จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 864
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 12 มีนาคม 2556
ความเป็นมา
ปัจจุบันการจ่ายเงินสินบน หรือเงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ประชาชนหรือบุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เป็นผู้แจ้งเบาะแสหรือแจ้งความเพื่อนำจับบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และการจ่ายเงินรางวัลหรือเงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสืบสวนหรือจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมาย ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ของทางราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ
ลักษณะของการจ่ายเงินรางวัลมีปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การจ่ายเงินรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546
เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลในขณะนั้น ต้องการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน และเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานที่ยากลำบาก เสี่ยงอันตราย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ออกข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจหักเงินค่าปรับ ซึ่งได้รับชำระจากผู้กระทำความผิดทางอาญาตามมาตรฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย จำนวน 132 ฉบับ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยจ่ายเป็นเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
2. การจ่ายเงินรางวัลตามกฎหมาย เฉพาะที่บัญญัติให้จ่ายเงินรางวัล
ปัจจุบันมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จำนวน 15 ฉบับ ที่บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมผู้กระทำความผิด และกฎหมายดังกล่าวมิได้อยู่ในบัญชีรายชื่อกฎหมายแนบท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดประเภท และอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง
การจ่ายเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการจ่ายเงินรางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้ทุจริตจากการรับสินบนหรืประโยชน์ตอบแทนอื่นที่มิชอบด้วยกฎหมายจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการจ่ายเงินรางวัลเพื่อตอบแทนภาระงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานที่มีความเสี่ยงอันตราย อย่างไรก็ตาม ระยะที่ผ่านมาการที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งมีสิทธิได้รับเงินรางวัล ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาหลายประการ คือ
2.1 การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) เช่น มุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีผลตอบแทนสูง ๆ หรือละเลยการปฏิบัติงานที่มีรางวัลหรือผลตอบแทนต่ำหรือไม่มีผลตอบแทน ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อรายได้จากภาษีอากของรัฐจำนวนมา
2.2 การสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของข้าราชการ ที่กลุ่มหนึ่งได้ผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ปกติสูงกว่าข้าราชการอื่น ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน
ปัญหาการทุจริตในกรมศุลกากรเป็นปัญหาสำคัญที่มีการกล่าวถึงมาโดยตลอด ซึ่งรูปแบบการทุจริตที่ปรากฏ คือ การสร้างกฎ ระเบียบ พิธีการศุลกากรที่ยุ่งยากซับซ้อน มีพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่หลากหลาย จึงทำให้เป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีพฤติการณ์เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก แลกกับการใช้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายศุลกากร (มาตรา 102 ตรี) บัญญัติให้มีการจ่ายเงินรางวัลเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วก็ตาม แต่การทุจริตก็ยังคงมีอยู่ ผลกระทบจากการทุจริตของหน่วยงานศุลกากรจะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในระดับมหภาคประเทศจะไม่สามารถแข่งขันการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกิจของประเทศสูงเกินความเป็นจริง ในส่วนระดับจุลภาคจะทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากไปกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ แทนที่จะนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น
กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่หลักอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1) จัดเก็บรายได้ในรูปของภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับรัฐ 2) การจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร (มาตรา 27, 99) 3) หน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ 4) เป็นกลสำคัญของประเทศในการเปิดเสรีทางการค้ากับต่างประเทศ จากภาระหน้าที่ดังกล่าว กรมศุลกากรจึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีการจ่ายเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่มิให้กระทำการทุจริตจากการรับสินบนหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นที่มิชอบด้วยกฎหมายจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นับแต่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 บัญญัติให้มีการจ่ายเงินสินบนรางวัลในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับศุลกากร ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ คือ
1) ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีระบบการให้เงินสินบนและเงินรางวัลจากส่วนแบ่งค่าปรับในอัตราที่สูงมาก โดยเฉพาะการจ่ายเงินสินบนรางวัลของกรมศุลกากรซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต เช่น การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน
2) การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำตามหน้าที่ เช่น มุ่งเน้นจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับศุลกากรเฉพาะในรายที่มีเงินรางวัลจากเงินค่าปรับสูง ๆ แต่ละเลยการจับกุมผู้กระทำผิดที่มีเงินรางวัลจากเงินค่าปรับต่ำ หรือไม่มีเงินรางวัล
3) การได้เงินรางวัลในอัตราที่สูงมากของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งได้ผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าข้าราชการอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
4) ปัญหาการทุจริตในลักษณะของการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ ยังคงมีอยู่
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำในลักษณะของพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำซึ่งเป็นต้นเหตุของการทุจริต การกระทำในลักษณะที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน การสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน และการปรับปรุงแก้ไขระบบงานของกรมศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่านพิธีการศุลกากรของผู้นำเข้าส่งออก เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากร
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 19 (11) โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระบบการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล และระบบงานของกรมศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้ สมควรกำหนดเป็นมาตรการระยะยาว และมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้
ข้อเสนอแนะ
1. มาตรการระยะยาว : ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.1 ให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 102 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ให้มีรูปแบบ วิธีการ การกำหนดอัตราและสัดส่วนการจ่ายเงินสินบนรางวัลของกรมศุลกากรให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้เหมาะสมสอดคล้อง โดยยึดหลักความเป็นธรรมและการตอบแทนตามผลงานไม่สูงจนเกินไป เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน และป้องกันปัญหาการทุจริต
ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดเงินสินบนและรางวัลที่จะจ่ายให้เหมาะสม โดยกำหนดเพดานสูงสุดของเงินสินบนและรางวัลไว้ด้วย โดยเน้นที่การปฏิบัติงานร่วมด้วยเป็นสำคัญ ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อควบคุมตรวจสอบการจ่ายเงินสินบนเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต สร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน และต้องมีการปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกฟ้องเป็นคดี หลังเกษียณอายุราชการ โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
1.2) ให้มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องระยะเวลาในการตรวจสอบการเสียภาษีหลังการตรวจปล่อยของของเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ในเรื่องกำหนดระยะเวลา (อายุความ) ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเติมจนครบ ในกรณีที่พบว่ามีเจตนาเหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งกำหนดให้มีอายุความ 10 ปี เห็นควรแก้ไขให้มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าหรือส่งออกของ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรรีบดำเนินการประเมินภาษีตามอำนาจหน้าที่ และเพื่อเป็นการป้องกันหรือลดปัญหาการทุจริตในกรณีที่มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
2. มาตรการระยะสั้น : ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขระบบงานของกรมศุลกากรเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัลและแก้ไขปัญหาการทุจริต
2.1) กรมศุลกากรต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนว่า การกระทำความผิดในลักษณะอย่างไรที่เป็นความผิดตามมาตรา 27 หรือเป็นความผิดตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อป้องกันปัญหาการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายหาประโยชน์จากเงินรางวัลจำนวนสูง ๆ ที่หักจากเงินค่าปรับหรือค่าขายของกลาง ทั้งนี้ เนื่องจากตามมาตรา 27 กำหนดค่าปรับไว้สี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ในขณะที่มาตรา 99 กำหนดค่าปรับไว้ไม่เกิน 500,000 บาท
2.2) เพื่อป้องกันมิให้มีการเรียกเก็บอัตราภาษีแตกต่างกันในสินค้าชนิดเดียวกัน ให้มีการสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลพิกัดอัตราภาษีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีให้มาอยู่ในจุดเดียวกัน เพื่อให้มีฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเกี่ยวกับรายการสินค้าในการนำเข้า – ส่งออก และการเสียภาษีที่รวดเร็ว และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยเฉพาะจะเป็นการช่วยป้องปรามหรือลดปัญหาในกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้นำเข้า – ส่งออก ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับโดยทุจริต
2.3) เพื่อให้การนำเข้า – ส่งออกสินค้าที่เป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกับ ที่ผ่านด่านศุลกากรเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายจึงเห็นควรให้มีการพัฒนาและจัดการเกี่ยวกับเรื่องของต้องห้าม ของต้องกำกับ โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ อนุญาตให้มีการนำเข้าหรือส่งออกของต้องกำกับ ดำเนินการเชื่อมโยงและส่งผ่านข้อมูลเกี่ยวกับของต้องห้าม ของกำกับเข้ามาในระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรเพียงที่เดียว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ที่รวดเร็วในการนำเข้าและส่งออกของต้องห้าม ของต้องกำกับ และลดขั้นตอนในการที่ผู้นำเข้าและส่งออกจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนที่จะมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า นอกจากนี้ ควรมีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อของต้องห้ามของต้องกำกับซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และจัดทำบัญชีใหม่ให้มีความทันสมัย ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของชนิดสอนค้าที่เป็นของต้องห้ามของต้องกำกับ การกระทำความผิดฐานลักลอบนำเข้าหรือส่งออกของต้องห้ามของต้องกำกับจะต้องลดลง เมื่อกระทำความผิดลดลงก็จะส่งผลให้การจ่ายเงินสินบนรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรลดลงด้วย
2.4) เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดเสรีทางการค้าและมีข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นมากขึ้น ซึ่งมีอัตราภาษี 0% สำหรับสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศนั้น ๆ ดังนั้น การตรวจสอบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า จึงเป็นประเด็นสำคัญหลักที่ต้องมีการควบคุมดูแล จึงเห็นควรให้มีการกำหนดวิธีการหรือรูปแบบหรือสร้างกระบวนการในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่แท้จริง ก่อนที่สินค้าจะผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อประเมินภาษีในการนำของเข้าหรือส่งออกจากประเทศไทย อันจะทำให้การเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าหรือส่งออกถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) เป็นการตรวจสอบก่อนการผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อลดปัญหาการกระทำความผิดฐานสำแดงเท็จ ซึ่งจะส่งผลให้การได้รับเงินสินบนและรางวัลจากการตรวจจับการกระทำความผิดฐานสำแดงเท็จลดลงตาม มาตรา 102 ตรี (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469
2.5) เพื่อลดปัญหาการเสียภาษีโดยความเข้าใจผิดและความไม่รู้ของผู้นำเข้า – ส่งอก เห็นควรให้มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในกรมศุลกากรเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องการเสียภาษีแก่ผู้นำเข้า – ส่งออก และคอยกำกับดูแลเรื่องของราคาสินค้า พิกัดอัตราศุลกากร และแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและกำกับดูแลในเรื่องราคาสินค้าและการเสียภาษี ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องปรามและลดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าทีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 มีมติ ดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย ความมั่นคง การพัฒนาสังคม และแรงงาน) ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ประธานกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย ความมั่นคง การพัฒนาสังคม และแรงงาน) เสนอ ดังนี้
1.1 มาตรการระยะยาว
1.1.1 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 โดยการปรับลดเงินสินบนและรางวัลตามมาตรา 102 ตรี ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ไปเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อไป ส่วนการลดอายุความการเรียกอากรที่ขาดตามมาตรา 10 จากอายุความ 10 ปี เหลือ 3 ปี ให้คงอายุความดังกล่าวไว้ 10 ปี ตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
1.1.2 การปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกฟ้องเป็นคดีหลังเกษียณอายุราชการ โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีจนกว่าจะถึงที่สุด ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการ
1.2 มาตรการระยะสั้น ให้กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ประเด็นการปรับลดเงินสินบนและรางวัลตามมาตรา 102 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พุทธศักราช 2479 นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 [เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....] เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งมีบทบัญญัติให้มีการทบทวนการปรับลดเงินรางวัลสินบนจากเงินค่าขายของกลางลง โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3. ประเด็นอายุความที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ลดอายุความจาก 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าหรือส่งของออก เป็น 3 ปี นั้น มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐแล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ความเห็นของหน่วยงาน :
ความเห็นของกระทรวงการคลัง