Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารงานบุคคลภาครัฐ

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 352

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 27 ตุลาคม 2558

ความเป็นมา

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยมีข้อเสนอแนะ เรื่อง การสร้างความโปร่งใสในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาปรับปรุง คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ ต่อราชการ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง สามารถถ่วงดุลอำนาจในการสรรหาและคัดเลือก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ได้พิจารณาเรื่องการสร้างความโปร่งใส ในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แล้วลงมติให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับไปศึกษาการแต่งตั้งข้าราชการในภาพรวมให้ครอบคลุมถึงการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ นอกเหนือจากตำแหน่งระดับสูงด้วย และให้รับเรื่องนี้ไปศึกษาในรายละเอียดต่อไป โดยให้รับความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาด้วย ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น 

          ต่อมา สำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1006/384 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2557 แจ้งข้อเท็จจริงว่า ในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการแต่งตั้ง สับเปลี่ยน ย้ายข้าราชการแต่ละประเภท ตามที่ กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยที่ มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่าการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ในหรือต่างกระทรวงหรือกรม แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามที่กำหนด ในกฎ ก.พ. ซึ่งขณะนี้ ก.พ. ยังไม่ออกกฎ ก.พ. ตามความในมาตรา 63 ดังกล่าว จึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 132 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดแนวทางดำเนินการในการย้าย การโอน หรือการเลื่อน ข้าราชการพลเรือนสามัญในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ก.พ. โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาใช้ไปพลางก่อน 

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนด หลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการย้าย การโอน หรือเลื่อนข้าราชการพลเรือนมาโดยตลอด ก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนได้ เพราะปัจจุบันระบบการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงมีการร้องเรียนและกล่าวหาเรื่องความไม่โปร่งใสในหลายหน่วยงาน ดังปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนต่างๆ อยู่โดยตลอด การแต่งตั้งข้าราชการ ที่ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม นอกจากจะทำให้หน่วยงาน และผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งเกิดความมัวหมอง ขาดความเชื่อถือแล้ว ยังเป็นผลให้ข้าราชการขาดขวัญและกำลังใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการทุจริตในวงราชการอีกด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาและ พิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุการร้องเรียนและการกล่าวหาถึงเรื่องความไม่โปร่งใสและเป็นธรรมในการแต่งตั้ง ข้าราชการนั้น เนื่องมาจากระบบการสรรหาและการคัดเลือกข้าราชการขาดการถ่วงดุล การกำหนดกรอบ การใช้ดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจขาดประสิทธิภาพ และผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง 

          ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการ บริหารงานบุคคลของภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 14 (11) เพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูป การแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นธรรมและถูกต้องเหมาะสม อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของ ภาครัฐและเป็นการช่วยแก้ปัญหาการทุจริตในวงราชการ ดังนี้ 

ข้อเสนอแนะ

1. ให้มีการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลของภาครัฐ 4 ประการหลัก ได้แก่ 

     (1) ตั้งคณะกรรมการกลาง 
     (2) จัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ 
     (3) กำหนดแนวทางและขั้นตอนการประเมิน 
     (4) กำหนดแบบการประเมินข้าราชการ 

     โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ที่เป็นอิสระทำหน้าที่ ในกระบวนการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และปรับปรุงระบบการประเมินบุคคลในภาพรวม โดยในระหว่างที่มีการปรับปรุงระบบการประเมินบุคคลคู่ขนานกันไปนั้น ให้คณะกรรมการกลางกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเมื่อคณะกรรมการกลางได้ปรับปรุงระบบการประเมินบุคคล ในภาพรวมเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้อมูลการประเมินจากระบบฐานข้อมูลบุคคลไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา คัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และในทุกระดับต่อไป 

2. ในการจัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ การกำหนดแนวทางและขั้นตอน การประเมิน และการกำหนดแบบประเมินข้าราชการ ให้คณะกรรมการกลางร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว

3. คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ดำเนินภารกิจใน 3 ระดับ คือ 

     (1) ดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง (ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี หรือเทียบเท่า หรือระดับ 11 - 4) 

     (2) คณะกรรมการระดับกระทรวง/กรม ที่ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาระดับปลัดกระทรวง อธิบดีและรองอธิบดีลงมา ให้ทำงานร่วมกับผู้แทนของคณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) เพื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับ 4-5 

     (3) คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) เข้าร่วมดูแลในเรื่องการประเมิน ข้าราชการ ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับล่างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประเมินข้าราชการทุกระดับ โดยสำหรับ ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 5 ลงมา คณะกรรมการกลางจะร่วมดูแลแนวทางการรับราชการที่ส่วนราชการกำหนดไว้ เพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มีโอกาสโยกย้ายหมุนเวียนในหน่วยงานต่างๆ ในส่วนราชการของตน เพื่อให้มี พื้นฐานและประสบการณ์รอบด้าน เพื่อใช้ในการทำงานและเลือกแนวทางในการรับราชการเมื่อมีอาวุโสสูงขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

     1. คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) 

          1.1 องค์ประกอบคณะกรรมการกลาง (election Committee SC) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ฝ่าย คือ 
               (1) อดีตข้าราชการพลเรือน 
               (2) ภาคเอกชน 
               (3) ภาคประชาสังคม 
               (4) สายวิชาการ 
               โดยจำนวนกรรมการจาก (2) (3) และ (4) รวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ กรรมการกลางทั้งหมด 
               คณะกรรมการกลาง (Selection Committee: SC) มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจำนวน กระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง วาระเดียว 

          1.2 คุณสมบัติ 
                คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 
                (1) มีสัญชาติไทย 
                (2) อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์ 
                (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า 
                (4) มีประสบการณ์ด้านการบริหารองค์กรอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ 
                      (ก) เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป 
                      (ข) เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคณบดีหรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ 
                      (ค) เป็นหรือเคยเป็นประธานบริหาร (Chief Executive Officer: CEO) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
                (5) เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 
                (6) ไม่เป็นข้าราชการพลเรือนและพ้นจากราชการแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ยกเว้น ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 
                (7) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ พรรคการเมือง หรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่เกิน 4 ปี 
                (8) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวงราชการ 
                (9) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 
                (10) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 
                (11) ไม่เคยได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 
                (12) ไม่เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ การดำเนินงานของคณะกรรมการกลาง (Selection Committee: SC ) ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร 

          1.3 การได้มาซึ่งคณะกรรมการกลาง 
                คณะกรรมการกลาง (Selection Committee: SC) มีที่มาจากการสรรหา โดย คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกจากการรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และจาก บัญชีที่มีการจัดลำดับรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสรรหาจัดทำขึ้น 

                คณะกรรมการสรรหากรรมการกลาง 
                คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 25 คน ทำหน้าที่สรรหาและ คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกลาง (Selection Committee: SC) ประกอบด้วย
                (1) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ จำนวน 5 คน โดยให้ที่ประชุมปลัดกระทรวงหรือ หัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าปลัดกระทรวง เลือกผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการ ที่เทียบเท่าปลัดกระทรวงและได้พ้นจากราชการแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี 
                (2) ภาคธุรกิจจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย 
                (3) นักวิชาการจำนวน 4 คน ซึ่งดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล หรือเคยดำรงตำแหน่งด้านการบริหารไม่ต่ำกว่าคณบดี เสนอโดย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 
                (4) องค์กรวิชาชีพที่จดทะเบียน เลือกกันเอง จำนวน 4 คน 
                (5) องค์กรภาคประชาสังคมที่จดทะเบียนเลือกกันเอง จำนวน 3 คน 
                (6) องค์กรอิสระ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน 
                ให้บุคคลที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธาน กรรมการกลาง แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ 
                ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการกลาง และกรรมการกลาง 
                ให้คณะกรรมการสรรหาสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ประธานกรรมการกลางและกรรมการกลาง 

          1.4 การอบรม 
                ให้มีการอบรมผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ให้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท อำนาจหน้าที่และภารกิจของแต่ละกระทรวง เพื่อให้มีองค์ความรู้ทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ โดยให้มีการหมุนเวียนกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ไปเรียนรู้ระบบงานของแต่ละกระทรวง 

          1.5 อำนาจหน้าที่ 

                1.5.1 คัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง 
                        (1) เมื่อมีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงว่างลง ให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลาง พิจารณา คัดเลือกอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณา คัดเลือกผู้บริหารระดับสูงแทนตำแหน่งที่ว่างลง เป็นรายกรณี โดยในขั้นตอนการคัดเลือก ให้มีการเปิดเผย กระบวนการคัดเลือกต่อสาธารณะโดยจัดจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (Outsource) มาเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย (Moderator) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และป้องกันปัญหาความโน้มเอียง อันเกิดจาก อคติของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจบางท่าน โดยให้หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของตำแหน่ง เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา ในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้วย โดยกำหนดกรอบเวลากระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ได้ รายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงภายในระยะเวลา 45 วันนับแต่ตำแหน่งว่าง 

                         ทั้งนี้ ในกรณีทดแทนการเกษียณอายุราชการ ให้มีการดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้ได้ รายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งทดแทนตำแหน่งเกษียณเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 45 วัน และในกรณีโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียน (Rotate) ในระดับเดียวกัน ให้มีการดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้ได้ รายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งแทนภายใน 30 วัน และกรณีที่มีการโยกย้ายตามลำดับการบังคับบัญชา ให้ดำเนินการคัดเลือกภายหลังจากที่ดำเนินการในระดับที่สูงกว่าไปแล้วไม่เกิน 30 วัน 

                         (2) ให้คณะกรรมการกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อภายใน 15 วัน 

                         (3) เมื่อคณะกรรมการกลาง ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ระดับสูง ให้ประธานกรรมการกลาง นำรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปให้คณะรัฐมนตรี พิจารณารายชื่อและดำเนินการเพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยรอบแรกคณะกรรมการกลางเสนอจำนวน 3 ชื่อ ให้คณะรัฐมนตรีเลือกและให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคลทูลฯ หากคณะรัฐมนตรีไม่เลือกและ ไม่ดำเนินการภายในกรอบเวลาดังกล่าว คณะกรรมการกลางจะนำรายชื่อมาเลือกและเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาเพียง 1 ชื่อ และหากคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการภายใน 30 วันอีก ให้ประธานคณะกรรมการกลาง นำชื่อบุคคลที่เหมาะสมขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป 

                1.5.2 ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ดำเนินการปรับปรุง เครื่องมือจัดการสารสนเทศทรัพยากรบุคคลในภาพรวม โดยจัดทำระบบ Manpower Planning และ ระบบ Career Path รวมถึงระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการในทุกกระทรวง ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ ปรับปรุงบัญชีบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่สมควรได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการกลางทุกปี 

                1.5.3 ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) จัดให้มีหลักสูตร การอบรมเตรียมความพร้อมสำหรับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะประเมินความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์ และทักษะ ในการบริหารองค์กร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในกรณีการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้ามองค์กร

                1.5.4 ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการในการดำเนินงาน ของคณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) 

          1.6 เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง 
                ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) พิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 

                (1) การประเมินผลงานพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ 
                      - ผลงานที่โดดเด่นย้อนหลัง 5 ปี
                      - โครงการที่ริเริ่มใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อราชการหรือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม 
                      - ผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 5 ปี 
                (2) การประเมินศักยภาพพื้นฐาน 3 ด้าน ดังนี้ 
                      - ความรู้ (Knowledge) 
                      - ทักษะและความสามารถอื่น ๆ (Skills) 
                      - คุณลักษณะ (Attributes) 
                (3) ประเมินวิสัยทัศน์ในการบริหารงานในตำแหน่งที่คัดเลือก
                (4) กรณีข้ามองค์กร ต้องมีการประเมินความรู้ความสามารถสำหรับการเป็นผู้บริหาร ในหน่วยงานที่จะไปดำรงตำแหน่งด้วย

          1.7 การถ่วงดุล 
                (1) ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) มีบทบาทในการยับยั้ง ในกรณีที่ปรากฏว่าอาจเกิดปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมเป็นการล่วงหน้า 
                (2) ในกรณีที่เกิดปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) และผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจพิจารณาเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยให้ มีอำนาจตรวจสอบและสั่งระงับไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง

          1.8 การตรวจสอบคณะกรรมการคัดเลือกกลาง 
                ให้คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) รายงานผลการดำเนินงาน ให้วุฒิสภาทราบ และในกรณีที่คณะกรรมการกลางดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบธรรม ให้ถือเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย

     2. ระบบการประเมินบุคคล 

          ในการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและที่ลดหลั่นกันลงมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลบุคคล เกี่ยวกับผลงาน ความรู้ความสามารถ คุณลักษณะและวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ ยังไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบในระบบราชการ ทำให้การแต่งตั้งข้าราชการไม่อยู่บนฐานของผลงาน ความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน แต่การรวบรวมข้อมูลและการประเมินบุคคลจากข้อมูล ที่รวบรวมนั้น จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และได้ผลการประเมินบุคคลที่ใกล้เคียง ความเป็นจริง แต่เมื่อระบบการประเมินบุคคลเริ่มนำมาใช้ใน 3 ปีแรก ข้อมูลจากผลการประเมินบุคคลเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่ถูกต้องเพียงพอที่จะนำมาชี้ว่าผู้ใดมีความสามารถและดีกว่าผู้อื่น ดังนั้น ในห้วง 3 ปีแรก ที่ระบบประเมินบุคคลได้ถูกนำมาใช้จึงต้องมีมาตรการในระยะเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ การดำเนินการประเมินบุคคลตามระบบที่ได้กำหนดไว้ เพื่อนำผลการดำเนินการทั้งสองลักษณะมาบูรณาการ เพื่อประเมินบุคคลแต่หลังจากห้วงเวลา 3 ปี ไปแล้ว ซึ่งผลการประเมินบุคคลตามระบบฯ มีความเที่ยงตรงที่ยอมรับได้ สำหรับข้าราชการทุกระดับแล้ว ก็สามารถนำมาใช้กับข้าราชการได้ทั้งระบบโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ ในระยะเร่งด่วนควบคู่ไป อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มใช้ระบบประเมินบุคคลอาจจะยังมีความไม่พร้อมของบุคลากร ที่จะประเมินบุคคลได้ทุกระดับ แต่สิ่งที่เร่งด่วนคือการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่สามารถรอได้ จึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินการในสองประการควบคู่กันไป กล่าวคือ ให้มีการรวบรวมข้อมูลผู้บริหาร ในระดับสูงสำหรับใช้ในการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง คู่ขนานกันไปกับการปรับปรุง ระบบประเมินบุคคลและระบบฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลในภาพรวมในทุกระดับ ดังนี้ 

          2.1 ระยะเร่งด่วน 
                ให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรองปลัดกระทรวง อธิบดีและรองอธิบดี ย้อนหลัง 5 ปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้ 

                (1) ผลงานพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ 
                     - ผลงานที่โดดเด่น 
                     - โครงการที่ริเริ่มใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อราชการหรือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม 
                     - ผลการปฏิบัติงาน 
                (2) ศักยภาพพื้นฐาน 3 ด้าน ดังนี้ 
                     - ความรู้ (Knowledge) - ทักษะและความสามารถอื่น ๆ (Skills) 
                     - คุณลักษณะ (Attributes)
                (3) วิสัยทัศน์ในการบริหารงาน 

                โดยในระดับต่ำกว่ารองอธิบดีลงไปให้เริ่มใช้ระบบประเมินที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์ในปีที่ 4 นับจากวันที่มีการอนุมัติให้ใช้ระบบนี้ และนับจากปีที่ 4 ภายหลังจากวันที่มีการอนุมัติให้ใช้ระบบนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการในระยะเร่งด่วนอีกต่อไป 

     2.2 ระยะยาว 

           ให้มีระบบการประเมินบุคคลและระบบฐานข้อมูลบุคคลที่มีประสิทธิภาพสำหรับการประกอบการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) โดยให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการดังต่อไปนี้ เพื่อให้คณะกรรมการกลางนำข้อมูล การประเมินดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อไป 

          1. ปรับปรุงระบบการประเมินผลงานและการเก็บข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรบุคคล ให้มีรูปแบบเป็นฐานข้อมูลเดียวกันทั้งระบบ

          2. ปรับปรุงวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน 
              (1) ข้าราชการทุกคนจะต้องถูกประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยผู้บังคับบัญชาโดยตรง และ/หรือผู้ที่อาวุโสกว่าผู้ถูกประเมิน ที่ทำงานร่วมกับผู้ถูกประเมินอย่างใกล้ชิด (ไม่จำเป็นต้องเป็น ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดของหน่วยงานเสมอไป ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นภาระ (Load) ในการประเมินของผู้บังคับบัญชา ชั้นสูงสุดมากเกินไปซึ่งจะทำให้ผลการประเมินไม่ประณีต ถูกต้อง) รวมจำนวนทั้งสิ้น 3 คน โดยทำการประเมิน ข้าราชการทุก 6 เดือน
                    ให้ผู้ประเมินทั้ง 3 คน ทำการประเมินโดยอิสระ และไม่ทราบผลการประเมินของ ผู้ประเมินคนอื่น แล้วนำผลการประเมินของผู้ประเมินทั้ง 3 คน มาหาค่าเฉลี่ยภายหลังจากปรับมาตรฐานประจำตัวแล้วนำผลเฉลี่ยการประเมินล่าสุดไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการประเมินในอดีตเพื่อหาความผิดปกติ 
                    ผลการประเมินที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วจะต้องถูกนำมาปรับมาตรฐาน (Standardization) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลการประเมินของข้าราชการต่างหน่วยงานในส่วนราชการ เดียวกันได้ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการทางสถิติ โดยการหารือร่วมกันของหัวหน้าหน่วยงานขึ้นตรงทุกหน่วยงานของ ส่วนราชการเดียวกัน 
              (2) ปรับปรุงแบบประเมินผลการปฏิบัติงานให้มีทั้งปรนัยและอัตนัย เพื่อให้ผู้ประเมิน ลงรายละเอียดข้อมูลหรือสาเหตุที่พิจารณาประเมิน 
                   ผลการประเมินที่ผ่านกรรมวิธีแล้วจะถูกแจ้งให้ผู้ถูกประเมินทราบ ทั้งในลักษณะ คะแนนเต็มร้อยและสรุปย่อคุณลักษณะผู้ถูกประเมินในลักษณะอัตนัย เพื่อให้ผู้ถูกประเมินได้ทราบและปรับปรุงตนเอง รวมทั้งมีโอกาสชี้แจงกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมิน 
              (3) ปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยใช้ระบบสารสนเทศแทนการใช้แบบประเมินฯ กระดาษ ซึ่งจะสะดวกในการรวบรวมวิเคราะห์การประเมิน 
              (4) กำหนดตัวผู้ประเมิน โดยไม่แจ้งให้ผู้ประเมินทราบ เพื่อตัดปัญหาการวิ่งเต้น ซึ่งจะมีโอกาสทำให้ผลการประเมินไม่เป็นธรรมได้ 
                    ผู้ประเมินที่มีผลการประเมินแตกต่างจากผู้ประเมินผู้อื่นอย่างชัดเจนจะต้อง ถูกตรวจสอบความถูกต้อง หากพบว่าทำการประเมินโดยไม่เป็นธรรมหรือทุจริตจะต้องถูกลงโทษสถานหนัก 
                    ผู้ประเมินจะต้องถูกประเมินและวิเคราะห์เพื่อกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนของการประเมิน จากอุปนิสัยประจำตัวโดยศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ ซึ่งค่าความคลาดเคลื่อนนี้จะใช้เป็น ค่าปรับผลการประเมินของผู้ประเมินนั้นๆ ก่อนที่จะนำไปหาค่าเฉลี่ยระหว่างผู้ประเมินทั้ง 3 คน ค่าความคลาดเคลื่อนนี้ จะวิเคราะห์ได้จากผลการประเมินของผู้ประเมินนั้นหลาย ๆ ครั้งในอดีต 
              (5) ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยสามารถตรวจสอบรายละเอียด และผลการประเมิน ข้าราชการในหน่วยของตนเองได้ 
              (6) กรณีที่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยมิใช่ 1/3 ผู้ประเมินที่หน่วยงานกำหนด หากผู้บังคับบัญชาประสงค์จะประเมินข้าราชการผู้นั้นเพิ่มเติมจากการประเมินตามปกติของผู้ประเมินทั้ง 3 ก็สามารถดำเนินการได้ 
              (7) ส่วนราชการจะต้องกำหนดแนวทางการรับราชการ (Career Path) ของข้าราชการตำแหน่งที่สำคัญไว้เป็นหลักฐานและใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาย้ายบรรจุข้าราชการ 
              (8) ข้าราชการมีสิทธิเสนอขอย้ายบรรจุตนเองในตำแหน่งที่ต้องการ โดยต้องมีอาวุโส เพียงพอ มีคุณวุฒิถูกต้อง ด้วยการเสนอความต้องการผ่านเจ้าหน้าที่เสนอแนะการย้ายบรรจุข้าราชการ (Appointee) ให้พิจารณา หาก Appointee ไม่พิจารณาและไม่ชี้แจงเหตุผลที่ไม่พิจารณา ข้าราชการผู้นั้น สามารถเสนอความต้องการให้ผู้บังคับบัญชาของ Appointee ทราบ เพื่อพิจารณาได้ 

          3. ปรับปรุงบทบาทขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลซึ่งรับผิดชอบงานด้านการประเมินผล ให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรบุคคลในภาพรวมในทุกระดับ
              (1) กำหนดให้มีหน่วยงานระดับกองขึ้นไปรับผิดชอบระบบประเมินและระบบ ฐานข้อมูลบุคคล โดยใช้กลไกคณะกรรมการประเมินที่มีสัดส่วนจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้แทนจาก คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) เข้าร่วมในการประเมินข้าราชการในองค์กรด้วย เพื่อให้ เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมถึงกำหนดให้มีจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความผิดปกติของการประเมินและเสนอแนะการย้ายบรรจุข้าราชการ (Appointee) อย่างเพียงพอ แทนการให้เจ้าหน้าที่เพียง 1 - 2 คน หรือเป็นเพียงหน่วยงานในระดับแผนกดำเนินการ 
              (2) เจ้าหน้าที่เสนอแนะการย้ายบรรจุข้าราชการ (Appointee) รับผิดชอบดูแล การเสนอแนะย้ายบรรจุข้าราชการในความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการพิจารณาการย้ายบรรจุในการประชุม การย้ายบรรจุตามวาระ เช่น Appointee ดูแลข้าราชการฝ่ายวิชาการ Appointee ดูแลข้าราชการฝ่ายธุรการ ซึ่งอาจจะมี Appointeeมากกว่า 1 คน ในการดูแลข้าราชการแต่ละฝ่ายได้ 
              (3) เจ้าหน้าที่เสนอแนะการย้ายบรรจุข้าราชการ (Appointee) จะคัดเลือก ข้าราชการที่มีความประพฤติดีมากและอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 ปี ในการย้ายออกจากตำแหน่งนี้ของ Appointee นั้น Appointee สามารถร้องขอย้ายไปบรรจุในตำแหน่งที่ต้องการได้ หาก Appointee ผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี เรียบร้อย และตำแหน่งที่ร้องขอนั้น ข้าราชการที่ครองตำแหน่งครบกำหนดวาระการทำงาน รวมทั้งตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในแนวทางการรับราชการ (Career Path) ให้คณะกรรมการพิจารณาย้ายบรรจุ พิจารณาให้สิทธิ (Priority) ในการบรรจุตามความต้องการของ Appointee ก่อน 
              (4) หน่วยงานที่ประเมินข้าราชการจะต้องรายงานหัวหน้าส่วนราชการของตนเมื่อพบ ความผิดปกติในการประเมินข้าราชการตั้งแต่ระดับ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ของการประเมิน และให้รายงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการคณะใดคณะหนึ่งของวุฒิสภาที่มีหน้าที่ ด้านการปกครองทราบ ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการประเมินหลังการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว 

          4. ในการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับอธิบดีลดหลั่นลงมา ให้ผู้แทนจาก คณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการแต่งตั้ง ในแต่ละส่วนราชการ เพื่อกำกับดูแลให้มีการคัดเลือกโดยใช้ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ 

     อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้จะมุ่งประสงค์ใช้กับข้าราชการพลเรือน แต่ก็สามารถจะ นำบางส่วนของข้อเสนอแนะนี้ เช่น ระบบการประเมินบุคคล ไปปรับใช้กับข้าราชการอื่นที่มีระบบอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการทหาร และข้าราชการตำรวจ ได้เช่นกัน

มติคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารงานบุคคลของภาครัฐ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอแนะให้มีการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลของภาครัฐ 4 ประการหลัก ได้แก่ (1) การตั้งคณะกรรมการกลาง (2) การจัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ (3) การกำหนดแนวทางและขั้นตอนการประเมิน และ (4) การกำหนดแบบการประเมินข้าราชการ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมเป็นไปได้ของข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานโดยไม่ก่อให้เกิดการทุจริตในราชการตามมา และให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป


 

Related