จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 180
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 28 พฤษภาคม 2556
ความเป็นมา
มหาอุทกภัยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการและต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม “โครงการเสนอกรอบแนวคิด ( conceptual plan) เพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย” ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ อาจจะมีผลทำให้เกิดการทุจริตและความเสียหายแก่ทางราชการ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในอดีต ดังนั้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตและความเสียหายของทางราชการในการดำเนินโครงการดังกล่าว
ข้อเสนอแนะ
การดำเนินโครงการระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และตามข้อกำหนดและขอบเขต (TOR) การออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ที่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด มีปัญหาในลักษณะต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติราชการไม่เป็นไปตามกฎหมาย การสร้างความเสียหายแก่ทางราชการ และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. การพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง
(1) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการให้คะแนนและจัดลำดับคะแนนจากข้อเสนอด้านเทคนิค โดยควรมีหลักเกณฑ์ที่มีรายละเอียดมากกว่าที่ปรากฏในข้อกำหนดและขอบเขตของงาน (TOR)
(2) ถ้าพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว และด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปรากฏว่าเหลือผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์เพียง 1 ราย ใน Module คณะกรรมการควรเจรจาราคากับผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวนั้นอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะบริษัทคู่เจรจาจะมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง หากเจรจาราคาแล้วและเห็นว่าราคาสุดท้ายสูงเกินไป ก็อาจตัดสินใจยกเลิกการจัดจ้าง
(3) ให้ กบอ. ดำเนินการให้มีการเปิดเผยรายงานผลการพิจารณาทั้งการพิจารณาในขั้น Pre-qualification และหลักเกณฑ์ทางเทคนิคในการคัดเลือกให้สาธารณชนได้รับทราบหลักเกณฑ์และดุลพินิจของคณะกรรมการ
2. การทำสัญญาว่าจ้าง
(1) ไม่ควรรวมงานที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของลักษณะงานและในด้านพื้นที่ก่อสร้างไว้ในสัญญาเดียวกัน (ถึงแม้ว่าจะอยู่ใน module เดียวกันก็ตาม) แต่ควรแยกคำสัญญาเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ (เช่น ทำสัญญาแยกสำหรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำออกเป็น 4 สัญญา)
(2) การทำสัญญาควรแยกงานศึกษา/วิเคราะห์ ออกจากงานออกแบบและงานก่อสร้าง โดยกำหนดเวลาสำหรับงานต่าง ๆ แยกกันอย่างชัดเจน หากการศึกษา/วิเคราะห์ใช้เวลาเกินกำหนด (อาจเป็นเพราะมีปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ก็อาจยุติโครงการทั้งหมดได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากความล่าช้าของโครงการ
3. การกำกับโครงการและตรวจรับงาน
การดำเนินโครงการฯ ระวังที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และได้รวบรวมเอาโครงการหลากหลายลักษณะมารวมไว้ด้วยกัน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและการทุจริตได้ทุกขั้นตอนดังที่กล่าวแล้ว จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินการให้มีการกำกับโครงการและตรวจรับงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย คือ
(1) ให้มอบหมายหน่วยงานราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานในโครงการ เป็นผู้รับผิดชอบดูรายการกำกับโครงการและการตรวจรับงาน ทั้งนี้ ควรมีกลไกตรวจสอบ แบบ check and Balance เพื่อป้องกันการทุจริต
(2) ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ที่เป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีค่าจ้างที่เหมาะสม ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยทางราชการในการกำกับโครงการและตรวจรับงาน รวมทั้งตรวจสอบการทำงานในลักษณะเหมาช่วง เพื่อแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และช่วยให้การทำงานมีความโปร่งใสและประสิทธิภาพมากขึ้น
(3) ดำเนินการให้เครือข่ายภาคเอกชนต่อต้านคอร์รัปชันได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุใดที่ทำให้โครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และยังเห็นว่ามีความจำเป็นของการดำเนินโครงการที่ว่านี้ในรูปแบบการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย ได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม “คู่มือการพิจารณาโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2546 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่วนราชการต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางดำเนินโครงการที่ถูกต้องต่อไป (รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/17233 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546) ซึ่งมีขั้นตอนโดยสรุป คือ
(1) ทางการควรรับผิดชอบพัฒนาแผนแม่บท กำหนดแนวทางและเครื่องมือจัดการน้ำด้วยตนเองกำลัง ทางการควรสำรวจทางเลือกที่มีให้ครบถ้วน และเลือกโครงการที่สอดคล้องกันโดยมีการปรึกษาหารือกับประชาชน และกำกับดูแลการศึกษาความคุ้มค่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง
(2) จัดเตรียมรายละเอียดโครงการ (การให้หน่วยงานเจ้าของโครงการวิเคราะห์เหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการโดยวิธีจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ ความเหมาะสมทางด้านกายภาพ ความเชื่อมโยงกับโครงการอื่น ๆ ความเหมาะสมด้านเทคนิค การเปรียบเทียบข้อดี/ข้อเสียของทางเลือก แนวทางการบริหารความเสี่ยง (risk management) ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเงิน ผลที่จะได้รับจากการดำเนินการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน) การดำเนินโครงการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด การนำเสนอรายละเอียดของโครงการสำหรับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
(3) การดำเนินโครงการ คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการตาม (2) แล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำประกาศเชิญชวน เอกสารข้อเสนอ พร้อมทั้งดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างเพื่อดำเนินโครงการตามข้อ 54 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดทำสัญญา เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
(4) กำกับดูแลโครงการ คือ มีการลงนามในสัญญาแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการให้มีคณะกรรมการกำกับโครงการ เพื่อทำหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามสัญญา รายงานผล/ปัญหา/เสนอแนวทางแก้ไขเป็นรายไตรมาสให้คณะรัฐมนตรีทราบ
อนึ่ง หาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ แต่ยังคงเสี่ยงดำเนินการตามแนวทางที่มีการกำหนดไว้แล้วต่อไป จนเป็นเหตุทำให้การดำเนินโครงการฯ เกิดผลกระทบและความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศโดยส่วนรวม ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้บุคคลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวด้วย
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้
1. ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและความเสียหายของทางราชการในการดำเนินโครงการะบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยไปศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีต่อไป ทั้งนี้ ให้ยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับข้อเสนอแนะฯ เรื่องใดที่ยังไม่ชัดเจนหรืออาจมีปัญหาติดขัดในการดำเนินการก็ให้ประสานหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาแนวทางที่สามารถดำเนินการได้และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการต่อไป
2. ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย เป็นผู้ชี้แจงและประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง