได้แก่ ความหมายของคำที่เป็นศัพท์เฉพาะ (เช่น คำว่า “ระยะรอคอย”) การโฆษณาที่เน้นแต่ข้อดีแต่ไม่กล่าวถึงเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความคุ้มครอง รวมถึงการพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันภัยที่ใช้ตัวอักษรขนาดเล็กจนอ่านยาก ทั้งนี้ ให้ทำการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง

               โดย สำนักงาน คปภ. และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันและร่วมมือกันในการส่งเสริมความรู้ของตัวแทน และนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ในผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ตลอดจนกำกับให้ตัวแทนหรือนายหน้ารับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยทั้งก่อนและหลังการขายผลิตภัณฑ์ตลอดอายุกรมธรรม์

               นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ต้องนำรายได้ของสำนักงานจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมทั้งจัดกิจกรรมในลักษณะเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยและเสริมความรู้ความเข้าใจ ของประชาชน เช่น การจัดทำชุดประชาสัมพันธ์ การจัดทำระบบสารสนเทศต่าง ๆ และ การกันเงินไว้สำรองจ่ายในกรณีที่เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์ที่ คปภ. กำหนด

          3. ส่งเสริมบทบาทของศูนย์บริการด้านการประกันภัยที่เป็นการดำเนินการร่วมกันของบริษัทประกันภัยและสำนักงาน คปภ. ให้สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนให้ยุติลงด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกและมีช่องทางตรวจสอบติดตามเรื่องเพื่อให้ได้ทราบว่าเรื่องของตนอยู่ระหว่างขั้นตอนใด ทั้งนี้ การบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล

          4. จัดทำระบบสารสนเทศต่าง ๆ ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัย โดยมีฐานข้อมูลกลางที่ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงิน คุณสมบัติของผู้บริหารและมาตรฐานการบริการ เพื่อสามารถใช้คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

          5. การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียน สถิติจำนวนเรื่องที่ร้องเรียน ประเด็นเรื่องที่ร้องเรียนของบริษัทที่ถูกร้องเรียนที่มีการตัดสินแล้วทั้งโดยศาลหรือ โดย คปภ. ว่ามีความผิด
ผลการดำเนินการในเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจพิจารณาเลือกซื้อประกันกับบริษัทประกันภัยได้ด้วยตนเอง

               นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัยต้องปฏิบัติ เช่น ระดับของเงินลงทุน การบริหารจัดการ คุณสมบัติตัวบุคคลของฝ่ายบริหาร ระดับธรรมาภิบาล และการให้บริการผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อวางหลักเกณฑ์มาตรฐานในการทำตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ และอาจพัฒนาเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแต่ละบริษัทประกันภัย ทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการเลือกบริษัทประกันภัย
ได้สะดวกขึ้นด้วย

          6. วางหลักเกณฑ์และกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นในการดำเนินงานด้านการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือการจ่ายเงินของบริษัทประกันภัยตามความเหมาะสมในแต่ละประเภทของการประกันภัย
ตามมูลค่าความเสียหาย และประเด็นข้อโต้แย้งให้ชัดเจน ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ระบุไว้ห้ามมิให้มีการประวิงในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย เช่น กำหนดระยะเวลาในการซ่อมแซมทรัพย์สิน หากผู้รับประกันภัยไม่สามารถซ่อมแซมทรัพย์สินได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ถือว่ามีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น

          7. พิจารณาเพื่อให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยให้มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยต้องเป็นบุคคลที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างน้อย 2 คน

          8. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง หากประชาชนมาร้องเรียนที่ สคบ. เกี่ยวกับด้านประกันภัยให้ สคบ. ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ได้แก่ คปภ. และติดตามความคืบหน้าของเรื่องเพื่อช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับบริการจากรัฐในลักษณะศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ 

มติคณะรัฐมนตรี 

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ดังนี้

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกันภัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยที่ประชุมเห็นว่า ในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีกลไกการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยยังได้ดำเนินมาตรการและนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยและประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการที่นอกเหนือจากมาตรการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ การจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการโฆษณาเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านสื่อโฆษณา และการกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบด้วย

 

 

 

Related